Saturday, 17 May 2025
ค้นหา พบ 48160 ที่เกี่ยวข้อง

'มัมดิว' ผู้ต้องหาคดี 112 กรณีโฆษณาลาซาด้า โพสต์อัปเดตหลังทำเรื่องลี้ภัยไปประเทศเยอรมนี

วันนี้ (14 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายกิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ หรือ มัมดิว แอดมินเพจที่ชื่อว่า มัมดิวไดอารี่ ผู้ต้องหาคดีอาญาตามมาตรา 112 ได้โพสต์วิดีโอคลิประบุว่า "แม่เองก็ลำบาก ชีวิตอันเรียบง่ายในต่างแดน" เป็นการรีวิวอาหารที่อ้างว่าเป็นอาหารเย็นในค่ายผู้ลี้ภัยวันแรก สิ่งที่ได้มามีขนมปัง เชดดาร์ชีส เนยก้อน น้ำแร่บรรจุกล่อง และมะเขือเทศ พร้อมมีดไม้ และกล่าวว่า ชีวิตการเป็นผู้ลี้ภัยก็ลำบาก วันแรกก็มากักตัวในตู้คอนเทนเนอร์ อยู่บ้านก็สบายกว่านี้ ก็ต้องทนเพื่อความสบายในอนาคตข้างหน้า ก็จะไปได้ฉิวไปอีก

ด้านชาวเน็ตกล่าวว่า "โถ นึกว่าจะแน่ ที่แท้ก็ออกช่องทางธรรมชาติ" มัมดิวก็ตอบกลับว่า "ออกโดยสายการบินไทย ของ..." นอกจากนี้ยังโพสต์ภาพสถานที่แห่งหนึ่งที่ต่างประเทศ

ขณะที่เฟซบุ๊ก ‘จอมไฟเย็น’ ของนายนิธิวัต วรรณศิริ นักร้องนำวงดนตรีที่ชื่อว่าไฟเย็น และผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ซึ่งลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความระบุว่า "ยินดีต้อนรับมัมดิว ผู้ยื่นขอลี้ภัย 112 คนล่าสุดที่เยอรมนี แกพาป้าสมจิตรมาทัวร์ยุโรป" ท่ามกลางความยินดีของเหล่าแฟนคลับ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 ได้เป็นโจทก์ฟ้อง นายกิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ หรือ ‘มัมดิวไดอารี่’, น.ส.สุภัคชญา ชาวคูเวียง หรือ ‘หนูรัตน์’ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ บริษัท อินเตอร์เชคท์ ไชน์ แฟคทอรี่ จำกัด พร้อมพวก ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง กรณีเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 65 พวกจำเลยทำแคมเปญโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง (ลาซาด้า) ร่วมกับ นายอนิวัต ประทุมถิ่น หรือ ‘นารา เครปกะเทย’ เน็ตไอดอลชื่อดัง โดยพวกจำเลยทั้งสอง แต่งกายเลียนแบบบุคคลเบื้องสูง

ศาลพิจารณาแล้วประทับฟ้องคดีไว้พิจารณา เป็นคดีหมายเลขดำ อ.1405/2566 และสอบคำให้การจำเลยแล้วให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ศาลจึงนัดพร้อมคู่ความทั้งสองฝ่าย เพื่อนัดตรวจพยานหลักฐาน และสืบพยานวันที่ 24 ก.ค. 66 เวลา 09.00 น. ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสอง โดยตีราคาประกันคนละ 9 หมื่นบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันที่อาจทำให้เสื่อมเสีย และห้ามชุมนุมที่อาจทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

‘ด้อมการเมือง’ ผลิตผลจากนักการเมืองหิวแสง หน่วยพิทักษ์สุดคลั่ง หนักถึงขั้นถวายชีวิต

‘Political Fandom’ หรือปรากฏการณ์แฟนด้อมการเมือง ที่เริ่มมีส่วนร่วมในการเมืองสมัยใหม่นั้น เริ่มถูกพูดถึงในวันที่ ‘นักการเมือง’ ไม่ใช่แค่บุคคลที่มีชื่อเสียง แต่เริ่มกลายเป็นบุคคลที่มีผู้คนตาม ‘กรี๊ด’ 

มีบางคำถามผุดขึ้นมาว่า ‘นักการเมือง’ ควรอยู่ในสภาพของการให้ความสำคัญแบบที่ ศิลปิน ดารา นักร้อง นักกีฬา ได้รับกันหรือไม่? เพราะนักการเมืองถือเป็นบุคคลที่ต้องคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ สุขุม หรือจะพูดแบบตรงๆ ก็คือ ต้องทำตัวให้แตะต้องยากหน่อย 

