Wednesday, 2 July 2025
ค้นหา พบ 49135 ที่เกี่ยวข้อง

กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ความคืบหน้าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ในภาพรวมสถานการณ์โควิดประเทศไทยลดลงอย่างมากในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา จังหวัดส่วนใหญ่ควบคุมการระบาดได้แล้ว ยกเว้น จ.สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ

โดยข้อเสนอการปรับพื้นที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ โดยศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินของกระทรวงสาธารณสุข (ศปก.สธ.) ได้สรุปเป็นข้อเสนอดังนี้

ใช้รูปแบบจังหวัดแนวกันชน กับจังหวัดที่มีความเสี่ยงที่จะมีการกระจายโรคไปพื้นที่อื่นๆ แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ 1.ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 2.ควบคุมสูงสุด 3.ควบคุม 4.เฝ้าระวังสูงสุด และ 5.เฝ้าระวัง

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า โดยจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ จำนวนน้อย และรายอำเภอมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคภายในและนอกจังหวัดต่างกัน เราให้หลักเกณฑ์จังหวัดอาจพิจารณาให้สีที่สูงกว่าสีของจังหวัดหรือตำกว่าได้ 1 ระดับ เพราะในบางพื้นที่ถ้ามีหลักฐานชัดเจนว่าสถานการณ์แต่ละอำเภอไม่เท่ากัน ภายในจังหวัดอาจจะให้สีที่ต่างไปจากสีของจังหวัดในภาพรวม โดยมีหลักเกณฑ์ดูสถานการณ์การระบาดในจังหวัด จังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการลักลอบเดินทางเข้าประเทศก็นำมาพิจารณาด้วยว่าจะให้สีอะไรในจังหวัดนั้น รวมถึงมาตรการเชิงรุกในชุมชนมีสัดส่วนการติดเชื้อมากหรือน้อย ระดับเท่าไหร่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ หรือระดับ 1-5 เปอร์เซ็นต์

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการปิด-เปิด สถานที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ใน จ.สมุทรสาคร สถานที่ให้ปิดและเข้มงวดการควบคุมกำกับ ได้แก่ สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์คาราโอเกะ, สนามมวย สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ยิม ฟิตเนส ,สนามชนไก่ ชนวัว กัดปลา บ่อน สนามพระเครื่อง, กิจการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย ,โรงเรียน โรงเรียนกวดวิชา สถาบันการศึกษา ,สนามเด็กเล่น สวนสนุก เครื่องเล่นเด็ก ตู้เกมส์ ร้านเกมส์ ร้านอินเตอร์เน็ต ,การประชุม งานเลี้ยง กิจกรรมประเพณีที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก การจัดงานแสดงสินค้า และสถานีขนส่งสาธารณะ

ส่วนการเปิดสถานที่ เข้มงวดมาตรการป้องกันโรค ได้แก่ ตลาด ตลาดนัด จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และกำกับการเว้นระยะห่าง , ร้านอาหารให้ซื้อกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น และเปิดไม่เกิน 21.00 น. , ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า จำกัดเวลาเปิดไม่เกิน 21.00 น. , ศูนย์เด็กเล็กและสถานที่พักผู้สูงวัย เฉพาะเข้าพักเป็นการประจำ , สถานประกอบการ โรงงาน พร้อมกำกับมาตรการป้องกันโรคในองค์กร จัดให้มีระบบติดตามตัวของผู้เดินทางเข้าออกทุกคน

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สำหรับแนวทางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ในกลุ่มสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ในพื้นที่สีแดงให้ซื้อกลับไปทานที่อื่น พื้นที่ควบคุมนั่งทานอาหารได้แบบเว้นระยะห่างไม่เกิน 23.00 น. จำกัดเวลาจำหน่าย ดื่มสุรา ไม่เกิน 23.00 น. แสดงดนตรีได้งดการเต้นรำ พื้นที่เฝ้าระวังสูงจำกัดเวลาจำหน่าย ดื่มสุราไม่เกิน 24.00 น. ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังเปิดบริการได้ จำกัดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด จำหน่าย ดื่มสุราในร้านตามที่กฎหมายกำหนด แสดงดนตรี เต้นรำ เน้นการเว้นระยะห่าง เป็นต้น

