“เลขาฯ สมช.” แจง คลาย 4 กิจกรรมก่อสร้าง ไม่ใช่สั่งย้อนหลัง สั่งตร. เอาผิดฝืนเปิดสถานบันเทิง ย้ำ ระบบรักษาตัวที่บ้านต้องรอบคอบ เผย ผู้ว่าฯ กทม. เร่งทำระบบ-เตรียมจุดพักคอย 20 จุดใน 50 เขต รับผู้ป่วยอาการไม่หนัก เล็งแบ่งวัคซีนบริจาคฉีดต่างชาติด้วย
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงการอนุมัติในหลักการอนุญาตโครงการก่อสร้าง 4 ประเภท ให้ดำเนินการต่อได้ และการเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็น โดยผ่อนคลายข้อกำหนดฉบับที่ 25 บางข้อ ว่า เป็นไปตามคำขอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านวิศวกรรมเสนอมา โดยศปก.ศบค. หารือแล้วเห็นว่าเหมาะสม และให้ผ่อนคลาย เพราะบางกิจการถ้าปิดไซต์ก่อสร้างไปนาน ๆ อาจจะส่งผลกระทบได้ และได้เรียนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค. ทราบ ก็เห็นชอบตามนั้น ส่วนจะมีการผ่อนคลายหรือเข้มงวดมาตรการใดเพิ่มเติมหรือไม่ ต้องรอฟังจากกระทรวงสาธารณสุข ที่กำลังพิจารณาอยู่ โดยจะประเมินสถานการณ์ก่อนจะพิจารณามาตรการว่า ถ้าเข้มงวดขึ้นจะทำให้การแพร่เชื้อลดลงหรือไม่ เราต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบ เพราะเป็นห่วงผลกระทบด้านเศรษกิจเช่นกัน เนื่องจากประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการบางส่วนเดือดร้อน แต่ทั้งนี้ หากกระทบด้านเศรษฐกิจ แต่ถ้าทางสาธารณสุขยืนยันก็ต้องว่าตามสาธารณสุข มิเช่นนั้นในระยะยาวอาจจะกระทบกับเศรษฐกิจมากกว่าเดิม
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ส่วนการผ่อนคลายกิจการก่อสร้างให้มีผลย้อนหลัง 28 มิ.ย. นั้น ในข้อเท็จจริง ข้อกำหนดได้ให้อำนาจ ศปก.ศบค. ไว้แล้ว ไม่ใช่
นายกฯ มาอนุมัติให้ย้อนหลัง เพราะในการประชุมเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้แจ้งนายกฯ ด้วยวาจาและนายกฯ ได้เห็นชอบแล้ว แต่ในการเขียนอนุมัติหลักการจะต้องรอบคอบ สำหรับการปรับยุทธศาสตร์ดูแลผู้ติดเชื้อได้หารือกับศูนย์ปฏิบัติการ กระทรวงสาธารณสุข กำลังพิจารณาเรื่องนี้ ปัจจุบันสิงคโปร์ และมาเลเซียก็ปรับแล้ว แต่เราไม่ได้ปรับตาม 2 ประเทศนี้ เพราะจะต้องดูเงื่อนไข และสภาพแวดล้อมของเรา รวมถึงฝ่ายวิชาการสาธารณสุข
เมื่อถามถึงกรณีที่ นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าควรจัดยาให้คนไข้โดยเร็ว และให้คำนึงถึงการรักษาคนที่ติดเชื้อก่อนจำนวนผู้ติดเชื้อ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เรารับฟังมา 2 เรื่องคือ
1.) ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่จะแจกจ่ายเร็วขึ้น ขณะที่บางพื้นที่ใช้ยาฟ้าทลายโจรช่วยในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเบาบาง
และ 2.) การรักษาตัวที่บ้านได้เชิญผู้ว่ากทม.มาหารือเพื่อขอให้ กทม. เร่งรัดจัดระบบรักษาตัวที่บ้านให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับได้
ส่วนโรงพยาบาลสนามในชุมชน จะให้ผู้ติดเชื้อในเบื้องต้น ได้รับการรักษาก่อนจะไปเข้าโรงพยาบาลสนาม โดยกทม. ต้องพยายามนำผู้ติดเชื้อเข้าระบบให้ได้ และประสาน โรงพยาบาลเอกชนรับตัวไปรักษา เพราะเงื่อนไขเดิมเมื่อตรวจแล้วถ้าพบติดเชื้อต้องรับรักษา เมื่อจำนวนเตียงจำกัด จะทำให้หนักใจที่จะรับตรวจหาเชื้อ ซึ่งประชาชนที่กังวลก็ต้องเปิดช่องทางให้ได้รับการตรวจ ปัจจุบันผู้ติดเชื้อมาจาก 3 ส่วนหลัก คือ
1.) คนเดินเข้าไปตรวจ
2.) จุดบริหารตรวจหาเชื้อของกทม. 6 จุด ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต
และ 3.) การตรวจเชิงรุก โดยต้องพยายามนำ 3 กลุ่มนี้เข้าระบบให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งระบบการกักตัวที่บ้าน ที่โรงพยาบาลสนามชุมนชน หรือที่ศูนย์พักคอย
ซึ่งผู้ว่ากทม. จะดำเนินการให้ได้ 20 จุด ใน 50 เขต ซึ่งกลุ่มนี้เป็นคนไข้สีเขียวใกล้ระดับเหลือง ที่ต้องคัดกรองไปสถานที่ที่สูงกว่า และที่โรงพยาบาลสนามหลัก ให้มากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน หากใครจะเข้ารักษาในระบบใดต้องดูความเหมาะสมทั้งสภาพแวดล้อม บ้านพัก และที่อยู่อาศัย ถ้าไม่รุนแรงโรงพยาบาลเอกชนจะต้องจัดตั้งวอร์รูม ประสานคนที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามกรณีที่ยังคงมีการฝ่าฝืนและลักลอบเปิดสถานบันเทิงแบบส่วนตัวในย่านเอกมัย จะเข้าไปควบคุมอย่างไร พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า นายกฯ เน้นย้ำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ฝ่ายความมั่นคงให้ช่วยกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว และจะมีบทลงโทษ โดยสัปดาห์ที่แล้ว ได้จับกุมในบางพื้นที่ ส่วนกรณีที่ลักลอบเปิดอาจจะยากในการตรวจพบ ดังนั้นถ้าประชาชนมีเบาะแสให้แจ้งมาที่ศบค. เพื่อดำเนินการต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่โรงพยาบาลเอกชน ระบุว่าที่ได้วัคซีนทางเลือกช้า เป็นเพราะติดขัดขั้นตอนของรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เมื่อวันวันที่ 3 ก.ค.หน่วยงานที่รับผิดชอบได้หารือเรื่องการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนโมเดอร์นา ให้ศปก.ศบค. รับทราบถึงขั้นตอน ก็เห็นว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบพยายามเร่งดำเนินการ แต่ต้องขออภัยเพราะมาตรการดำเนินการ จะต้องทำอย่างระมัดระวัง และให้ความสำคัญเรื่องกฎหมายด้วย ถ้าทำไปแล้วมีข้อผิดพลาดด้านกฎหมายหน่วยงานก็ต้องรับผิดชอบ กรณีวัคซีนไฟเซอร์ กรมควบคุมโรคได้เร่งรัดจัดหาเป็นวัคซีนหลัก ส่วนโมเดอร์นา ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้เร่งรัดเป็นวัคซีนทางเลือก คาดว่าวันนี้ (5 กรกฎาคม) ถ้าอัยการสูงสุดตอบกลับมา ในวันที่ 6 ก.ค.จะสามารถนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ เพื่อเดินหน้าต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีแพทย์บางส่วนเรียกร้องวัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มที่ 3 ให้แก่บุคลากรด่านหน้ามีแนวโน้มจะเกิดขึ้นหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ต้องฟังจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก เพราะข้อคิดเห็นของแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังมีความเห็นที่ต่างกัน
เมื่อถามถึงที่มีแพทย์ระบุว่า หากฉีดไฟเซอร์เป็นเข็ม 3 ให้บุคลากรด่านหน้า แล้วป้องกันได้ผล จะแก้ตัวว่าวัคซีนซิโนแวคไม่สามารถป้องกันโควิดได้ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่าว่า ขอให้ถามกระทรวงสาธารณสุข ที่จะแถลงเรื่องสำคัญในช่วงบ่ายโมงวันเดียวกันนี้ จะไปตอบแทนไม่ได้ สำหรับวัคซีนที่ได้รับบริจาคมา เช่น วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสจากสหรัฐอเมริกานั้น เบื้องต้นอาจจะพิจารณาฉีดให้กับชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยบางส่วน หรือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
