Monday, 28 April 2025
ค้นหา พบ 47725 ที่เกี่ยวข้อง

'อดีตรัฐมนตรีอลงกรณ์' วิเคราะห์โอกาสในวิกฤติของไทยภายใต้สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์เขียนบทวิเคราะห์โพสต์ในเฟสบุ้คเรื่องโอกาสและภัยคุกคามจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนโดยแบ่งเป็นยุคทรัมป์1.0และ2.0ด้วยมุมมองของผู้มีประสบการณ์เจรจากับสหรัฐและจีนรวมทั้งเข้าร่วมการประชุมAPECและอาเซียน+3+6โดยเคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติราชการรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและยังติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ-การเมืองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องจึงนำมาเสนอเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไปโดยมีเนื้อหาตอนที่ 1 ดังนี้

สงครามการค้าสหรัฐกับจีนยุคทรัมป์ 1.0-2.0 :โอกาสในวิกฤตของไทย (1)
โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์
13 เมษายน 2025

ก่อนจะวิเคราะห์ถึงปัญหาและโอกาสในวิกฤตของไทยในสงครามภาษีการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและประเทศต่างๆในปี 2025 ควรจะต้องทราบถึงสงครามครั้งแรกในยุคทรัมป์ 1.0 เมื่อ 7 ปีที่แล้วเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจก่อนที่จะวิเคราะห์โอกาสในวิกฤติที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายทรัมป์ 2.0

เปิดศึกเทรดวอร์(Trade War)

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ.และจีนที่เริ่มขึ้นในปี 2018 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 1.0 สร้างความตึงเครียดทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างสองมหาอำนาจ โดยมีเหตุการณ์และผลกระทบสำคัญดังนี้
1.การเริ่มต้นมาตรการภาษี (มีนาคม 2018) สหรัฐฯ ใช้ มาตรา 301ของกฎหมายการค้า เพื่อลงโทษจีนในประเด็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี  

ทั้งยังประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องจักร ในขณะที่จีนตอบโต้ด้วยภาษีสินค้าสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง เนื้อสุกร และรถยนต์

2. การขยายวงภาษี (2018-2019) ทั้งสองฝ่ายทยอยเพิ่มภาษีสินค้ากว่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีนถึง 25% ในปี 2019 ส่วนจีนตอบโต้ด้วยการลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ

3.เปิดศึกเทควอร์(Tech War) สหรัฐฯเปิดสงครามเทคโนโลยี(Tech War)กับจีน(2019-2020) สหรัฐฯ ประกาศแบน Huawei และ ZTE จากตลาดสหรัฐฯ รวมถึงจำกัดการเข้าถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้จีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ เช่น ชิป 5G

เจรจาหย่าศึกดีลแรก

ข้อตกลงระยะที่หนึ่ง (Phase One Deal มกราคม 2020) จีนตกลงซื้อสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 2 ปี สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีบางส่วน แต่ยังคงภาษีส่วนใหญ่ไว้

ผลกระทบของคลื่นสงคราม

1. ผลกระทบต่อสหรัฐฯ ผู้บริโภคและธุรกิจ ต้นทุนสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เกษตรกร สูญเสียตลาดส่งออกถั่วเหลืองและเนื้อสุกรหลักในจีน อุตสาหกรรมบางส่วน ได้รับการปกป้อง เช่น เหล็ก แต่บริษัทที่พึ่งห่วงโซ่อุปทานจีนเสียหาย  

2. ผลกระทบต่อจีน เศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกลดลง เร่งการพึ่งพาตลาดในประเทศ  
การย้ายฐานการผลิต บริษัทต่างชาติกระจายความเสี่ยงไปยังเวียดนาม อินเดีย เม็กซิโก  
เร่งพัฒนานวัตกรรม ลงทุนสูงในเทคโนโลยีหลัก (Semiconductor, AI) เพื่อลดพึ่งพาต่างชาติ  

3. ผลกระทบระดับโลก

องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์การค้าโลกลดลง 0.5% ในปี 2019 ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก หลายบริษัทปรับโครงสร้างการผลิตใหม่  

4. ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าสะท้อนการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและอำนาจระหว่างสหรัฐฯ-จีน  ได้ส่งผลต่อประเด็นอื่น เช่น ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สถานะของไต้หวัน  