>> เรื่องนี้ เดี๋ยวมีคำตอบ!! แต่ก่อนอื่นอยากให้ลองทำความเข้าใจกันก่อนว่า แฟนด้อมการเมืองมันคืออะไร? และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ต้องยอมรับก่อนว่า ในวันที่โซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลต่อการถ่ายทอดตัวตนของใครก็ได้ในโลกให้คนทั้งโลกได้รู้จักตัวเองและสินค้าบริการของตน เนื่องจากมันประหยัดตังค์มากกว่า การนำเงินก้อนโตไปโอ๋สื่อช่องใหญ่ ที่จ่ายไปก็อาจจะได้ยอดคนรับรู้กลับมาแค่น้อยนิดนั้น ทำให้ทุกวงการ ศิลปิน ดารา นักร้อง นักกีฬา หรือแม้แต่ประชาชนคนธรรมดา เริ่มขยายขอบเขตความรู้จักของตนได้กว้างขึ้นผ่านช่องทางนี้

โลกของการเมือง ก็ไม่ต่างกัน ไอ้ที่จะใช้หัวคะแนน หรือเอาเงินไปหว่านแห่ซื้อแบบแต่ก่อน มันก็ไม่ค่อยได้ผล เพราะจ่ายไป ใช่ว่าคนจะเลือก หรือจะรัก

ดังนั้นนักการเมืองในทศวรรษใหม่ จึงแปลงร่างตัวเองเป็น ‘นักการเมืองแบบเซเลบริตี้’ (Celebrity Politics) ที่เค้นคุณสมบัติที่สร้างแรงกระเพื่อมต่ออารมณ์คนติดตามได้ดี เช่น ภาพลักษณ์ที่ดี คำพูดคมๆ การสร้างตัวตนที่สะท้อนถึงการเป็นคนร่วมสมัย เอาใจคนรุ่นใหม่ และต่อต้านสิ่งที่กระแสสังคมโดยรวม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์กำลังต่อต้าน อารมณ์ว่า แสงอยู่ไหน ฉันอยู่นั่น สถานการณ์ใด กิจกรรมใดที่กำลังป็อบปูลาร์ในสังคม จะต้องมีฉันไปยืนอยู่ท่ามกลาง และไม่จำเป็นต้องใช้เงินหว่านตรงๆ ให้คนมาติดตาม แต่อาจจะส่งเงินไปเปลี่ยนเป็นความงามทางภาพลักษณ์ในรูปแบบของการใช้สื่อ เพื่อกระพือความนิยมของตนเอง

ทีนี้ ลองมาดูคำจำกัดง่ายๆ ของแฟนด้อมการเมือง กันสักนิด ความหมายของมันก็คือ กลุ่มแฟนคลับของนักการเมืองและ/หรือแคมเปญทางการเมืองก็ได้ ซึ่งลักษณะมันก็จะคล้ายๆ กับแฟนด้อมของป๊อปคัลเจอร์ทั่วไป เช่น แฟนด้อมศิลปินเกาหลี แฟนด้อมซีรีส์ หรือแม้แต่แฟนด้อมทีมกีฬา 

>> ข้อดีของการมีแฟนด้อม คืออะไร?
แต่ละแฟนด้อม มักจะมีพื้นที่ไว้แลกเปลี่ยนพูดคุยถึงเรื่องของแต่ละแฟนด้อมเอง เรียกภาษาชาวบ้านก็ ‘ชุมชน’ (Community) นั่นแหละ โดยแต่ละชุมชนของแฟนด้อม มักจะมีการหยิบเรื่องราวมุมดีๆ ของคนดังนั้นๆ มาเผยแพร่ เช่น รูปภาพสวยๆ ข่าวสารอัปเดต รวมถึงกิจกรรมที่คนดังนั้นๆ ไปทำ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างวงฮอต BlackPink หรือแม้แต่ตัว ‘ลิซ่า’ ศิลปิน BlackPink เอง ที่ด้อมนั้นพร้อมจะปั่นทั้ง Hashtag และแชร์เรื่องราวดีๆ ให้แบบตัวคนดังนั้นๆ แทบไม่ต้องไปทำอะไรเลย ขอแค่คนดังนั้นๆ ตอบสนอง และลงมาโปรยยาหอม โบกมือให้ กอดนิดกอดหน่อย มอบลายเซ็น หรือพาตัวเองไปหา ‘ด้อมต้นทาง’ เพื่อสร้างความประทับใจ รัก หลง แบบตราตรึง สักนิด ที่เหลือ ‘ด้อมต้นทาง’ ก็จะไปสร้าง ‘ด้อมเครือข่าย’ ต่อให้ ยังกะแชร์ลูกโซ่ ขยายใหญ่จนกลายเป็นความเหนียวแน่นแบบโงหัวไม่ขึ้น

