Saturday, 5 July 2025
ค้นหา พบ 49200 ที่เกี่ยวข้อง

สมุทรปราการ- 'พระครูแจ้' ทำบุญปีใหม่!! มอบเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ รพ.บางพลี กว่า 500,000 บาท

ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง มอบของขวัญต้อนรับปีใหม่ มอบเงินกว่า 500,000 บาท ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลบาพลี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และคณะเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลทุกคนในโอกาสต้อนรับปีใหม่ 2568

วันที่ (2 ม.ค.68) ที่ผ่านมา เวลา 15.00 น. ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง พร้อมด้วย ข้าราชการตำรวจ สภ.บางพลี พร้อมทั้งสื่อมวลชน ลงพื้นที่ภายในชุมชนคลองบางพลีเยี่ยมคุณยายแดง คุณยายอายุ 100 ปี พร้อมทั้งมอบกระเช้าและเงินจำนวน 5,000 บาท ให้กับคุณยายแดงและผู้ป่วยติดเตียงที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ อีกรายละ 3,000 บาท 

นอกจากนี้ ท่านพระครูแจ้ ยังได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลบางพลี ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี สมุทรปราการ เยี่ยมผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล พร้อมทั้งถือโอกาสต้อนรับปีใหม่ 2568 มอบแบรนด์รังนกและเงินสดอีกคนละ 200 บาท แก่ผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้สร้างความปราบปรื้มให้แก่ผู้ป่วยและคณะแพทย์พยาบาลเป็นอย่างมาก

อีกทั้ง ท่านพระครูแจ้ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ได้เมตตามอบเงินเป็นของขวัญปีใหม่แก่บุคคลากรทางการแพท์และคณะเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลโรงพยาบาลบางพลีทุกคน กว่า 700 คน อีกคนละ 300 บาท เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบางพลีในช่วงเทศกาลปีใหม่ 

โดยมี นายแพทย์ประพัฒน์ ธรรมศร ผอ.โรงพยาบาลบางพลี และทีมแพทย์พยาบาลตลอดจนคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ

‘รองนายกฯประเสริฐ’ เตรียมใช้เวที ‘ADGMIN’ ผลักดัน ‘อาเซียน’ จับมือปราม ‘ภัยออนไลน์’ ย้ำความพร้อม ‘ไทย’ เจ้าภาพประชุมใหญ่ ‘รัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล’ ครั้งที่ 5 ระหว่าง 13-17 ม.ค.นี้ 

(3 ม.ค.68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 13-17 มกราคม 2568 ประเทศไทย โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 5 (The 5th ASEAN Digital Ministers’ Meeting: The 5th ADGMIN) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ และโรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGMIN) กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะจัดต่อเนื่องกับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGSOM) เพื่อเป็นเวทีสำหรับรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านดิจิทัลของอาเซียน ได้ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นที่สำคัญ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านดิจิทัลในอาเซียน และส่งเสริมความร่วมมือกับคู่เจรจาอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา อินเดีย และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) รวมถึงการรับรองและรับทราบเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานในกรอบอาเซียนด้านดิจิทัลในปีถัดไป

ทั้งนี้ การประชุม ADGMIN ในครั้งนี้ มีหัวข้อหลักคือ ‘Secure, Innovative, Inclusive: Shaping ASEAN's Digital Future’ หมายถึง การมุ่งเน้นการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่มั่นคงปลอดภัย ตอบสนองและรับมือต่อภัยคุกคามและอาชญากรรมไซเบอร์ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุบัติใหม่ และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทั่วถึงและเท่าเทียม ผ่านแกนหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ความมั่นคง นวัตกรรม และความครอบคลุม ที่จะเป็นเสาหลักที่จะพัฒนาอนาคตด้านดิจิทัลและนำอาเซียนไปสู่ความก้าวหน้าและเจริญรุ่งเรือง ซึ่งจะมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เลขาธิการอาเซียน คู่เจรจาของอาเซียน ผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศติมอร์ - เลสเต เข้าร่วมการประชุมฯ