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ในส่วนร้านอาหาร จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานอาหารได้ จำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดจำกัดเวลาไม่เกิน 23.00 น. งดดื่มสุราในร้าน (ซื้อกลับบ้านได้) พื้นที่ควบคุมจำกัดเวลาจำหน่าย ดื่มสุราไม่เกิน 23.00 น. พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด จำกัดเวลาจำหน่าย ดื่มสุราไม่เกิน 24.00 น. และพื้นที่เฝ้าระวังเปิดบริการได้ จำกัดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ

ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ทั้งพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด และพื้นที่เฝ้าระวัง ให้เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ ภายใต้มาตรการที่กำหนด งดจัดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากในสถานที่ จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ขณะที่ศูนย์แสดงสินค้าศูนย์ประชุม จัดนิทรรศการ เปิดให้บริการได้ตามเวลาปกติภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่กำหนด จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมตามขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ตรม./คน ซึ่งทั้งหมดเป็นฉบับร่างที่จะนำเสนอในการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการในวันศุกร์ที่ 29 ม.ค.นี้

บมจ.การบินไทย (THAI) แจ้งว่าศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการส่งแผนฟื้นฟูกิจการออกไปจนถึงวันที่ 2 มี.ค.64 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งสุดท้ายตามที่กฎหมายกำหนด

โดยหลังจากนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแต่งตั้งผู้บริหารแผน และบริษัทฯจะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและจะแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าใด ๆ ในการฟื้นฟูกิจการรวมถึงความคืบหน้าอื่นเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และศาลล้มละลายกลาง

อนึ่ง เมื่อวันที่ 25 ม.ค.64 ผู้ทำแผนได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอขยายระยะเวลาการส่งแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่มเติมตามมาตรา 90/43 วรรคสอง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) โดยขอขยายระยะเวลาส่งแผนออกไปอีกเป็นเวลา 1 เดือนนับแต่วันครบกำหนดเดิม

เนื่องจากผู้ทำแผนจำเป็นต้องรวบรวมข้อเสนอแนะและความเห็นของเจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ที่มีต่อหลักการของร่างแผนฟื้นฟูกิจการและแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาของร่างแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนต่างๆให้สมบูรณ์และครอบคลุม เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเห็นพ้องในหลักการของแผนฟื้นฟูกิจการ

และเพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการได้รับการเห็นชอบด้วยแผนจากที่ประชุมเจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ เพื่อรวบรวมความเห็นดังกล่าวประกอบกับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ประกอบด้วยส่วนที่เป็นสาระสำคัญหลายรายการ บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องพิเคราะห์พิจารณาอย่างถี่ถ้วนซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ได้มาซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการฉบับสมบูรณ์นั้นจำเป็นต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท เมื่อวันที่ 27 พ.ค.63 และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ ดำเนินการฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 63 ซึ่งครบกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามกฎหมายที่ผู้ทำแผนต้องส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ในวันที่ 2 ม.ค.64 ซึ่งผู้ทำแผนได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอขยายระยะเวลาการส่งแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการส่งแผนฟื้นฟูกิจการออกไปจนถึงวันที่ 2 ก.พ. 64

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ถึงภาพรวมเหตุการณ์โควิด-19 ในรอบ 1 ปีไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีเนื้อหาว่า...