>> เทคนิคปั้น ‘แฟนด้อมทางการเมือง’!!
บริบทของแฟนด้อมการเมือง ก็ไม่ได้แตกต่างกันกับด้อมกลุ่มอื่นๆ แต่มันจะมีตัวแปรอยู่ที่บรรดา ‘นักการเมืองแบบเซเลบริตี้’ ที่ใช้เทคนิคของการสร้างแฟนด้อมการเมือง ซึ่งถ้าจะให้อธิบายอย่างง่ายที่สุด ก็คงเป็นการพา ‘การเมือง’ เข้าไปผูกกับสิ่งที่คนสนใจ เช่น บันเทิง กีฬา ไลฟ์สไตล์ โดยเน้นการสื่อสารและใช้เทคนิคทางการตลาดในการเพิ่มชื่อเสียงและอำนาจทางการเมืองให้แก่ตัวเอง อาทิ การชักชวนดารา นักแสดงมาช่วยโปรโมตแคมเปญทางการเมือง เน้นขายรูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ของนักการเมืองแทนนโยบายพรรค การหันไปออกรายการวาไรตี้เพื่อพูดคุยเรื่องอื่นที่ไม่ใช่การเมืองมากขึ้น หรือแม้แต่การที่ดาราผันตัวเป็นนักการเมืองโดยใช้ชื่อเสียงของตัวเองมากรุยทางการเมือง

ตัวอย่างนักการเมืองที่หันมาทำการเมืองแบบนี้ชัดมากๆ จนถูกเรียกว่า นักการเมืองแบบเซเลบริตี้ (Celebrity Politician) ก็มีให้เห็นทั่วโลกอย่าง แต่ขอยกคร่าวๆ เช่น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา (Barack Obama) ที่พาตัวเองเข้าไปอยู่กับตลาดนักกีฬาอย่างวงการบาส NBA หรือแม้แต่อดีตนักแสดงชื่อดัง อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) ที่เอาความเป็นดาราของตัวเองชูเชิดจนผันตัวมาเป็นผู้ว่าการรัฐฯ ได้

>> การเมือง = การแสดง
ทีนี้กลับมาตอบ คำถามที่ค้างไว้ข้างต้น…เพราะความเบื่อหน่ายในการเมืองเก่า ของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกนี่แหละ ที่เป็นแรงเร้าให้นักการเมืองเริ่มหันมาปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการวางตัวที่คนทั่วไปมักจะมองว่า นักการเมืองเข้าถึงได้ยาก เหินห่าง ไม่ค่อยรับฟังและตระหนักถึงความเดือดร้อนของมวลชน ดังนั้นเพื่อดึงดูดคนให้กลับมาสนใจการเมืองมากขึ้น นักการเมือง จึงต้องหันมาแข่งขันกันอย่างหนัก โดยอาศัยการใช้โซเชียลมีเดีย และการเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองให้แตกต่างจากภาพลักษณ์นักการเมืองแบบเดิมๆ ให้มากที่สุด จึงเกิดเป็นภาพนักการเมืองแบบใหม่ แบบเซเลบรีตี้ที่เน้นภาพลักษณ์ที่เข้าถึงง่าย มีมุมชิลๆ ขายความเป็นตัวเองมากขึ้นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

จากจุดนี้เอง ที่พอจะทำให้สรุปได้ว่าการเมืองในปัจจุบัน เริ่มกลายเป็นเรื่องของ ‘การแสดง’ ไปแล้ว กล่าวคือนักการเมืองกลายเป็นดารา ส่วนมวลชนก็กลายเป็นผู้ชมโดยสมบูรณ์

>> ผลดี-ผลเสีย ‘แฟนด้อมการเมือง’ ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบใหม่
คำถามใหญ่ที่หลายคนคงติดใจ แล้วเอาเข้าจริงๆ แฟนด้อมการเมือง คือ ผลผลิตของผู้คนที่อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองแท้จริงแค่ไหน? หรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองเซเลบริตี้...คำตอบนี้เชื่อว่าผู้อ่านคงมีอยู่ในใจ...