โดยการประชุมครั้งนี้มีวาระการพิจารณาประเด็นสำคัญ ได้แก่ การหารือระดับรัฐมนตรีด้านดิจิทัล เพื่อแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าและการพัฒนาด้านดิจิทัล โดยเฉพาะพัฒนาการที่สอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุม , การรายงานผลสำเร็จของโครงการปี 2567 ภายใต้การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (ADGSOM) และหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาม (ATRC) , การติดตามผลการดำเนินการตามแผนแม่บท ASEAN Digital Masterplan (ADM) 2025 , การอนุมัติงบประมาณจากกองทุน ASEAN ICT Fund สำหรับดำเนินการในปี 2568 , การรับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญของการประชุมฯ อาทิ ร่างปฏิญญาดิจิทัลกรุงเทพ (Bangkok Digital Declaration) ร่างแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (Joint Media Statement) ร่างเอกสารสำคัญที่เป็นแนวทางการดำเนินงานด้านต่างๆ ของอาเซียน อาทิ ความร่วมมือในการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ แผนปฏิบัติการสำหรับความเป็นส่วนตัวข้ามพรมแดนระดับสากล การพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล แนวปฏิบัติธรรมาภิบาลและจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) เป็นต้น 

“ประเทศไทยพร้อมแล้ว สำหรับการจัดประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 โดยรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสนี้กระทรวงดีอี จะเสนอและผลักดันประเด็นสำคัญ คือ การดำเนินการของคณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ (WG – AS) ซึ่งไทยทำหน้าที่ประธาน พร้อมผลักดันรายงานและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาแนวทางเพื่อประสานงานและรับมือกับภัยออนไลน์ระหว่างอาเซียน โดยจะมีการรับรองเอกสารข้อแนะนำของอาเซียนในการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ (ASEAN Recommendations on Anti – Online Scam) เพื่อจัดการกับปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ผ่านช่องทางดิจิทัลและโทรคมนาคม ซึ่งจะถูกบรรจุอยู่ในร่างปฏิญญาดิจิทัลกรุงเทพ (Bangkok Digital Declaration) โดยจะมีการรับรองในระหว่างการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 นี้” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว

รู้จัก ‘Legats’ สำนักงานภาคสนามของ FBI นอกสหรัฐฯ หน่วยงานด้านกฎหมายที่ทรงอำนาจกระจายอยู่ทั่วโลก

เราท่านต่างพอรู้และเข้าใจว่า FBI (Federal Bureau of Investigation) หรือ สำนักงานสอบสวนกลาง เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายภายใต้กระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมีภารกิจคือ การต่อต้านการก่อการร้าย การต่อต้านข่าวกรอง และอาชญากรรมร้ายแรงในประเทศ มีขอบเขตอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า 200 หมวดหมู่ รายงานต่อทั้งอัยการสูงสุดสหรัฐฯ (United States Attorney General) ซึ่งก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ (Director of National Intelligence : DNI) หากจะเปรียบเทียบกับบ้านเราให้เข้าใจอย่างง่ายคือ งานของ FBI จะคล้ายกับงานที่ของ 3 หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยรวมกันได้แก่ กองบัญชาการสอบสวนกลาง และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงยุติธรรม 

แม้ว่าบทบาทหน้าที่หลายอย่างของ FBI จะมีลักษณะเฉพาะ แต่ภารกิจด้านความมั่นคงของชาตินั้นเทียบได้กับ MI5 และ NCA ของอังกฤษ GCSB ของนิวซีแลนด์ และ FSB ของรัสเซีย ซึ่งแตกต่างจากหน่วยข่าวกรองกลาง (CIA) ซึ่งไม่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและมุ่งเน้นการรวบรวมข่าวกรองในต่างประเทศ ด้วย FBI เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติการในประเทศเป็นหลัก โดยมีสำนักงานภาคสนาม 56 แห่งในเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานขนาดเล็กประจำอีกมากกว่า 400 แห่งในเมืองเล็ก ๆ และพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยสำนักงานภาคสนามของ FBI เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ FBI ของสำนักงานภาคสนามจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ (DNI) ในเวลาเดียวกัน