ไทยกับผลกระทบ ประโยชน์ 2 ทาง

จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนครั้งแรก (2018–2020) ทำให้ไทยได้รับประโยชน์หลายด้านจากการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานโลกและการแสวงหาทางเลือกใหม่ของนักลงทุน 
1. การขยายตัวของการลงทุนตรงจากต่างชาติ (FDI) บริษัทที่ย้ายฐานการผลิตจากจีน  หลายบริษัทข้ามชาติเลือกไทยเป็นฐานผลิตแทนจีนเพื่อเลี่ยงภาษีสหรัฐฯ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น ฮาร์ดดิสก์ ชิปเซมิคอนดักเตอร์) และยานยนต์ ข้อมูลจาก BOIระบุว่าในปี 2019 การลงทุนต่างชาติในไทยเพิ่มขึ้น 68%จากปีก่อนโดยจีนและญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนหลัก  

ตัวอย่างเช่นบริษัทจีนเช่น BYD (รถยนต์ไฟฟ้า) และ Haier (เครื่องใช้ไฟฟ้า) ขยายการผลิตในไทย  
2. การเติบโตของการส่งออก 2 เด้ง สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าไทยแทนจีน
สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ (ครองส่วนแบ่งตลาดโลก 40%) ยางพารา ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป จีนเพิ่มนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยหลังจีนลดซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ไทยส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา น้ำตาลและผลไม้ เช่น ทุเรียนเพิ่มขึ้น  

การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เติบโต 4.5%ในปี 2019 ส่วนการส่งออกไปจีนเพิ่ม7%

3. การเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานใหม่ฐานผลิตในภูมิภาคอาเซียน 
ไทยถูกมองเป็น "China +1" ของนักลงต่างประเทศ ช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการผลิตในประเทศเดียว การลงทุนใน EEC (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก)เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูง และนิคมอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น EECdดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีและโลจิสติกส์  

4. ประโยชน์ต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเป้าหมาย
1.เกษตรกรรม
จีนเพิ่มการซื้อยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำตาลจากไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ  
2.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
การลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปอาเซียนและตลาดอื่น  

5. การเสริมบทบาททางการค้าในภูมิภาค
1.ความเป็นกลางทางการเมือง
ไทยได้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรทั้งสหรัฐฯ และจีน ส่งเสริมการเป็น "ฮับการค้า" ในอาเซียน  
2.ข้อตกลงการค้า
ไทยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่อส่งออกสินค้าไปจีนโดยได้ภาษีพิเศษ  

6. ผลกระทบทางอ้อม
1.ค่าเงินบาทที่อ่อนตัว
ช่วงสงครามการค้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าสัมพัทธ์กับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งเสริมการส่งออก  
2.การจ้างงาน
อุตสาหกรรมที่ขยายตัวช่วยดูดซับแรงงาน โดยเฉพาะในเขต EEC  

สรุป
สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ไม่เพียงส่งผลทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่ยังเปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์การค้าโลก กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ปรับกลยุทธ์การค้าและลดการพึ่งพาซัพพลายเชนจากแหล่งเดียว ขณะเดียวกัน ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและอิทธิพลระหว่างสองมหาอำนาจที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนยังส่งผลให้ไทยได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต การขยายการส่งออก และการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แม้จะเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ไทยสามารถใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเสริมตำแหน่งทางการค้าในภูมิภาคได้อย่างมีนัยสำคัญ.

:เกี่ยวกับผู้เขียน
นายอลงกรณ์ พลบุตร
ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์
ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์
ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมต
อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติราชการรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
อดีต ส.ส.6สมัย

ผอ.ศรชล.ภาค 1 ตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำร่วม เทศกาลสงกรานต์ 

พลเรือโท อาภา ชพานนท์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 (ผอ.ศรชล.ภาค 1) พร้อมคณะฯ ตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำร่วมเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2568 ณ ท่าเทียบเรือเทศบาลเพ ต.บ้านเพ อ.เมือง จว.ระยอง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อ 12 เม.ย.68

ในการนี้ ศรชล./ศคท.จว.รย. โดย น.อ.ธรรมนูญ จันทร์หอม  รอง ผอ.ศรชล.จว.รย. น.ท.ภณ ทิพย์ทอง จนท.ประสานงานความมั่นคง ศคท.จว.รย. นายชวภัทร ทัดมาลี หัวหน้าตรวจการขนส่งทางน้ำ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง และ จนท. ศรชล./ศคท.จว.รย. จนท.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง ให้การต้อนรับ ในการเดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำเทศกาลสงกรานต์ และตรวจความพร้อมของท่าเรือโดยสารเส้นทาง บ้านเพ - เกาะเสม็ด ณ ท่าเทียบเรือเทศบาลเพ พร้อมทั้ง ตรวจเยี่ยมเรือ ต.235 ที่ไปปฏิบัติราชการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำพื้นที่ จว.ระยอง - เกาะเสม็ด

