‘Thailand Spring’ ความพยายามที่ไม่มีวันสำเร็จ ตราบที่คนไทยยังยึดมั่นใน 3 สถาบันหลักของแผ่นดิน


‘Thailand Spring’ ไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) ที่ผู้เขียน มโน จินตนาการ ขึ้นมาเอง แต่ด้วยเหตุการณ์ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองอันเป็นที่รักยิ่งของเราในห้วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา มีรูปแบบลักษณะความเป็นไปที่เป็นเช่นนั้น ซึ่งเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้นำเสนอดังต่อไปนี้

หลังจากเหตุการณ์ Arab Spring เมื่อราว 12 ปีก่อน อันเกิดจากสาเหตุมากมายหลายสาเหตุในประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง อันได้แก่ ลัทธิอำนาจนิยม ระบอบเผด็จการ ปัญหาโครงสร้างประชากร ปัญหาพลังงานในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 2000 การทุจริตของนักการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การว่างงาน ภาวะเงินเฟ้อ ความยากจน ฯลฯ 

โดยมีเป้าหมายคือ ลัทธิอิสลามนิยม ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เสรีภาพทางการค้า สิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ฯลฯ ด้วยวิธีการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การดื้อแพ่งขัดขืน การต่อต้านและการเดินขบวนประท้วงของประชาชน การนัดหยุดงาน การจลาจล การเคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ตในสื่อสังคมออนไลน์ การประท้วงเงียบ การก่อจลาจล การเผาตนเอง การปฏิวัติ-รัฐประหาร การกบฏ และสงครามกลางเมือง ฯลฯ

ผลที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ Arab Spring ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ อาทิ : 

‘ตูนีเซีย’ เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2010 รัฐบาลถูกโค่นล้มเมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2011 ทำให้ นายกรัฐมนตรี Ghannouchi ลาออก ประธานาธิบดี Zine El Abidine Ben Ali ต้องลี้ภัยไปซาอุดีอาระเบีย มีการยุบสภาการเมือง เกิดการสลายตัวของพรรค RCD ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ของตูนิเซียและมีการตรวจสอบทรัพย์สินของพรรค มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 2011

‘อียิปต์’ เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2011 ประธานาธิบดี Hosni Mubarak ถูกโค่น ต่อมาภายหลังถูกตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาคอร์รับชัน (รวมทั้งครอบครัวของเขา และอดีตรัฐมนตรีของเขา) และถูกดำเนินคดีในข้อหาสั่งการให้ปราบปรามสังหารผู้ประท้วง หน่วยสืบสวนความมั่นคงของรัฐ การยุบพรรค NDP ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ของอียิปต์ การยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของรัฐ การยกเลิกภาวะฉุกเฉินที่ใช้มา 31 ปี  

‘ลิเบีย’ เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 (การประท้วงครั้งใหญ่เริ่มขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011) รัฐบาลถูกโค่นล้มเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 2011 เกิดวิกฤติขึ้น Muammar Gaddafi ผู้นำเผด็จการถูกกองกำลังกบฏสังหาร เกิดการก่อจลาจลด้วยการแทรกแซงทางทหารที่ได้รับคำสั่งจากสหประชาชาติ จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบในเวลาต่อมา  

‘ซีเรีย’ เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 2011 (การประท้วงครั้งใหญ่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 2011) ประธานาธิบดี Bashar al-Assad เผชิญหน้ากับการต่อต้านของพลเรือน ทำให้เกิด การจลาจลในเมือง เกิดการแปรพักตร์ครั้งใหญ่ของทหารจากกองทัพซีเรียและมีการปะทะกันระหว่างทหารของรัฐบาลและผู้แปรพักตร์ การก่อตัวของกองทัพซีเรียเสรีนำไปสู่สงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบ ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา 

 

เหตุการณ์ Arab Spring มีทั้งทำเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เปลี่ยนแปลงปานกลาง เปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย อาทิ ซาอุดีอาระเบีย ตามแต่ขนาดของความขัดแย้งและการประท้วง ซึ่งต่อมา Wael Ghonim ผู้นำเหตุการณ์ Arab Spring ในโลกโซเชียลของอียิปต์ ได้ออกมากล่าวว่า มีความท้าทายที่เข้าขั้นวิกฤตอยู่ 5 เรื่อง ในการเผชิญต่อสื่อสังคมออนไลน์เช่นทุกวันนี้ 