แม้ว่า ขอบเขตอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของ FBI จะจำกัดอยู่เฉพาะในดินแดนสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ เองก็เป็นหนึ่งประเทศในโลกที่มีอาชญากรรมร้ายแรงมากที่สุด มีเครือข่ายของบรรดากลุ่มผิดกฎหมายทั้งในและนอกประเทศ FBI จึงต้องมีสำนักงานภาคสนามในการดำเนินงานระดับนานาชาติที่สำคัญ โดยเป็นสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายกฎหมาย (Legal Attaché Office : Legats) อยู่ 63 แห่งและสำนักงานย่อยอีก 27 แห่งประจำอยู่ในสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐฯ ทั่วโลก และมีเจ้าหน้าที่พิเศษและเจ้าหน้าที่สนับสนุนประมาณ 250 นายประจำการอยู่สำนักงานต่างประเทศเหล่านั้น Legats ตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์หลักในการประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยด้านความมั่นคงของประเทศที่ประจำ และโดยปกติจะไม่ดำเนินการฝ่ายเดียวในประเทศนั้น ๆ แต่บางครั้ง FBI ก็ปฏิบัติการในภารกิจลับในต่างประเทศ Legats (Legal Attaché ) คือเจ้าหน้าที่พิเศษของ FBI ที่ได้รับมอบหมายให้ประจำสถานทูตหรือสถานกงสุลสหรัฐฯ ในต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก ระหว่าง FBI กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หน่วยข่าวกรอง และหน่วยงานความมั่นคงของต่างประเทศหน้าที่ของพวกเขาคืออำนวยความสะดวกในการร่วมมือระหว่างประเทศในการสืบสวนคดีอาญา การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมทางไซเบอร์ และภัยคุกคามข้ามชาติอื่น ๆ เช่นเดียวกับ CIA ที่ภารกิจในประเทศก็ถูกจำกัด ซึ่งภารกิจเหล่านี้โดยทั่วไปต้องอาศัยการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐของประเทศนั้น ๆ ด้วย

สำนักงาน Legats เกิดขึ้นในปี 1940 ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในชื่อว่า ‘หน่วยข่าวกรองพิเศษ’ ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1941 ในเวลานั้น ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในความพยายามเพื่อรวบรวมข่าวกรองตามภัยคุกคามที่เกิดจากฝ่ายอักษะ ดังนั้น FBI จึงตอบสนองต่อคำสั่งนั้น และเริ่มส่งเจ้าหน้าที่พิเศษไปประจำการทั่วละตินอเมริกาและอเมริกากลาง และพัฒนาหรือก่อตั้งหน่วยข่าวกรองพิเศษ หน้าที่แรกของหน่วยนี้คือ ในปี 1941 ที่กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายกฎหมายของ FBI ในเวลานั้น FBI แบ่งปันข้อมูลกับประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือเกี่ยวกับภัยคุกคามจากนาซี เยอรมัน ซึ่งสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญอยู่ ดังนั้นปฏิบัติการระหว่างประเทศของ FBI ในปัจจุบันจึงแตกต่างไปจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก แต่ภารกิจนี้ยังคงดำเนินต่อไปจนทุกวันนี้

ดังที่ Robert Swan Mueller III อดีตผู้อำนวยการ FBI ได้กล่าวไว้ว่า “การก่ออาชญากรรมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย การค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ สินค้าผิดกฎหมาย และผู้คน หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก และนั่นหมายถึงการที่เจ้าหน้าที่ของเราจะต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศโดยตรงในคดีที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่เพียงแต่เพื่อแก้ไขอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพื่อป้องกันอาชญากรรมและการก่อการร้ายด้วยการแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์” ในอดีต การบังคับใช้กฎหมายเน้นไปที่อาชญากรรมที่ได้รับผลกระทบหรือเกิดขึ้นภายในดินแดนของแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ แนวคิดดังกล่าวไม่สามารถใช้ต่อไปได้อีกแล้ว เนื่องจากโลกาภิวัฒน์ที่ผนวกรวมกับความก้าวหน้าอย่างเหลือเชื่อในด้านเทคโนโลยี การเดินทาง การค้า และที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารได้ทำลายกำแพงเหล่านั้นและพรมแดนลง ส่งผลให้ภัยคุกคามกลายเป็นเรื่องทั่วโลกมากขึ้น และความจำเป็นในการร่วมมือกัน การแบ่งปันข้อมูล และการมีส่วนร่วมที่ดีขึ้นนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานและประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามระดับโลกเหล่านี้ได้ดีขึ้น เหล่านี้จึงทำให้เกิดสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายกฎหมาย (Legal Attaché Office : Legats) 63 แห่ง และสำนักงานย่อย 27 แห่งในสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐทั่วโลก