แต่หากให้มองผลดีของเรื่องนี้ คือ การมีอยู่ของแฟนด้อมการเมือง ได้ส่งผลให้มวลชนที่เลิกสนใจการเมืองหรือไม่เคยสนใจการเมืองเดิม เริ่มหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เนื่องจากชุมชนของแฟนด้อมมักใช้ภาษาที่เข้าถึงหมู่คนได้มากกว่า เช่น บทความสรุปนโยบายต่างๆ วิดีโอไฮไลต์งานปราศรัย และมีมนักการเมืองต่างๆ รวมไปถึงการเป็นแฟนด้อมการเมืองยังส่งผลต่อการแสวงหาข้อมูลและข่าวสารทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ แฟนด้อมการเมืองยังส่งผลดีต่อการเรียนรู้วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากแฟนด้อมเป็นการรวมตัวของคนที่มีความสนใจเดียวกัน ไม่ได้เกิดจากสายสัมพันธ์ดั้งเดิม เช่น เพื่อน คนรู้จัก หรือ ครอบครัว จึงช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมในชุมชนหรือแฟนด้อม การเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมต่างๆ การวางแผนยุทธศาสตร์ และการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ

แต่...ในทางกลับกัน ผลกระทบเชิงลบที่น่ากังวล คือ แฟนด้อมการเมือง จะกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดด้อยค่าการเมืองหรือไม่ เรื่องนี้น่าห่วง เพราะบางครั้งการมุ่งความสนใจไปที่ตัวนักการเมืองคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว อาจจะทำให้ประเด็นทางการเมืองหรือนโยบายของพรรคถูกมองข้ามไป ซึ่งเรื่องนี้ก็อยากให้ผู้อ่านลองตอบข้อสงสัยนี้ดูอีกข้อว่าจริงเท็จแค่ไหน?

ท้ายสุด ขอบเขตของแฟนด้อมการเมือง จะมีจุดสิ้นสุดที่ตรงไหน จะขยายไปจนเริ่มหาแก่นสารไม่ได้ เช่น เริ่มจับนักการเมืองด้วยกันเองไปจิ้นบ้างหรือไม่ หรือแฟนด้อมควรมอง นักการเมือง พรรคการเมือง อุดมการณ์พรรคการเมือง นโยบายพรรคการเมือง และความถูกต้องในสังคมแบบใด? 

เรื่องนี้คงต้องรอวันเวลามาช่วยตอบ เพียงแต่สิ่งที่โคตรน่าห่วงในตอนนี้ คือ หากจะเปรียบการส่งมอบความรัก ความรู้สึก การตามติด การเก็บหอมรอมริบเงินทอง หรือหาซื้อสิ่งของมากองให้คนดังอันเป็นที่รักของเหล่าแฟนด้อมสายอื่นๆ… ‘เหล่าด้อมการเมือง’ ที่ถูกปลุกปั่นจนสุกงอม อาจจะพร้อมมอบ ‘ชีวิต’ ให้กับอุดมการณ์ที่ ‘นักการเมืองเซเลบฯ’ ชี้นำไปได้ไม่ยาก

อันนี้น่าห่วง...

และมันก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงในสังคมตอนนี้ด้วย…

จาก ‘ฟ้ารักพ่อ’ สู่ ‘ด้อมส้ม’ สะเทือนแผ่นดิน เกมชิงมวลชน ถีบอนุรักษ์นิยมแพ้ตกขอบ

ปรากฏการณ์แฟนด้อมการเมืองในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้ว่าเราเพิ่งมาเริ่มคุ้นกับปรากฏการณ์ ‘ฟ้ารักพ่อ’ ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในปี 2019 แต่จริงๆ แล้ว แฟนด้อมการเมืองในไทยเริ่มปรากฏให้เห็นมานานแล้วในรูปแบบ ‘แม่ยก พ่อยก’ ของบรรดานักการเมืองรุ่นเก่าๆ เช่น แม่ยกของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนวันนี้ก็ถึงคิวของ ‘ส้มรักพ่อ’ / ‘รักก้าวไกล’ / ‘รักพิธาจนหมดใจ’

อันที่จริง ถ้าจะให้พูดแบบไม่แอบอิง ปรากฏการณ์นี้ ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วย ชื่นชอบ ชื่นชม หรือแม้แต่อุดมการณ์เป็นที่ตั้ง แต่เป็น ‘ความหลงใหล’ 

ทั้งนี้หากมองวิวัฒนาการ ‘แฟนด้อมการเมืองในไทย’ แล้ว จะพบว่า มันถูกขับเคลื่อนผ่าน Pop Culture และ โซเชียลมีเดีย ที่ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังจากช่วง ‘ฟ้ารักพ่อ’ ซึ่งเป็นประโยคเด็ดจากละคร ‘ดอกส้มสีทอง’ มาใช้ในการพูดถึงแฟนด้อมและความนิยมของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 