“ศรชล.เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน”

เหตุด่วน เหตุร้าย ภัยทางทะเล แจ้งสายด่วน 1465 หรือ 02 888 1465 ตลอด 24 ชั่วโมง

"ท่องเที่ยว ปลอดภัย มั่นใจ ศรชล"

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตรวจเยี่ยมการดูแลประชาชนวันสงกรานต์ ถ.ข้าวสาร และ สนามหลวง กำชับดูแลความปลอดภัยเต็มที่

เมื่อวันที่ (13 เม.ย.68) เวลา 17.30 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย , พล.ต ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , พล.ต.ท.ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล/โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) , พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1/รองโฆษก ตร. , พล.ต.ต.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้บังคับการกองสารนิเทศ/รองโฆษก ตร. , พล.ต.ต.นรเศรษฐ์ สุวรรณนิกขะ ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 และผู้เกี่ยวข้อง เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดูแลความปลอดภัยเทศกาลสงกรานต์ ถ.ข้าวสาร ที่ สน.ชนะสงคราม โดยร่วมประชุมและฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ ณ ศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร เทศกาลสงกรานต์ 2568 สน.ชนะสงคราม 

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้มาดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งขอชื่นชมผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกนาย ที่มีจิตบริการ มีทัศนคติที่ดี ในการดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนนี้เป็นผลสะท้อน ให้พี่น้องประชาชนและชาวต่างชาติเชื่อมั่นในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

นอกจากนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในวาระดิถีปีใหม่ไทย วันสงกรานต์ 13 เมษายน 2568 นี้ ทราบว่าตำรวจทุกนายต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเหน็ดเหนื่อย เสียสละเวลาเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน ขอสวัสดีปีใหม่ และขอให้ทุกท่านพร้อมด้วยครอบครัว มีความสุข โชคดี สุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง และพบแต่สิ่งอันเป็นมงคลแห่งชีวิต 

จากนั้นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตรวจจุดคัดกรองทางเข้า ถ.ข้าวสาร และเดินตรวจบรรยากาศ การเล่นน้ำสงกรานต์ตลอด ถ.ข้าวสาร และบริเวณจัดงานสงกรานต์ที่ท้องสนามหลวง  ซึ่งทั้ง 2 แห่ง มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวงานจำนวนมาก

ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่ง เตือนเข้ม เมาแล้วขับตรวจพบถูกจับซ้ำ ต้องรับโทษสูงขึ้น

เมื่อวันที่ (14 เม.ย.68) พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการศึกษา ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายเสริมสร้างภาพลักษณ์ตำรวจจราจร ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 สะสม 3 วัน (11-13 เมษายน 2568) มียอดจับกุม เมาแล้วขับสูงถึง 11,801 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ถูกตรวจพบว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำ ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งที่ผ่านมา มากถึง 63 ราย 

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม “มาตรา 160 ตรี/1 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 160 ตรี (เมาแล้วขับ) และได้กระทำความผิดซ้ำอีกภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่“ ซึ่งผู้ที่กระทำผิดซ้ำนี้ จะถูกส่งตัวเพื่อไปฟ้องยังศาลจังหวัด และต้องถูกฝากขังตามอัตราโทษของศาลจังหวัด นอกจากนั้นกฎหมายยังกำหนดให้ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกและปรับโดยเสมอ โดยความผิดเมาแล้วขับในครั้งแรก อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรทุกนายเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติหน้าที่ในห้วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีประชาชนเดินทางไปร่วมงานในสถานที่ต่างๆ รวมถึงมีการดื่มสังสรรค์ เพื่อควบคุมและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์แล้วไปขับขี่ยานพาหนะ 