ภารกิจของสำนักงาน Legats ประกอบด้วย :

- การประสานงานการสืบสวน: ช่วยเหลือในการปฏิบัติการร่วม แบ่งปันข่าวกรอง และประสานงานกับพันธมิตรต่างประเทศในคดีที่ FBI รับผิดชอบแต่มีขอบเขตเกินกว่าขอบเขตของสหรัฐฯ

- การส่งผู้ร้ายข้ามแดนและกระบวนการทางกฎหมาย: อำนวยความสะดวกในการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน การรวบรวมหลักฐานจากเขตอำนาจศาลต่างประเทศ และการทำให้แน่ใจว่าผลประโยชน์ทางกฎหมายของสหรัฐฯ ได้รับการเป็นตัวแทนในต่างประเทศ

- การแบ่งปันข้อมูล: การแลกเปลี่ยนข่าวกรองและข้อมูลอาชญากรรมเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย อาชญากรรมที่เป็นองค์กร การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางไซเบอร์

- การตอบสนองต่อเหตุวิกฤต: การช่วยเหลือพลเมืองสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายหรืออาชญากรรมร้ายแรงในต่างประเทศ และมีส่วนสนับสนุนการจัดการวิกฤตระหว่างประเทศ

- การประสานงานคำร้องขอความช่วยเหลือระหว่าง FBI กับประเทศที่สำนักงาน Legats รับผิดชอบ

- ดำเนินการสอบสวนร่วมกับรัฐบาลประเทศที่สำนักงาน Legats รับผิดชอบ

- การแบ่งปันข้อมูลและแนวทางการสืบสวน

- ประสานงานหลักสูตรการฝึกอบรม FBI ให้กับตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบ ตั้งแต่การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมทางไซเบอร์ ไปจนถึงเทคนิคทางนิติวิทยาศาสตร์ การค้ามนุษย์ และสิทธิมนุษยชน

- บรรยายสรุปแก่หน่วยงานอื่น ๆ ของสถานทูต รวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและเอกอัครรัฐทูต

- การจัดการการขออนุมัติปฏิบัติในประเทศที่รับผิดชอบ

- การรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับพิธีการทางวัฒนธรรม

- การประเมินสภาพแวดล้อมทางการเมืองและความมั่นคง

- การประสานงานช่วยเหลือเหยื่อและด้านมนุษยธรรม

สำนักงาน Legats ในต่างประเทศอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปฏิบัติการระหว่างประเทศ สำนักงานใหญ่ FBI ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สำนักงานนี้มีการติดต่อประสานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐบาลกลางอื่น ๆ ตำรวจสากล เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต่างประเทศที่มีสำนักงานในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และชุมชนบังคับใช้กฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับบ้านเราแล้ว FBI มีสำนักงาน egats ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย มาตั้งแต่ ปี 1990 (พ.ศ. 2533) แต่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เข้ามาปฏิบัติการในบ้านเราก่อนหน้านั้นก็คือ สำนักงานปราบปรามยาเสพติด (the Drug Enforcement Administration : DEA) อันเนื่องมาจากยาเสพติดประเภทเฮโรอีนและกัญชาได้แพร่ระบาดเข้าในสหรัฐฯ อย่างมากมายตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม โดย DEA สนับสนุนการปราบปรามยาเสพติดให้กับหน่วยงานของไทยที่รับผิดชอบ อาทิ เงินทุนสนับสนุน การฝึกอบรม อุปกรณ์เทคโนโลยีที่สำคัญและจำเป็น แม้กระทั่งเงินที่ใช้สำหรับใช้ในการล่อซื้อยาเสพติด ฯลฯ โดย DEA มีสำนักงานย่อยในจังหวัดใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนและมีการค้ายาเสพติดในปริมาณมาก เช่น เชียงใหม่ ปัจจุบันสำนักงานของ DEA ในไทยยังเป็นสำนักงานภูมิภาคของ DEA ประจำทวีปเอเชียด้วย 

