Friday, 16 May 2025
ค้นหา พบ 48149 ที่เกี่ยวข้อง

ชำแหละเทคนิคทางการเมืองแบบมวลชน ฉบับ ‘ก้าวไกล’ หากยอมถอย ‘ม.112’ ก็จะไม่มี ‘ปีศาจ’ ไว้ปั่นความเกลียดชัง

(15 ก.ค. 66) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Chaiyan Chaiyaporn’ โดยระบุว่า…

จาก ‘อาจารย์แก้วสรร’ ครับ

การเมืองของก้าวไกล 
เทคนิคของการใช้การเมืองแบบมวลชน คือ ต้องหาเป้าหมายสักอย่างหนึ่ง มาให้ผู้คนร่วมกันเกลียดชังว่า “เป็นต้นตอของความงี่เง่าเฮงซวยของบ้านเมือง”

เป้าหมายนี้ ต้องดูมีฤทธิ์เดช เ_ี้ยได้มากจริง เช่น ถ้าเป็นคอม ก็วาดเป้าหมายเป็นนายทุน เป็นนาซีก็วาดเป็นยิว เป็นชาตินิยมก็เป็นจักรวรรดิ์นิยม

การเมืองของก้าวไกลเดินมาทางนี้ แล้วเลือกเอาสถาบันฯ เป็นปีศาจของความเกลียดชัง ทำให้ดูขลัง จึงลากเป็นมรดก 2475

คนเราพอเกลียดร่วมกันมากๆ ก็เกิดเป็นพวกเป็นม็อบไปในที่สุด การเลิกไม่พูดไม่ชูแก้ ม.112 จะทำให้ขาดการชี้ปีศาจไปในทันที พลังก้าวไกลจะอ่อนยวบลงเลย ให้เขาเลิกไม่ได้เด็ดขาด เพราะเป็นตัวตนของเขา

นี่คือเหตุผลที่ก้าวไกล ไม่มีวิสัยทัศน์ของอนาคตมาโชว์จริงๆ มีแต่ความเกลียดชังร่วมในกองทัพและสถาบันฯ แล้วแถมของชำร่วยทางปัจเจกชนนิยมให้กลุ่มต่างๆ เป็นพิเศษ ทั้งเพศพิเศษ ก_หรี่เสรี เลิกเครื่องแบบนักเรียนฯ

การเมืองวันนี้ เดิมทีระบาดด้วยโลภ จนเกิดนิสัยประชานิยมที่ก้าวไกลมาเติมใหม่

ใหม่จริงแต่ไม่ใช่ ‘ประชาธิปไตย’

แต่เป็น ‘โมหะ’

สองตัวนี้ถึงจุดหนึ่ง ‘โทสะ’ จะเกิดขึ้นในที่สุด

‘De-BUGs’ สารกำจัดแมลงจากเปลือกไข่ ไร้อันตรายต่อเด็ก คว้า ‘เหรียญทอง’ จากงานประกวดนวัตกรรมที่ญี่ปุ่น

เป็นหน้าเป็นตาอีกแล้วกับผลงานนวัตกรรมของคนไทยอย่าง ‘De-BUGs’ นวัตกรรมสารกำจัดแมลงอินทรีย์แปรรูปจากเปลือกไข่ ซึ่งคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อแปรรูปและเพิ่มมูลค่าของเสียจากภาคอุตสาหกรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมรักษ์โลก ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG 

โดยการเปลี่ยนโปรตีนเยื่อเปลือกไข่ให้เป็นสารออกฤทธิ์กำจัดแมลงศัตรูพืชประสิทธิภาพสูงด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่สร้างของเสีย (Zero-waste Process) เป็นสารอินทรีย์ 100% นอกจากจะทำหน้าที่กำจัดศัตรูพืชแล้ว De-BUGs สลายตัวตามธรรมชาติกลายเป็นแคลเซียม ธาตุอาหารรองสำหรับพืชทุกชนิด เป็นนวัตกรรมเพื่อเกษตรอินทรีย์ ที่มีประสิทธิภาพป้องกันและกำจัดเพลี้ย ไล่มดและหอยทาก 

ใช้ได้กับผักสวนครัว ไม้ดอก ไม้ประดับ ผลไม้ และ พืชไร่ ไม่ต้องกังวลเรื่องการตกค้างและอันตรายจากสารเคมีสำหรับเด็กและสัตว์เลี้ยง เนื่องจากการฉีดพ่นสารแขวนลอย De-BUGs ความเข้มข้น 0.5% สามารถสร้างความเสียหายแก่ protective wax ของเพลี้ยแป้งภายในเวลา 15 นาที และทำให้เพลี้ยแป้งเป็นอัมพาตภายใน 60 นาที หลังจากนั้น 1 วัน เพลี้ยแป้งที่สัมผัส De-BUGs  จะตายทั้งหมด 