เรื่องแรก พวกเราไม่รู้ว่า จะจัดการพวกข่าวลือยังไง ข่าวลือที่ออกมาสนองตอบต่ออคติของผู้เสพ กลายเป็นข่าวที่คนเชื่อและแพร่กระจายไปยังผู้คนนับล้าน 

เรื่องที่สอง เราสร้างการรับข่าวสารข้างเดียวของเราเอง เรามักเลือกที่จะสื่อสารเฉพาะกับกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเรา และต้องขอบคุณสื่อสังคมออนไลน์ เพราะ เราสามารถ ปิดการแจ้งเตือน ยกเลิกการติดตาม และปิดกั้นใครก็ได้ 

เรื่องที่สาม การสนทนาออนไลน์ลุกลามรวดเร็วจนกลายเป็นกลุ่มผู้ประท้วงที่เกรี้ยวกราด เราทุกคนน่า

จะรู้อยู่แก่ใจว่า มันเหมือนราวกับ พวกเราลืมไปแล้วว่า คนที่อยู่เบื้องหลังจอนั้น ก็คือคนจริง ๆ นั่นแหละ ไม่ใช่แค่รูปตัวแทน 

เรื่องที่สี่ มันยากมากที่จะเปลี่ยนความคิดเห็นของพวกเรา เพราะว่า ความรวดเร็วและกระชับของสื่อสังคมออนไลน์ เราถูกบังคับให้พุ่งประเด็นไปที่ข้อสรุป และเขียนความเห็นสั้น ๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ซับซ้อนบนโลก และเมื่อเราเขียนมันแล้ว มันจะปรากฏอยู่บนอินเตอร์เน็ตตลอดกาล และเรามีแรงน้อยมากในการเปลี่ยนแปลงมุมมองเหล่านี้ แม้ว่าจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ ก็ตาม 

เรื่องที่ห้า และในมุมมองของ Wael Ghonim เองคือ เรื่องที่วิกฤตที่สุด ทุกวันนี้ประสบการณ์ในการใช้สังคมออนไลน์ถูกออกแบบด้วยแนวทางที่เน้นการแพร่กระจายข่าวสารมากกว่าการมีส่วนร่วมกับผู้ชม ชอบการโพสต์มากกว่าการถกประเด็น ชอบความเห็นอันตื้นเขินมากกว่าการสนทนาที่ลึกซึ้ง เหมือนกับเรายอมรับว่า เราอยู่ตรงนี้เพื่อพูดจาใส่กัน แทนที่จะพูดคุยร่วมกัน Wael Ghonim ได้เห็นเป็นพยานแล้วว่า เรื่องท้าทายนี้ส่งผลอย่างไรต่อสังคมอียิปต์ที่แตกแยกไปเรียบร้อยแล้ว แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของอียิปต์เพียงประเทศเดียว การแบ่งขั้วอำนาจ แบ่งข้าง แบ่งฝ่าย กำลังเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก 

(ที่มา : คำสารภาพของ วาเอล โกนิม (Wael Ghonim) ผู้นำอาหรับสปริง ในโลกโซเชียลของอียิปต์ https://thestatestimes.com/post/2021041005)

เหตุการณ์ Arab Spring ในตะวันออกกลางทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ มีการเปลี่ยนแปลงบ้างในบางประเทศ กระทั่งรุนแรงจนลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองใน 4 ประเทศคือ ซีเรีย อิรัก ลิเบีย และเยเมน จวบจนทุกวันนี้ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โดยตรงทั้งสิ้นราว 61,000 คน (ไม่รวมผู้ที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองซึ่งมากกว่าหลายเท่า และผู้อพยพหนี้ภัยสงครามอีกหลายล้านคน)  