FBI โดยสำนักงาน Legats ประจำประเทศไทยและอีกหลายหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ก่อการร้าย ผู้ค้ามนุษย์ ผู้กระทำความผิดทางไซเบอร์ที่ประสงค์ร้าย และอาชญากรและศัตรูอื่น ๆ จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและชุมชนทั่วโลกเพื่อก่ออันตรายได้ง่ายดายขนาดนี้ ตัวอย่างเช่น กลุ่มอาชญากร MS-13 และ 18th Street ไม่ได้ปฏิบัติการเพียงแต่ในเมืองหรือภูมิภาคเดียวอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นกลุ่มที่ปรากฏตัวอยู่ทั่วโลก ยาเสพติดผิดกฎหมาย เช่น เฟนทานิล (Fentanyl) ไม่จำเป็นต้องหาซื้อด้วยตนเองอีกต่อไป เนื่องจากสามารถหาซื้อได้ง่ายบนเว็บมืด ดังนั้น สิ่งต่าง ๆ เช่นนั้น อาทิ การค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับเด็ก จึงกลายเป็นภัยคุกคามระดับโลก และต้องมีการตอบสนองหรือแนวทางในระดับโลก นอกจากการปราบปรามอาชญากรรมแล้ว FBI และรัฐบาลสหรัฐฯ ยังแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากล โดย FBI มีหน่วยปฏิบัติการที่จะสนับสนุนภารกิจในการต่อต้านการก่อการร้าย อาทิ หน่วยกู้ระเบิด (Bomb Technician) หน่วยตอบสนองต่อวัตถุพยานอันตราย (Hazardous Evidence Response Team) หน่วยตอบสนองต่อวิกฤต (Crisis Response Team) หน่วยเจรจาต่อรอง (Negotiation Team) หรือแม้แต่หน่วยสืบค้นใต้น้ำ (Underwater Search Team) จากทุกสิ่งตั้งแต่ การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมทางไซเบอร์ การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติที่ก่อขึ้นเป็นองค์กร ความพยายามของ FBI ยังคงก้าวต่อไปข้างหน้าในปัจจุบันและดำเนินต่อไปในอนาคตอย่างไม่ลดละและหยุดยั้ง

‘ทรัมป์’ จวกรัฐบาลเดโมแครตอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ เปิดชายแดนจนประเทศล้มเหลว ย้ำพบกัน 20 ม.ค. จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

เมื่อวันที่ (2 ม.ค.68)โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์มทรูธโซเชียล หลังการเกิดเหตุคนร้ายขับรถพุ่งชนใส่ฝูงชนในเมืองนิวออร์ลีน รัฐฐลุยเซียนา โดยว่าที่ผู้นำสหรัฐกล่าวว่า  ประเทศของเราตกอยู่ในหายนะ เป็นที่ขบขันของทั่วโลก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเปิดชายแดน ด้วยความเป็นผู้นำที่ไม่มีอยู่จริง อ่อนแอ และไร้ประสิทธิภาพ กระทรวงยุติธรรม (DOJ) สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) และอัยการรัฐและท้องถิ่นเดโมแครต ต่างไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน ไร้สมรรถนะ และทุจริต ใช้เวลาทำงานทั้งหมดไปกับการโจมตีคู่แข่งทางการเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คือผมเอง แทนที่จะมุ่งปกป้องชาวอเมริกัน จากคนเลวจากทั้งในและนอกประเทศที่ใช้ความรุนแรงและแทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วนของรัฐบาลและชาติของเรา"