คณะนักวิจัยมีความพร้อมเผยแพร่นวัตกรรมนี้สู่การใช้งานจริงกับเกษตรกรและผู้รักสุขภาพที่ปลูกผักปลอดสารพิษ พร้อมกันนี้ นักวิจัยได้ออกแบบระบบการผลิตแบบ Nano-Factory สำหรับการผลิต De-BUGs จากเปลือกไข่ใช้เองในครัวเรือน โดยใช้อุปกรณ์ในห้องครัวเป็นเครื่องมือผลิต นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) และ WIIPA Special Award สาขาการเกษตร ในงานประกวดและแสดงนวัตกรรมระดับนานาชาติ JDIE 2023 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

‘วอลเลย์บอลชายไทย’ รวมพลังตบ!! เอาชนะ ‘บาห์เรน’ 3 เซตรวด คว้าแชมป์ ‘เอวีซี ชาเลนจ์ คัพ 2023’ นับเป็นครั้งแรกในระดับเอเชีย!!

ทีมหนุ่มไทยภายใต้การคุมทัพของ ‘พัค กี วอน’ เฮดโค้ชชาวเกาหลีใต้ สำหรับผลงานของทีมชาติไทย แข่งมาทั้งหมด 5 นัด ชนะ 4 แพ้ 1 ได้แก่ แพ้เกาหลีใต้ 0-3 เซต, ชนะซาอุดิอาระเบีย 3-0 เซต ในรอบแรก, รอบสองเอาชนะฮ่องกง 3-1 เซต ทั้งสามารถเอาชนะทีมอินโดนีเซีย 3-2 เซตในรอบ 8 ทีม ส่วนรอบรองชนะเลิศ เอาชนะเวียดนามมา 3-1 เซต 

ผลปรากฎว่า ทีมชาติไทย เอาชนะ บาห์เรน ไปได้ 3-0 เซต 25-20, 25-20, 25-18 คว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรกในระดับเอเชีย พร้อมได้สิทธิ์ไปแข่งศึกชาเลนเจอร์ คัพ ที่โดฮาร์ ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 26-30 ก.ค.นี้

โดยทีมที่คว้าโควต้าไปแข่งแล้ว 7 ทีมประกอบด้วยตุรกี (อันดับโลก 12), ยูเครน (13), ตูนีเซีย (18), กาต้าร์ (21), ชิลี (24), จีน (25) ซึ่งตกชั่นจากเนชั่นส์ลีกปีนี้, สาธารณรัฐโดมินิกัน (31), ทีมเจ้าภาพกาตาร์ และไทย เป็นทีมที่ 8 จากการคว้าแชมป์ เอวีซี ชาเลนจ์ คัพ

โดยนัดแรกไทยจะต้องเจอกาตาร์เจ้าภาพ รอบน็อกเอาท์ จากกติกาเกณฑ์จับคู่แข่งขันพิจารณาจากอันดับโลกของทุกทีม โดยทีมเจ้าภาพกาตาร์ได้สิทธิ์เจ้าภาพในฐานะทีม 1 จะเจอทีมอันดับโลกต่ำสุดในฐานะทีม 8, ทีมอันดับ 2 เจอ ทีมอันดับ 7, ทีมอันดับ 3 เจอ ทีมอันดับ 6 และ ทีมอันดับ 4 เจอ ทีมอันดับ 5

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ฟันธง!! ไทยควรถึงเวลาปฏิรูปภาษี ขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล-เก็บภาษีปล่อยคาร์บอน

(16 ก.ค. 66) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ ‘Easy Econ’ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นการปฏิรูปการคลัง (Fiscal Reform) ของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า นโยบายการคลัง คือนโยบายที่ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินภาครัฐที่มาจากการเก็บภาษีอากร และการก่อหนี้สาธารณะหากเก็บรายได้ได้ไม่เพียงพอ นโยบายการคลังอยู่ในอำนาจของฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าความต้องการของประชาชนได้รับการสะท้อนผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

จึงไม่น่าแปลกใจว่าภาวะการคลังของเกือบทุกประเทศทั่วโลกอยู่ในฐานะขาดดุล เพราะฝ่ายการเมืองชอบที่จะใช้จ่ายมากกว่าหารายได้ โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิด 19 ทุกประเทศรวมทั้งไทย ที่มีฐานะการคลังที่อ่อนแอลงอย่างมาก รัฐบาลไทยขาดดุลการคลังปีละ 5-6% ของ GDP และมีหนี้สาธารณะที่ระดับ 62% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในประวัติศาสตร์การคลังไทย