ทั้งนี้ ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแจ้งประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอให้รักษากฎหมายจราจร เพราะหากเกิดอุบัติเหตุจะสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนขับขี่ด้วยควยความระมัดระวัง มีน้ำใจต่อกัน เมาไม่ขับ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ตัวท่านและผู้ที่ร่วมใช้ทางได้ฉลองเทศกาลสงกรานต์ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยถูกจับกุมในความผิดฐานเมาแล้วขับในห้วงระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา หากมีความจำเป็นที่จะต้องไปดื่มสังสรรค์นั้น ขอให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ ขอให้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงต้องถูกดำเนินคดีที่ต้องถูกส่งฟ้องในอัตราโทษที่สูงขึ้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ผบ.ตร.ส่งกำลังใจให้ตำรวจดูแลประชาชนช่วงสงกรานต์ พอใจภาพรวมเป็นไปด้วยดี อุบัติเหตุลดลง วันนี้คาดเดินทางกลับสูงสุด กำชับเตรียมช่องทางพิเศษรองรับ โครงการฝากบ้านกว่า 7,500 ราย ยังไร้เหตุ 

เมื่อวานนี้ (16 เม.ย.68) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงการดูแลความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกการเดินทางของพี่น้องประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า วันนี้ถือเป็นวันเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครของพี่น้องประชาชน รวมถึงยังมีบางพื้นที่จัดงานสงกรานต์ ซึ่งภาพรวมของมาตรการดูแลความปลอดภัยเทศกาลสงกรานต์ การอำนวยความสะดวกจราจร การป้องกันลดอุบัติเหตุ โครงการ "ร่วมใจยกระดับความปลอดภัยบ้านประชาชนช่วงเทศกาลสำคัญ (ฝากบ้าน 4.0)” ในช่วงวันที่ 11-15 เมษายน 2568 ถือว่าเป็นไปด้วยดี 

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พอใจการทำงานของตำรวจในการดูแลพี่น้องประชาชนในทุกมิติ เช่น การป้องกันและลดอุบัติเหตุ มีการตั้งจุดตรวจ 2,514 แห่งทั่วประเทศ จับกุมกว่า 361,342 ราย โดยเฉพาะข้อหาเมาแล้วขับ และขับรถเร็ว ทำให้ภาพรวมสถิติอุบัติเหตุลดลง สะสม 5 วัน เกิด 1,216 ครั้ง ลดลง 22.89% เสียชีวิต 171 ราย ลดลงกว่า 24.67%

สำหรับการอำนวยความสะดวกการจราจรพี่น้องประชาชน ผบ.ตร.กำชับตำรวจทางหลวงร่วมกับแขวงการทาง และตำรวจท้องที่ จัดการจราจร เปิดช่องทางพิเศษ เร่งระบายตามแยกสัญญาไฟ ซึ่งเมื่อวานนี้ (15 เมษายน 2568) สามารถส่งพี่น้องกลับเข้ากรุงเทพมหานคร 521,913 คัน การจราจรมีความคล่องตัวดี คาดว่าวันนี้จะมีการเดินทางมากที่สุด โดยตำรวจได้มีการเตรียมการวางแผนไว้แล้ว

โครงการฝากบ้าน 4.0 มีพี่น้องประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการ 7,514 หลัง ส่งคืนไปแล้ว 100 หลัง ยังไม่พบการรายงานเหตุ ทุกหลังมีความปลอดภัยดี

การดูแลความปลอดภัยการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ที่ผ่านมาพบว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเฉพาะจุดที่มีประชาชนเข้าร่วมกว่า 5 หมื่นราย เช่น ถนนข้าวสาร สนามหลวง และสีลม สร้างความประทับใจให้ประชาชน นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ โฆษก ตร. กล่าวว่า ผบ.ตร.ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักในการดูแลประชาชน และขอชื่นชมในห้วงที่ผ่านมา ทุกท่านได้ทำหน้าที่ได้อย่างดี แต่ภารกิจยังไม่จบสิ้น วันนี้ยังมีการเดินทางกลับ มีการจัดงานสงกรานต์ ที่ตำรวจยังคงต้องทำหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะงานจราจรที่คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับมากที่สุด  
 
ผบ.ตร.ได้ฝากความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชน ในการเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร ขอให้เอื้ออาทรในการใช้รถใช้ถนนต่อกัน ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ขับรถเร็ว ไม่เมาแล้วขับ ง่วงจอดแวะพัก ขอให้เดินทางถึงที่หมายด้วยความปลอดภัย 

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลจราจรสามารถติดต่อตำรวจทางหลวงที่หมายเลข 1193 หรือติดตามที่เพจ “ตำรวจทางหลวง” ที่จะมีการไลฟ์สดจุดที่มีการจราจรติดขัด หรือหากต้องการแจ้งเหตุด่วน ขอความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่สายด่วน 191 หรือ 1599 ตลอด 24 ชั่วโมง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top