ทรัมป์ ระบุอีกว่า "เดโมแครตควรละอายแก่ตนที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับประเทศของเรา สำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตอนนี้ ก่อนจะสายไป สหรัฐอเมริกากำลังแหลกสลาย ความปลอดภัย ความมั่นคงแห่งชาติ และประชาธิปไตย กำลังถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายอย่างรุนแรงทั่วทั้งชาติ ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและทรงพลังเท่านั้นที่จะหยุดยั้งได้ แล้วพบกันวันที่ 20 มกราคม ผมจะทำให้อเมริกากลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง"

คำกล่าวของทรัมป์สะท้อนเสียงวิจารณ์ของชาวอเมริกันบางกลุ่มที่มองว่ากรณีเหตุที่นิวออร์ลีน จุดชนวนข้อถกเถียงขึ้นเกี่ยวกับนโยบายคนเข้าเมืองภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดนว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องดังกล่าว แม้ว่าจะยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนก็ตาม ทำให้บุคคลสำคัญฝั่งขวาหลายคนรีบเชื่อมโยงโศกนาฏกรรมครั้งนี้เข้ากับนโยบายคนเข้าเมืองของประธานาธิบดีโจ ไบเดน  

นทท.ข้ามแดนผ่านด่านยูนนานพุ่ง 3 แสน เพิ่มขึ้น 136% เมื่อเทียบปีที่แล้ว

(3 ม.ค. 68) สถานีตรวจสอบการผ่านแดนขาเข้า-ขาออกตำบลโม๋ฮัน มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รายงานว่า ด่านรถไฟโม๋ฮันได้รองรับการเดินทางข้ามพรมแดนของประชาชนจากราว 100 ประเทศและภูมิภาค จำนวนมากกว่า 301,000 คนในปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 136 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ด่านรถไฟโม๋ฮันได้รองรับการเดินทางโดยรถไฟข้ามพรมแดนในปี 2024 มากกว่า 7,900 เที่ยว ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงความนิยมของการเดินทางด้วยรถไฟจีน-ลาวในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นับตั้งแต่เปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดน เนื่องจากมีราคาถูกและสะดวกสบาย

'ท่องเที่ยวจีน' เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจสูงในขณะนี้ หลังจากจีนขยายโครงการฟรีวีซ่ากับประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงการผ่อนปรนนโยบายเดินทางผ่าน (transit) แบบฟรีวีซ่า ซึ่งขยายระยะเวลาพำนักที่ได้รับอนุญาตสำหรับนักเดินทางชาวต่างชาติที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์จากเดิม 72 และ 144 ชั่วโมง เป็น 240 ชั่วโมง

เจ้าหน้าที่สถานีฯ กล่าวว่า การเปิดให้บริการรถไฟโดยสารข้ามพรมแดนจีน-ลาว เส้นทางสิบสองปันนา-หลวงพระบาง เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2024 ได้เพิ่มการเดินทางข้ามพรมแดนจาก 300 คนต่อวันเป็นมากกว่า 800 คนต่อวัน โดยตัวเลขสูงสุดในหนึ่งวันอยู่ที่มากกว่า 1,200 คน

มัคคุเทศก์แซ่หวังจากมณฑลอวิ๋นหนานกล่าวว่า การเดินทางด้วยรถไฟจีน-ลาวนั้นทั้งสะดวกและรวดเร็ว พร้อมทั้งสามารถเพลิดเพลินกับทิวทัศน์ที่สวยงามตลอดทาง ทำให้ผู้เดินทางเลือกใช้บริการนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ และต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม

ริตชี เดวิด สจ๊วร์ต นักท่องเที่ยวชาวสหราชอาณาจักร ซึ่งเดินทางมาท่องเที่ยวจีนครั้งแรกพร้อมภรรยา กล่าวว่า การเดินทางด้วยรถไฟจีน-ลาวนั้นให้ประสบการณ์ที่ดีกว่าการเดินทางโดยเครื่องบิน ทั้งสะดวกสบายและคุ้มค่าคุ้มราคา พร้อมทั้งสามารถเพลิดเพลินกับอาหารอร่อยที่สถานีรถไฟในคุนหมิงอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top