
‘Thailand Spring’ ไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) ที่ผู้เขียน มโน จินตนาการ ขึ้นมาเอง แต่ด้วยเหตุการณ์ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองอันเป็นที่รักยิ่งของเราในห้วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา มีรูปแบบลักษณะความเป็นไปที่เป็นเช่นนั้น ซึ่งเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้นำเสนอดังต่อไปนี้
หลังจากเหตุการณ์ Arab Spring เมื่อราว 12 ปีก่อน อันเกิดจากสาเหตุมากมายหลายสาเหตุในประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง อันได้แก่ ลัทธิอำนาจนิยม ระบอบเผด็จการ ปัญหาโครงสร้างประชากร ปัญหาพลังงานในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 2000 การทุจริตของนักการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การว่างงาน ภาวะเงินเฟ้อ ความยากจน ฯลฯ
โดยมีเป้าหมายคือ ลัทธิอิสลามนิยม ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เสรีภาพทางการค้า สิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ฯลฯ ด้วยวิธีการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การดื้อแพ่งขัดขืน การต่อต้านและการเดินขบวนประท้วงของประชาชน การนัดหยุดงาน การจลาจล การเคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ตในสื่อสังคมออนไลน์ การประท้วงเงียบ การก่อจลาจล การเผาตนเอง การปฏิวัติ-รัฐประหาร การกบฏ และสงครามกลางเมือง ฯลฯ
ผลที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ Arab Spring ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ อาทิ :

‘ตูนีเซีย’ เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2010 รัฐบาลถูกโค่นล้มเมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2011 ทำให้ นายกรัฐมนตรี Ghannouchi ลาออก ประธานาธิบดี Zine El Abidine Ben Ali ต้องลี้ภัยไปซาอุดีอาระเบีย มีการยุบสภาการเมือง เกิดการสลายตัวของพรรค RCD ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ของตูนิเซียและมีการตรวจสอบทรัพย์สินของพรรค มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 2011

‘อียิปต์’ เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2011 ประธานาธิบดี Hosni Mubarak ถูกโค่น ต่อมาภายหลังถูกตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาคอร์รับชัน (รวมทั้งครอบครัวของเขา และอดีตรัฐมนตรีของเขา) และถูกดำเนินคดีในข้อหาสั่งการให้ปราบปรามสังหารผู้ประท้วง หน่วยสืบสวนความมั่นคงของรัฐ การยุบพรรค NDP ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ของอียิปต์ การยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของรัฐ การยกเลิกภาวะฉุกเฉินที่ใช้มา 31 ปี

‘ลิเบีย’ เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 (การประท้วงครั้งใหญ่เริ่มขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011) รัฐบาลถูกโค่นล้มเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 2011 เกิดวิกฤติขึ้น Muammar Gaddafi ผู้นำเผด็จการถูกกองกำลังกบฏสังหาร เกิดการก่อจลาจลด้วยการแทรกแซงทางทหารที่ได้รับคำสั่งจากสหประชาชาติ จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบในเวลาต่อมา

‘ซีเรีย’ เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 2011 (การประท้วงครั้งใหญ่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 2011) ประธานาธิบดี Bashar al-Assad เผชิญหน้ากับการต่อต้านของพลเรือน ทำให้เกิด การจลาจลในเมือง เกิดการแปรพักตร์ครั้งใหญ่ของทหารจากกองทัพซีเรียและมีการปะทะกันระหว่างทหารของรัฐบาลและผู้แปรพักตร์ การก่อตัวของกองทัพซีเรียเสรีนำไปสู่สงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบ ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา

เหตุการณ์ Arab Spring มีทั้งทำเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เปลี่ยนแปลงปานกลาง เปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย อาทิ ซาอุดีอาระเบีย ตามแต่ขนาดของความขัดแย้งและการประท้วง ซึ่งต่อมา Wael Ghonim ผู้นำเหตุการณ์ Arab Spring ในโลกโซเชียลของอียิปต์ ได้ออกมากล่าวว่า มีความท้าทายที่เข้าขั้นวิกฤตอยู่ 5 เรื่อง ในการเผชิญต่อสื่อสังคมออนไลน์เช่นทุกวันนี้