เราวิ่งมาราธอนมาถึงครึ่งทางแล้ว เราน่าจะผ่านจุดสูงสุดและกำลังวิ่งในครึ่งทางหลัง ใน 1 ปีที่ผ่านมาสรุปได้ว่า

1.) โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่รุนแรงและกว้างขวางทั่วโลกในรอบ 100 ปีนับจากไข้หวัดใหญ่สเปน

2.) โรคได้ระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกพบในทุกประเทศเริ่มจากอู่ฮั่น

3.) ทางตะวันตกระบาดมากกว่าทางตะวันออก ทั้งนี้เพราะทางตะวันออกน่าจะกลัวตายมากกว่าทางตะวันตก มีการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด

4.) ไม่ว่าจะปิดประเทศหรือไม่เปิดประเทศ เศรษฐกิจตกต่ำกันถ้วนหน้า การเดินทางระหว่างกันและกันลดลง

5.) ความรุนแรงของโรคจะพบในผู้สูงอายุและมีปัจจัยเสี่ยงในเด็กความรุนแรงน้อยกว่าผุ้ใหญ่และผู้สูงอายุ

6.) อัตราตายโดยเฉลี่ยประมาณ 2% หรือน้อยกว่า หลังจากที่ทั่วโรคมีรายงาน 100 ล้านคน เชื่อว่ามีผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่มีอาการตกสำรวจจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิต 2.1 ล้านคน

7.) ประมาณหนึ่งในสาม การติดเชื้อเป็นแบบไม่มีอาการจึงยากต่อการควบคุมโรค

8.) วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ได้มีแนวทางปฏิบัติจนคุ้นเคย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กำหนดระยะห่าง

9.) ผลของวิถีชีวิตใหม่ ทำให้โรคระบบทางเดินหายใจลดลงอย่างมาก

10.) เราเริ่มเห็นแสงในการควบคุมหลังจากการพัฒนาวัคซีนและนำไปใช้ได้จริง โดยเริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมจนปัจจุบัน มีการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 60 ล้านโดส

11.) ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ต่อจำนวนประชากรมากที่สุด (1 ใน 3 ของประเทศ) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 ใน 4 ของประชากรใช้วัคซีนเชื้อตายของจีน Shinopham

12.) ประสิทธิผลการป้องกันโรคในอิสราเอลเริ่มเห็นผล ในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีที่ได้รับวัคซีนมีป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ไม่ได้รับวัคซีนถึงร้อยละ 60

13.) แสดงว่าวัคซีนลดการป่วยที่รุนแรง อย่างน้อยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลและลดการเสียชีวิต และเชื่อว่าวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดที่ใช้อยู่ในขณะนี้ก็เช่นเดียวกันสามารถลดความรุนแรงของโรคได้

14.) การลดการระบาดโควิด-19 ได้ ประชากรอย่างน้อยร้อยละ 60 ต้องมีภูมิต้านทานกลุ่ม (Herd Immunity) ภูมิคุ้มกันกลุ่มคิดจากสมการ 1-1/Ro ,Ro คืออำนาจการกระจายโรคที่มีการคำนวณไว้แล้ว อยู่ระหว่าง 2-3 ภูมิคุ้มกันกลุ่มจึงเท่ากับ 1-1/3

15.) เด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ขณะนี้ยังไม่ให้วัคซีนเพราะยังไม่มีการศึกษาในเด็กกลุ่มดังกล่าว และการติดโรคในเด็กมีอาการน้อย

16.) สตรีตั้งครรภ์ วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ยังไม่แนะนำให้ เว้นเสียแต่ถ้ามีการระบาดมากหรือสตรีนั้นมีความเสี่ยงสูง ก็ให้ชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบผลได้และผลเสียและให้ข้อมูลให้ผู้รับวัคซีนตัดสินใจ

17.) การให้วัคซีนพร้อมวัคซีนอื่นโดยหลักการน่าจะให้ได้ แต่วัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่ เมื่อเกิดการแทรกซ้อนจะไม่ทราบว่าเกิดจากวัคซีนอะไร จึงแนะนำให้วัคซีนนี้ห่างจากวัคซีนอื่นอย่างน้อย 14 วัน