อีกตัวแปรที่ทำให้วัฒนธรรมแฟนด้อมเติบโตขึ้นมากในการเมืองไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ วัฒนธรรมแฟนด้อมเกาหลีในหมู่วัยรุ่นไทย ที่เติบโตมาพร้อมกับพวกเค้า ภายใต้การอิงกายอยู่ภายใต้บรรยากาศการเมืองในระบอบที่ถูกอ้างกันว่าเป็น ‘เผด็จการ’ 

เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากที่เติบโตมาในช่วงกระแสธารนี้ พัฒนาและปรับประยุกต์ผลงานที่เกี่ยวกับศิลปินที่ชอบ ผ่านงานอาร์ต บทความ กิจกรรม และแฮชแท็กต่างๆ เพื่อส่งเสริม รวมถึงเรียกร้องความไม่เป็นธรรมให้ศิลปินของตน จนกลายเป็น ‘วัฒนธรรม’ ใหม่ของเด็กยุคใหม่ 

>> ตรงนี้สำคัญ...เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง พวกเขาจึงเลือกแสดงออกด้วยวัฒนธรรมที่พวกเขาคุ้นเคยอย่างที่กล่าวมาข้างต้นต่อ ‘พรรคการเมืองใหม่’ ที่พวกเขาไว้ใจ ผ่านโซเชียลมีเดีย ช่วยมอบสิ่งดีๆ ให้เกิดการแชร์ในวงกว้าง และทำลายล้างสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อโซเชียลนิยมด้วยความเต็มใจ

ฉะนั้น ปรากฏการณ์ ‘ส้มรักพ่อ’ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนจากผลพวงของ ‘แฟนด้อมทางการเมือง’ ที่ทำให้ "ก้าวไกล" คว้าเส้นชัยอันดับ 1

แน่นอนว่า ‘ตบมือข้างเดียว’ ยังไงก็ไม่ดัง!!

เมื่อแฟนด้อมของ ‘ก้าวไกล’ ตอบสนอง เพราะเบื่อการเมืองแบบเก่าๆ เบื่อความไม่ชัดเจน การหาประเด็นจี้จุดตรงประเด็น และใส่วาทกรรมเติมแต่งให้น่าเชื่อถือ ด้วยการสร้างความ ‘หลงใหล’ ให้ ‘ด้อมส้ม’ จึงเกิดขึ้นแบบที่ ‘อนุรักษ์นิยม’ ที่ได้สัมผัสยังแอบเคลิ้มตาม

>> หลงใหลที่ 1: วาทกรรม
‘มีลุง ไม่มีเรา’ 
‘แก้ไขมาตรา 112’
‘ทลายทุนผูกขาด’
‘รีดพุงงบกองทัพ’
‘สุราต้องเสรี’
‘คนเราต้องเท่าเทียม’

เหล่านี้กลายเป็นความหลงใหลที่เกิดจากวาทกรรม ที่ไม่ต้องพูดชื่อ ‘พรรคก้าวไกล’ ใครๆ ก็นึกออกว่าเป็นบริบทที่เกิดขึ้นจากพรรคนี้

>> หลงใหลที่ 2: ชายที่ชื่อ ‘พิธา’
รูปร่างหน้าตาหล่อเหลา พูดจาฉะฉาน ภาษาอังกฤษเป๊ะ น่ามองไปเสียทุกตรง คือ ความหลงใหลที่ ‘ด้อมส้ม’ พร้อมถมความภักดีให้กับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ซึ่งเราต้องยอมรับว่า ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา หน้าตาของทุกสื่อ ทุกเวทีดีเบต ต้องมีภาพจำของพิธา และภาพจำสุดน่าปลื้มเหล่านั้น ก็ถ่ายเทไปถึงบรรดาผู้สมัครในพรรคท่านอื่นๆ ที่แม้จะโนเนม แต่ก็คว้าคะแนนปาดหน้าแชมป์เก่าในผู้สมัครเขตอื่นๆ ได้เพียงเพราะประชาชนมีภาพ ‘พิธา’ ติดตา ติดหู ฝังสมองไปแล้ว

>> หลงใหลที่ 3: ความเป็นกันเอง
พรรคก้าวไกลฝึกฝนบุคลิกทุกคนให้พรรค ไม่ว่าจะเด็กหรือแก่ ให้เข้าถึง เป็นเพื่อน เป็นครอบครัวเดียวกันกับคนทุกคน อย่างที่เห็นชัดเจนคือ การดีเบตครั้งสุดท้ายที่พรรคก้าวไกลเลือกจะทำเวทีแบบวงกลมกลางสนาม และให้คนมานั่งล้อมรอบ สร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวระหว่างพรรคและคน 