หลังจากเกิดขึ้นในตะวันออกกลางแล้ว รูปแบบลักษณะความเป็นไปของเหตุการณ์เยี่ยงนี้ก็เกิดขึ้นในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง กรณีเรียกร้องให้มีการถอดถอน ‘ร่างรัฐ บัญญัติกฎหมายผู้หนีคดีและความช่วยเหลือร่วมกันทางกฎหมายในคดีอาญา (แก้ไขเพิ่มเติม) ค.ศ. 2019’ (Fugitive Offenders and Mutual Legal Assistance in Criminal Matters Legislation (Amendment) Bill 2019) โดยแนวร่วมสิทธิมนุษยชนพลเมืองจัดประท้วงครั้งแรกในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2019 


เป้าหมายของข้อเรียกร้อง 5 ประการได้แก่ 
1) ให้ถอนร่างรัฐบัญญัติทั้งหมด
2) ให้รัฐบาลเลิกระบุว่าการประท้วงในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2019 เป็น ‘จลาจล’
3) ให้ปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับและให้พ้นผิด ให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนพฤติกรรมของตำรวจ
4) ให้ Carrie Lam ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงในขณะนั้นลาออก
และ 5) ประชาชนมีสิทธิทั่วกันในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติและผู้บริหารสูงสุด

ผู้ประท้วงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายชาติตะวันตกใช้สารพัดวิธีการในการประท้วงจนเกิดจลาจลขึ้นหลายครั้ง แต่การปราบปรามอย่างเอาจริงเอาจังของรัฐบาลทำให้ 

1) มีการดำเนินการตามกฎหมายห้ามสวมหน้ากากและเรียกร้องให้ใช้กฎหมายฉุกเฉิน ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2019
2) คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2020
3) มีการถอดถอนผู้สมัครสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่สนับสนุนประชาธิปไตย 12 คนในการเลือกตั้งประจำปี ค.ศ. 2020 ที่ถูกเลื่อน
 

4) มีการจับกุมคนสำคัญที่เป็นผู้ประท้วงและสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติที่สนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วง
5) มีการบังคับใช้คำสั่งของฝ่ายบริหารที่ 13936 ในวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 2020
6) สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเยอรมนียกเลิกสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกง
7) ไต้หวันเรียกรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปและคนอื่น ๆ กลับจากฮ่องกง
 

8) ฮ่องกงตั้งประกาศจับผู้ประท้วงที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ 6 คน รวมถึง Nathan Law ซึ่งลี้ภัยไปอยู่ในสหราชอาณาจักร
9) ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ และ จีน-สหราชอาณาจักรแย่ลง
และ 10) มีการคว่ำบาตรและการลงโทษครั้งที่สองต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนจากชาติตะวันตกที่สนับสนุนบรรดากลุ่มผู้ประท้วง 

แต่เรื่องราวที่ผู้คนทั้งโลกไม่รู้ ละเลย หรือไม่สนใจคือ ฮ่องกงในระหว่างที่เป็นดินแดนอาณานิคมภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรจนถึงปี ค.ศ. 1997 นั้น สหราชราชอาณาจักรเองแทบไม่ได้ใช้หลักการประชาธิปไตยในการปกครองฮ่องกงเลย จนกระทั่งช่วงท้าย ๆ ก่อนที่สหราชราชอาณาจักรจะต้องส่งมอบฮ่องกงกลับคืนให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงมีท่าทีที่แสดงออกถึงความห่วงใยในระบอบประชาธิปไตยของชาวฮ่องกง


เรื่องราวและเหตุการณ์ที่มีรูปแบบและลักษณะเช่นเดียวกันได้เกิดขึ้นในบ้านเราในเวลาเดียวกับที่เกิดขึ้นตั้งแต่ Arab Spring และ การประท้วงในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง โดยมีชาติตะวันตกบางชาติสนับสนุนอย่างชัดแจ้ง โดยในบ้านเรานอกจาก การประท้วงรัฐบาลจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จนกระทั่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 ยังนำกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาธรรมดามาตราหนึ่งซึ่งใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่เคยมีปัญหาใด ๆ มาก่อน กระทั่งชาติมหาอำนาจตะวันตกเห็นว่า บริบทความเป็นประชาธิปไตยแบบไทยนั้น ไม่ใช่ประชาธิปไตยตามคตินิยมของมหาอำนาจตะวันตกชาตินั้นจึงมีการยุยงปลุกปั่นให้คนรุ่นใหม่สับสนและหลงผิดในความรู้ความเข้าใจและความเป็นประชาธิปไตย และพยายามทำให้สถาบันหลักของชาติไทยเกิดความอ่อนแอ โดยเริ่มจากสถาบันพระมหากษัตริย์ 

โดยหยิบยกเอาการดำเนินคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นเป้าในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่ประมุขแห่งรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาปกติที่ใช้กันในทุกประเทศ แม้กระทั่งในประเทศมหาอำนาจตะวันตกชาติใด ๆ ก็ตาม 

เรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้ง 

1) กลุ่มคนที่ไม่หวังดีกับชาติบ้านเมือง
และ

2) กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ถูกคนกลุ่มแรกหลอกและเสี้ยมให้กระทำความผิดจนถูกดำเนินคดี 

โดยที่กลุ่มคนที่ไม่หวังดีกับชาติบ้านเมืองกลุ่มแรกซึ่งมาจากบุคคลหลายกลุ่มอาชีพนั้นถูกดำเนินคดีน้อยมาก ความพยายามในการต่อต้านกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยหวังผลที่จะทำให้สถาบันหลักของชาติทั้งสามอ่อนแอ โดยเริ่มจากสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจและหลักชัยของบ้านเมืองมาร่วมพันปีแล้ว พร้อมกันนั้นยังพยายามทำให้สถาบันศาสนาอ่อนแอ และพยายามสร้างความแตกแยกระหว่างชาวไทยศาสนิกต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งความอ่อนแอของสองสถาบันหลักแรกจะนำมาซึ่งความแตกแยกของสถาบันหลักสำคัญที่สามของบ้านเมืองคือ สถาบันชาติ อันประกอบด้วยประชาชนคนไทยทั้งหมดทั้งมวล 

ความน่าสมเพชของคนทั้งสองกลุ่มคือ การเรียกร้องประชาธิปไตยทั้ง ๆ ที่รัฐบาลและรัฐสภาล้วนแล้วแต่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น อีกทั้งการต่อต้านกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นความพยายามในการให้เกิดการมีอภิสิทธิเหนือกฎหมาย โดยจะทำให้การกระทำที่ผิดกฎหมายไม่เป็นความผิด ดังนั้นกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มจึงไม่มีความเป็นประชาธิปไตยในตัวเอง ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น จึงไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักการประชาธิปไตยแต่อย่างใดเลย 

เจตนาที่แท้จริงของชาติมหาอำนาจตะวันตกคือ การกล่าวอ้างระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลหุ่นเชิดตามนโยบายของชาติมหาอำนาจตะวันตกในทุกวิถีทางกระทั่งสงครามกลางเมือง ซึ่งเราคนไทยทุกคนต้องรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองรวมทั้งกลุ่มคนที่หลงผิด และไม่เป็นเครื่องมือของชาติมหาอำนาจตะวันตกที่หวังเพียงผลประโยชน์ของตนโดยไม่สนใจถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากจากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อคนนับล้าน ๆ บนโลกใบนี้ 

สิทธิ เสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตยของโลกใบนี้ ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้กฎหมาย อันเป็นกฎระเบียบที่ทำให้ผู้คนซึ่งเป็นสมาชิกในสังคมนั้น ๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและมีสันติทั้งสิ้น เมื่อรู้สึก รัก หวงแหน สิทธิ เสรีภาพ ของตนเอง ย่อมต้องเคารพ ให้เกียรติ โดยไม่ล่วงละเมิด สิทธิ เสรีภาพ ของผู้อื่นด้วย ความเป็น

ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงแค่กฎหมายในกระดาษบนพานรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่จิตวิญญาณของผู้คนในสังคมต้องเข้าใจและเคารพในความเป็นประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ นั่นคือประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของคนทั้งหมดทั้งมวล ไม่ใช่เพียงเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แม้จะคนกลุ่มนั้นเป็นคนหมู่มากก็ตาม ผู้เขียนมั่นใจว่า ตราบเท่าที่จิตสำนึกของคนไทยส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติทั้งสาม มีความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง ยึดถือประโยชน์ของส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตนแล้ว Thailand Spring จะเป็นเพียงความพยายามที่ไม่มีวันสำเร็จในบ้านเมืองของเราอย่างแน่นอน  


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