ในสถานการณ์ปกติ ฐานะการคลังดังกล่าวถือว่าบริหารจัดการได้ แต่ในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับสูง สังคมสูงอายุ ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายด้านการทหารและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับมาตรการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยความเสี่ยงทางการคลังที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นจังหวะเหมาะสมที่จะทำการปฏิรูปการคลังอย่างจริงจัง

ในด้านรายได้ ถึงเวลาที่จะต้องทำการปฏิรูปภาษีอากรครั้งใหญ่ หลังจากที่ทำครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว รายได้ภาษีอากรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับเพียง 13% ของ GDP เพราะฐานภาษีสึกกร่อนจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล (Digitalization) แนวโน้มดังกล่าวยังความจำเป็นต้องเพิ่มรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (โดยปรับอัตรา) ขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเลิกการยกเว้นลดหย่อนภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุน และเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน

ในด้านรายจ่าย มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับโครงสร้างการใช้จ่ายเพื่อดูแลสังคมสูงอายุทั้งในด้านความเพียงพอ ตรงเป้า และยั่งยืน การลงทุนภาครัฐ ซึ่งมีความล่าช้าและการรั่วไหลในการดำเนินการและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ก็จะต้องมีการรื้อกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการร่วมลงทุนในลักษณะ PPP (Public Private. Partnership) มากขึ้น

โดยสรุปแล้ว นโยบายการคลังด้านภาษีมีความสำคัญในการปรับโครงสร้าง เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้สอดคล้องกับนโยบายในการบริหารประเทศที่ต้องนำไปพัฒนาในด้านต่างๆ ต่อไป 

'Mission Impossible 7' ได้คะแนน Rotten Tomatoes สูงถึง 99% นับเป็นคะแนนวิจารณ์ที่ดีที่สุดในอาชีพนักแสดงของ ‘ทอม ครูซ’

เมื่อไม่นานมานี้ แม้จะยังไม่เข้าฉายอย่างเป็นทางการ และได้รับคะแนนจากนักวิจารณ์เพียง 147 คนเท่านั้น แต่ Mission: Impossible - Dead Reckoning Part One ก็ได้รับการการันตีมะเขือสดหรือ Certified Fresh บนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes เป็นที่เรียบร้อยด้วยตัวเลข 99% พร้อมด้วยคะแนนเฉลี่ยที่สูงถึง 8.10 คะแนน 

ด้วยเปอร์เซนต์ที่สูงถึง 99% จึงทำให้ Mission: Impossible - Dead Reckoning Part One กลายเป็นผลงานที่ได้รับเปอร์เซนต์ฝั่งนักวิจารณ์สูงที่สุดในแฟรนไชส์ และเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในอาชีพการแสดงของ Tom Cruise ในทันที นับตั้งแต่เจ้าตัวเริ่มมีผลงานตั้งแต่ยุค 80 ผ่านภาพยนตร์มากกว่า 45 เรื่อง ซึ่งแชมป์เก่าก็คือผลงานภาคก่อนหน้าอย่าง Mission: Impossible - Fallout ที่ตัวเลข 97% ตามมาด้วยผลงานในปีที่แล้วอย่าง Top Gun: Maverick ที่ทำไว้ได้ถึง 96% นั่นเองครับ

แต่ถึงกระนั้น แม้ความชอบของนักวิจารณ์จะสูงเกือบร้อยเปอร์เซนต์ แต่ด้วยคะแนนเฉลี่ยที่ 8.10 ของ Mission: Impossible - Dead Reckoning Part One นั้นยังน้อยกว่าผลงานภาคก่อนหน้าอย่าง Mission: Impossible - Fallout ซึ่งทำได้ที่ 8.40 คะแนนและ Top Gun: Maverick ที่มีคะแนนเฉลี่ย 8.20 คะแนน

Mission: Impossible - Dead Reckoning Part One แสดงนำโดย Tom Cruise, Rebecca Ferguson, Simon Pegg, Ving Rhames, Hayley Atwell, Vanessa Kirby, Henry Czerny, Esai Morales, Pom Klementieff และ Cary Elwes ภายใต้การกำกับของ Christopher McQuarrie ได้วางกำหนดฉายเอาไว้วันที่ 11 กรกฎาคม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top