นอกจากนี้การที่พรรคก้าวไกลมักจะบอกว่า พรรคตนเองไม่มีเงิน เพื่อสร้างความโปร่งใส ขจัดปัญหาการซื้อเสียง เรื่องเดิมๆ ที่ต้องมาพร้อมกับการเลือกตั้ง สร้างประสบการณ์ใหม่ที่แฝงด้วยการแก้ปัญหาพื้นฐานของการเลือกตั้งให้คนรับรู้ ก็เป็นกระแสความนิยมในการเมืองใหม่จากพรรคนี้

1.วาทกรรมที่โดนใจ 2.ผู้นำที่ต้องตา 3.การวางตัวที่ใครๆ เขาอยากเข้าหา นี่มันองค์ประกอบของ ‘ดารา’ ชัดๆ (หลายคนอาจจะคิดแบบนี้) และมันก็เข้าองค์ประกอบของการต้องมี ‘แฟนคลับ’ ที่ถาโถมเข้ามาร่วมกับ ‘ด้อมส้ม’ ก่อนหน้า 

และถ้าเจาะเข้าไปเนื้อใน 3 ข้อนี้ ก้าวไกล และ พิธา ไม่ได้แค่ทางการวางตัวให้คนรู้สึกว่าเข้าถึงง่าย ติดดิน แต่พยายามเข้าใจถึงปัญหาปากท้องที่แท้จริง พร้อมรับฟังเสียงทุกเสียง และเลือกสื่อสารแบบเปิดเผย เพื่อลดช่องว่างระหว่างนักการเมืองกับ ‘ด้อมส้ม’ ของเขา 

สังเกตไหมว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกล เป็น แทบไม่ต่างอะไรจาก ไอดอลชั้นนำ ที่สร้าง ‘ความหลงใหล’ แก่แฟนคลับแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่เขาเป็นพรรคการเมือง และควรต้องมีนโยบายที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นตัวชี้นำ แต่ถ้านโยบายนั้นๆ มีความเป็นไปได้ว่าจะ แป๊ก!! ‘แฟนด้อมส้ม’ ก็ยังให้อภัย เพราะอย่างไรก้าวไกลก็จะแก้มาตรา 112 มาตราโดนใจที่ตอบโจทย์ สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการอย่าง ‘คนเราต้องเท่าเทียม’

ดังนั้น ปรากฏการณ์ ‘แฟนด้อมทางการเมือง’ ผู้ซึ่งเป็น ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ นี้ ไม่ใช่แฟนคลับที่คลั่งกรี๊ดแล้วจบ แต่อาจยอมสยบให้กับ ทุกวาทกรรม ทุกท่วงท่า ความงามของภาพลักษณ์ และความแนบชิด (การแสดง) จนพร้อมจะเป็นแรงหนุนให้ ‘พรรคก้าวไกล’ ต้องลุล่วงทุกภารกิจ 

และเมื่อถึงวันที่ ‘พรรคก้าวไกล’ ถึงทางตัน ชวดนายกฯ ยุบพรรค ผู้สมัครถูกตัดสิทธิ์ ก็เป็นไปได้ว่า ‘แฟนด้อมส้ม’ อาจจะเปลี่ยนเป็น ‘ม็อบส้ม’ แค่สัญญาณ 3 นิ้วชูเหนือหัวพลพรรคก้าวไกล ก็เป็นได้...

‘ก้าวไกล’ ยื่นร่างแก้ ม.272 คืนอำนาจเลือกนายกฯ ให้ ปชช. ชี้!! เป็นทางออกที่ดีที่สุด เชื่อ!! ‘ส.ส. - ส.ว.’ พร้อมสนับสนุน

(14 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยมี วันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับเอกสาร สาระสำคัญของร่างคือ การยกเลิกมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ชัยธวัชกล่าวว่า ส.ส. พรรคก้าวไกลได้เข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญ เสนอร่างฉบับนี้เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกฯ ให้แก่ประชาชน เนื่องจากการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ปรากฏชัดว่ามี ส.ว.งดออกเสียงถึง 159 คน ไม่มาประชุมอีก 43 คน หลายคนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ประสงค์ใช้อำนาจทำหน้าที่เลือกนายกฯ ขอให้เป็นเรื่องของ ส.ส. ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง

ส.ส.พรรคก้าวไกลในฐานะสมาชิกรัฐสภา จึงเสนอทางออกให้ ส.ว.ในเมื่อท่านไม่ประสงค์จะใช้อำนาจนี้ด้วยความกระอักกระอ่วนใจหรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม ในการโหวตพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ทางนี้จึงจะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ทั้ง ส.ว.ทั้งระบบรัฐสภาของประเทศ ทำให้การเมืองไทยเดินหน้าต่อไปได้ และมีรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุด

เลขาธิการพรรคก้าวไกลชี้แจงต่อคำถามของผู้สื่อข่าวด้วยว่า คาดว่าระยะเวลาที่รัฐสภาพิจารณาร่างฉบับนี้ ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพราะเสนอแก้ไขเพียงมาตราเดียว และการพิจารณาสามารถดำเนินการคู่ขนานกับการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ได้ โดยหลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะดำเนินการขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ต่อไป

พร้อมกับย้ำว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิก ม.272 ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเสนอหลายครั้งในสภาชุดที่แล้ว และ ส.ส. พรรคที่เป็นฝั่งรัฐบาลในเวลานั้น เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ ก็เคยออกเสียงสนับสนุน รวมถึง ส.ว. มากกว่า 60 คนก็เคยเห็นชอบ จึงเชื่อว่าครั้งนี้ไม่น่ามีปัญหา

ทั้งนี้ ได้แจ้งการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อพรรคเพื่อไทยเป็นการเบื้องต้นแล้ว เนื่องจากพรรคก้าวไกลต้องการให้กระบวนการนี้ใช้เวลาสั้นที่สุด จึงไม่สามารถรอให้สมาชิกจากพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลพรรคอื่นๆ มาร่วมเซ็นด้วย ดังนั้น การที่พรรคก้าวไกลยื่นร่างนี้เพียงพรรคเดียว ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยและอีก 6 พรรค จะไม่เห็นด้วยหรือขัดข้องแต่อย่างใด

“ในเมื่อ ส.ว.มีมโนธรรมสำนึกว่าท่านไม่สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้น เพื่อให้ท่านไม่ต้องทำอะไรที่ขัดกับมโนธรรมสำนึก ก็แก้ไขยกเลิกมาตรานี้เสีย เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกให้ประชาชน และเมื่อประชาชนตัดสินใจไปแล้ว จะถูกจะผิดอย่างไรท่านก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะท่านอ้างว่าถ้าตัดสินใจก็ต้องรับผิดชอบ ท่านจึงไม่ตัดสินใจ หนทางนี้จึงเป็นการหาทางออกให้ทุกฝ่าย เป็นทางออกที่ดีที่สุด และต้องถามไปยัง ส.ว.หลายท่านที่ได้แสดงออกมาก่อนหน้านี้ว่าตนเองไม่อยากเกี่ยวข้องกับการเลือกนายกฯ ท่านยินดีหรือไม่ที่จะช่วยกันเอาอำนาจของท่านออกไป และคืนอำนาจนี้ให้ประชาชน” ชัยธวัช กล่าว

ด้านประธานรัฐสภากล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่สภาตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของเอกสาร โดยจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพราะถือว่าเป็นเรื่องด่วน

‘ต่าย ชุติมา’ เล่าถึงความรักครั้งเก่าสุดโรแมนติก อดีตคนรัก ‘จูบเท้า’ ด้วยความรักทะนุถนอม

ไม่ว่าจะขยับตัวไปทางไหนหรือทำอะไร ก็ถูกจับตามองอย่างหนัก สำหรับนักแสดงลูกหนึ่ง ‘ต่าย ชุติมา’ ที่ถูกโฟกัสความสัมพันธ์กับอดีตสามี ‘ทิม พิธา’ ก่อนหน้านี้ทั้งคู่ได้มีโมเมนต์ครอบครัวสุดน่ารักร่วมกัน พร้อมหน้าลูกสาวสุดที่รัก ‘น้องพิพิม’ ทำให้แฟนๆ หลายคนต่างส่งเสียงเชียร์คู่ ‘ทิม-ต่าย’ กลับมาเป็นครอบครัวเดียวกันอีกครั้ง แม้ว่าทั้งคู่จะออกมายืนยันสถานะในตอนนี้ว่า เป็นเพียงพ่อแม่ที่ดีของลูกสาวเท่านั้น

ล่าสุดสาว ต่าย ชุติมา ได้ไปเป็นแขกรับเชิญในรายการ ‘ซานิเบาได้เบา’ ของ ‘ซานิ นิภาภรณ์’ งานนี้เปิดเรื่องราวรักครั้งเก่า แม้จะจบลงไม่สวย แต่ตอนนี้ทั้งคู่ก็สามารถเจอหน้า ทักทายกันได้ตามปกติ 