18.) วัคซีนโควิด-19 จะให้ 2 ครั้ง ยกเว้นในอนาคตอาจมีวัคซีนให้เพียงครั้งเดียวหรือ 3 ครั้ง ชนิดของวัคซีนที่ให้ควรเป็นวัคซีนยี่ห้อเดียวกันทั้ง 2 เข็ม ไม่ควรสลับยี่ห้อของวัคซีนจนกว่าจะได้มีการศึกษาแล้ว

19.) ถ้าป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้วฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ผู้ที่เป็นโควิด-19 แล้วยังมีข้อมูลยังไม่มากพอและพบว่าผู้ที่มีอาการน้อย ภูมิต้านทานต่ำ และตรวจไม่ได้หลัง 6 เดือน ถ้าจะให้วัคซีนจะต้องให้หายป่วยและพ้นการกักตัวแล้ว ส่วนมากหลังหายจากโรคโควิด-19 ใน 3 เดือนแรก โอกาสจะเป็นโรคเป็นแล้วเป็นอีกเกิดขึ้นได้น้อยมาก

การให้วัคซีนในผู้ที่เป็นโรคมาแล้ว ผู้ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ การให้วัคซีนในกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาหรือข้อห้าม และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจภูมิต้านทานก่อนฉีดแต่อย่างใด และการให้วัคซีนในผู้ที่เคยเป็นโรคมาแล้วไม่มีอันตรายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

20.) เมื่อให้วัคซีนแล้วมีโอกาสติดเชื้อหรือเป็นโรคได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่มีวัคซีนไหนที่ป้องกันได้ 100% เมื่อฉีดวัคซีนแล้วจึงมีโอกาสติดโรคและอาจป่วยได้ หลักฐานปัจจุบันเชื่อว่าวัคซีนทำให้อาการป่วยน้อยลง

21.) ฉีดวัคซีนแล้วคงจะต้องปฏิบัติตนแบบวิถีชีวิตใหม่จนกว่าประชากรส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมีภูมิต้านทานและไม่มีการระบาดของโรค ดังนั้นจึงยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และกำหนดระยะห่างของบุคคลและสังคมต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ


ที่มา:

https://www.facebook.com/108692177438990/posts/240196690955204/

ศาลเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีกบฏ กปปส. ชุด 4 ส. ออกไปอีก ระบุคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ พร้อมนัดอ่านคำพิพากษาใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 6 พ.ค. นี้ เวลา 9.00 น.

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีกบฏ กปปส. สำนวนแรก ชุด 4 ส. หมายเลขดำ อ.1191/2557, อ.1298/2557, อ.1328/2557 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, นายสกลธี ภัททิยกุล, นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนายเสรี วงศ์มณฑา เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏและข้อหาอื่น ๆ กรณีจำเลยร่วมกันชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556-2557

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ สำหรับวันนี้มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. เดินทางมาให้กำลังใจที่ศาลพร้อมกับจำเลยทั้งสี่

นายสุเทพ ให้สัมภาษณ์เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีที่เกี่ยวข้องกับ กปปส. ขณะนี้ว่า มีคนที่ถูกดำเนินคดีแยกกันออกไป บางคดีจบในศาลชั้นต้น บางคดีถึงศาลอุทธรณ์ จำนวนหนึ่งไปถึงศาลฎีกา มีการทยอยอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาบ้างแล้ว บางรายถูกลงโทษจำคุก เพราะศาลพิจารณาพยานหลักฐานว่าเป็นการขัดขวางการเลือกตั้ง บุกรุกสถานที่ราชการ มี 4 รายถูกลงโทษจำคุกและได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษออกจากคุกมาแล้ว บางคนยังรับโทษไม่รอลงอาญา เสียชีวิตไปก็มี

ที่ผ่านมาเราเคลื่อนไหวทำงานให้ประเทศชาติบ้านเมืองก็ถูกดำเนินคดี วันนี้เป็นคดีกบฏเล็ก 4 คน ศาลชั้นต้นยกฟ้องไปแล้ว แต่อัยการอุทธรณ์ ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษา ส่วนคดีชุดใหญ่อีก 39 คน ศาลนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 24 ก.พ. นี้ เราต่อสู้คดีตามปกติ เคารพยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม ต่อสู้ตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา

นายสุเทพ ยังได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับม็อบในปัจจุบัน โดยระบุเพียงว่า ตนไม่สามารถแนะนำใครได้ในการต่อสู้ทางการเมือง แต่ละฝ่ายมีความคิด มีความเชื่อ มีเป้าหมายต่างกัน แต่กฎหมายก็คือกฎหมาย ทุกคนจะคิดอ่านอย่างไรก็ไม่เป็นไร เป็นสิทธิเสรีภาพ แต่การใช้สิทธิเสรีภาพต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย

พร้อมระบุว่า ตนไม่วิพากษ์วิจารณ์กล่าวร้ายคนอื่น แต่เรียนว่าเป็นคนไทยต้องเคารพกฎหมายไทย

อย่างไรก็ตาม ต่อมาศาลได้เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันนี้ออกไปก่อน เนื่องจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ โดยศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 6 พ.ค. นี้ เวลา 9.00 น.

กระทรวงแรงงานจับมือเอกชน นำโดรนมาใช้ในการพัฒนาเกษตรกร สร้างนักขับภาคเกษตร ตั้งเป้าหมายให้นำโดรนไปใช้ในขั้นตอนการเพาะปลูก ใส่ปุ๋ย ฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืช ช่วยลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าของสินค้า

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กำลังแรงงานภาคเกษตรเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่กพร. ให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เนื่องจากเป็นฐานรากสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าเป็นจำนวนมาก

และเพื่อให้การพัฒนาทักษะฝีมือของกำลังแรงงานภาคการเกษตรสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน มีทักษะสูง สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และเข้าถึงโอกาสในการทำงานที่มีคุณค่า สร้างรายได้ที่มั่นคง

กพร.ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นให้กพร.ใช้แนวทางประชารัฐร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา พัฒนาทักษะฝีมือให้เป็นแรงงานคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงาน

ซึ่งความร่วมมือกับบริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด ในการพัฒนาแรงงานภาคเกษตร เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายกระทรวงแรงงานดังกล่าว

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ความพิเศษของความร่วมมือในครั้งนี้ คือได้นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) มาใช้ในการพัฒนาเกษตรกร โดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรนำโดรนไปใช้ในขั้นตอนการเพาะปลูก ใส่ปุ๋ย ฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าของสินค้า และลดความเสี่ยงอันตรายในระหว่างการปฏิบัติงาน ใช้หลักสูตรการฝึกอบรม สาขาผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เพื่อการเกษตร ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง

ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอากาศยานไร้คนขับ เช่น ส่วนประกอบของโดรน การเปลี่ยนชิ้นส่วน การใช้เครื่องบังคับ การผสมสารเพื่อใช้ในการพ่นยา ความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน การทำใบอนุญาตและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในปี 2563 ดำเนินการฝึกอบรมในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ระยอง พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และนครราชสีมา มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 252 คน

สำหรับในปี 2564 มีแผนฝึกอบรมเพิ่มเติมอีก 10 จังหวัด ได้แก่ นครนายก เพชรบุรี นครสวรรค์ ลำปาง แพร่ พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และอุบลราชธานี คาดว่าจะสร้างนักขับโดรนภาคเกษตรได้ทั้งประเทศในปี 2564 นี้

“สำหรับแผนการฝึกอบรมปี 2564 ใน 10 จังหวัด ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจัดให้มีการฝึกอบรมตามแนวทางป้องกันการแพร่ระบาด หลักสูตรดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจเข้าฝึกอบรมจำนวนมากในแต่ละจังหวัด จึงเชิญชวนผู้สนใจติดตามข่าวสารของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานผ่านทางช่องทาง www.dsd.go.th. และ www.facebook.com/dsdgothai เมื่อเปิดรับสมัครจะได้แจ้งให้ทราบโดยเร็วที่สุด” อธิบดีกพร. กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top