>>ช่วงที่ต้องทำหน้าที่แม่และภรรยาที่ดี จนหายหน้าไปจากวงการ เป็นอย่างไรบ้าง 

ต่าย : “10 ปีที่ผ่านมา กิจวัตรประจำวันคือ ทำอาหารเช้า ดูแลลูก ดูแลบ้าน เราต้องอยู่ในระบบระเบียบ เพราะเขาอยากให้เป็นอย่างนั้น กลับบ้านต้อง 6 โมงเย็น เราเคยคิดว่าน่าจะเกิดจากความหึงหวง เรื่องรับงาน พวกบทมองตากันก็ไม่ได้ ทำให้เรารับเล่นไม่ได้อีก คือเราเป็นคนตามใจแฟนไง เลยตัดสินใจไม่รับงานเลย”

>>เรียกว่ากับอดีตสามี ไม่มีทางรีเทิร์นเลย

ต่าย : “ไม่มี มั้ง (หัวเราะ) ถามว่ามีขอคืนดีไหม มีแนวแบบชวนไปเที่ยว ครอบครัวพร้อมหน้า แต่ไม่น่ามีอะไร”

>> ข่าวที่ผ่านมา อาจมองว่าเราไม่น่าคุยกันได้แล้ว แต่วันนี้กลับมาคุยกันได้
ต่าย :  “เราเป็นคนโกรธง่ายหายเร็วมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เล่าหรือวันนี้มานั่งเล่าอะไร คือเล่าด้วยความไม่รู้สึกอะไรแล้ว ถามว่าเขาเคยเห็นที่เราพูดออกไปแล้วโกรธ น้อยใจ แล้วเคยพูดบ้างไหม เขาไม่เคยพูด แต่ลึก ๆ เรารู้ เพราะรู้นิสัย”

>>โมเมนต์สุดโรแมนติก อดีตสามีคลั่งรักไม่แพ้กัน 

ต่าย : “เห็นเราคลั่งรักแบบนี้ แต่ตอนที่อยู่คนละประเทศ เราก็คุยกันวันละชั่วโมงเองนะ แต่ตื่นมาถ้ามีข้อความทิ้งไว้ว่าไปไหน ทำอะไร เราก็โอเค สิ่งที่เขาทำแล้วรู้สึกว่าโรแมนติก เป็นการ ‘จูบเท้า’ จูบด้วยความทะนุถนอมนะ ไม่ใช่แนว 18+ เราก็ลูบหัวกลับ เราชอบดูการ์ด แต่ก็ไม่รู้อีกว่าเขียนจากใจหรือเปล่า ประมาณเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า เวลาที่ฉันคิดถึงเธอ จะมีดอกไม้ขึ้นมาดอกหนึ่ง ตอนนี้ดอกไม้มันคงเป็นสวนแล้ว เหมือนมีครั้งหนึ่ง ให้การ์ดปกเดียวกัน คนหนึ่งซื้ออังกฤษ อีกคนซื้อไทย แล้วมาแลกในวันเดียวกัน แบบใจตรงกัน อันนี้น่ารัก

ส่วนเรื่องแย่ ๆ เราลืมเก่งมาก แต่ก็มีคนบอกว่าแบบนี้มันคือควาย แบบกินหญ้าอะ ในตอนนั้นเขาก็พยายามทำให้ครอบครัวกลับมาเหมือนเดิม ส่วนเราคือไม่ เพราะรู้สึกว่าสุดแล้ว ทุกวันนี้เราแบ่งกันเลี้ยงลูกชัดเจน ซึ่ง ต่าย เป็นคนเสนอเรื่องโมเมนต์พ่อแม่ลูก เพราะอยากทำให้ลูกตั้งนานแล้ว ซึ่งตอนแรกเขาอาจจะยังไม่พร้อม ถามว่าจะมีให้เห็นอีกไหม น่าจะเป็นวันสำคัญ ๆ เช่นวันเกิดลูก คนเชียร์ให้กลับมาเยอะมาก เยอะจนคนไม่กล้าเข้ามาอะ

แต่กว่าเราจะมูฟออนได้ก็ 3 ปีนะ คนที่เรียกว่าแฟนเลย มีคนเดียว คนคุยที่ผ่านมาก็ประมาณ 5 คน คนที่เป็นแฟน เพราะเขาทำให้เราลืมอดีตได้เลย อันนี้คือรู้สึกว่าใช่ หน้าตาก็สเปกอยู่นะ ขาวๆ ตี๋ๆ อ้วนผอมได้หมด”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top