Tuesday, 20 May 2025
ค้นหา พบ 48205 ที่เกี่ยวข้อง

คอร์รัปชัน...ไหมครับท่าน ตอนที่ 6 เรียนรู้จากสิงคโปร์ การป้องกันและการปราบปรามการทุจริต

การแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบที่ประสบความสำเร็จและได้รับการกล่าวขานเสมอในแถบภูมิภาคนี้ คือ กรณีการจัดการการทุจริตในประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ยืนยันด้วยผลงานการจัดอันดับใน ดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index-CPI) จัดทำโดย องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) สำหรับประเทศในแถบเอเชีย สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคะแนนสูงที่สุด 85 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 3 ของโลก ในขณะที่ฮ่องกง และญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 11 และ 19 ตามลำดับ (77 และ 74 คะแนน) ประเทศไทยได้คะแนนดังกล่าวที่ 36 คะแนนอยู่ในลำดับที่ 104 น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประเทศในโลกที่มีคะแนนเกินครึ่งโดยที่ประเทศที่มีคะแนนเกินครึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรปนั้น ทำให้เราน่าจะเรียนรู้จากกรณีของสิงคโปร์ในการจัดการกับการทุจริตประพฤติมิชอบแบบที่แม้มีอำนาจในการบริหารประเทศสูงสุด เช่น นายกรัฐมนตรี ก็ต้องถูกตรวจสอบเช่นกัน

หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการกับปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบของสิงคโปร์ คือ สำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน (Corrupt Practices Investigation Bureau : CPIB) ซึ่งศักยภาพในการปฏิบัติงานเพื่อจัดการกับปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในสิงคโปร์นั้นได้รับการยอมรับในระดับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพในงานด้านการสืบสวน (investigation) กลไกในการจัดการกับปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบของสิงคโปร์นั้นมีศักยภาพที่โดดเด่นและสามารจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลไกการทำงานภายใต้กลยุทธ์หลัก 5 ด้าน กล่าวคือ ด้านแรก เจตนารมณ์ของฝ่ายการเมืองที่ต้องการกำจัดปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง (Strong political will) ด้านที่สอง กฎหมายป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ (Effective laws) ด้านที่สาม ระบบศาลและการดำเนินคดีที่มีความอิสระ (Independent judiciary) ด้านที่สี่ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจังและเด็ดขาด (Effective enforcement) และ ด้านที่ห้า การให้บริการสาธารณะหรือการดำเนินงานของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ (Responsive public service) 

สำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน (CPIB) ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีและได้รับรับรองการใช้อำนาจในการปฏิบัติงานอย่างอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสิงคโปร์และกฎหมายป้องกันการทุจริต (prevention of corruption act) ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1960 โดยให้อำนาจในการจับกุมและสืบสวนการกระทำผิดในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในสิงคโปร์ รวมถึงข้าราชการและพนักงานเอกชนทุกคนตลอดจนข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือข้าราชการอาวุโสของกระทรวงต่าง ๆ

บทบาทหน้าที่หลักของสำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 
(1) การรับเรื่องราวร้องทุกข์และสืบสวนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันทั้งใน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 
(2) การสืบสวนการประพฤติหรือปฏิบัติงานโดยมิชอบ (malpractices) ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ 
(3) การพิจารณาพฤติกรรมและกระบวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการในการให้บริการสาธารณะเพื่อลดโอกาสของการเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน 

สำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชันของสิงคโปร์ (CPIB) มีโครงสร้างในการทำงานที่เล็ก ไม่ซับซ้อน มีผลทำให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัวสูงประกอบกับการมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ให้อำนาจในการปฏิบัติงานได้อย่างอิสระ จึงทำให้การปฏิบัติงานด้านการสืบสวนของสำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชั่น (CPIB) สามารถจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว

ลองพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศไทยในการจัดการกับปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบบ้างว่าหากจะปรับใช้จากกรณีของสิงคโปร์นั้นเราจะสามารถนำสิ่งดี ๆ มาใช้ได้อย่างไร

ประการแรก กลยุทธ์การจัดการปัญหาคอร์รัปชัน นั้น คือ ความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาจากฝ่ายการเมือง เป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการฝ่าด่านการแก้ปัญหานี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ การเมืองไม่นิ่งและมีการต่อรองทางการเมืองเพื่อรักษาเสถียรภาพในการบริหารประเทศ การเมืองนิ่งในประเทศไทยนั้นหากย้อนกลับไปสักยี่สิบปีจะพบว่า มีแค่สองช่วง คือ สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 และสมัยรัฐบาลที่มาจากการกระทำรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม ปัญหาการคอร์รัปชั่นในสมัยนั้น ยังอยู่ในระดับมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากจะฝ่าด่านการแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบโดยยึดกลยุทธ์ 5 ด้านของสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยจึงติดตั้งแต่ข้อแรก 

ลองพิจารณาในด้านที่สอง กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากนับจำนวนกฎหมาย ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาทุจริตจำนวนมาก แต่กฎหมายดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การเพิ่มขั้นตอนเพื่อไม่ให้เข้าสู่กระบวนการด้านระยะเวลาตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องแล้วเสร็จ หรือมีบางตัวบทที่ตัดตอนหรือยกประโยชน์ให้กับความล่าช้าไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ ดังนั้น ในด้านที่สองนี้ แม้ว่าจะมีกฎหมายที่เขียนไว้อย่างสวยหรูเพียงใด แต่การปฏิบัติตามกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาการคอร์รัปชันไม่สัมฤทธิผล

ด้านที่สาม ระบบศาลและการดำเนินคดีที่มีความอิสระ หากพิจารณาเชิงระบบ ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการพอสมควร เพราะมีการจัดตั้งศาลคดีทุจริต ขึ้นมาโดยเฉพาะ หากแต่กลไกที่นำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น ต้องเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น ประเด็นเรื่องรัฐเป็นผู้เสียหาย จึงเป็นอุปสรรคเมื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบและนำคดีขึ้นสู่ศาล ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือหย่อนสมรรถภาพ หรือในกรณีที่เลวร้าย คือ มีการต่อรองคดีได้ ทำให้แม้ว่าระบบศาลและการดำเนินคดีมีความอิสระ แต่ติดตั้งแต่ต้นทางนั่นเอง

ด้านที่สี่ การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด จริงจัง เด็ดขาด ในประเด็นนี้ หากไม่พูดถึงกรณีนาฬิกายืมเพื่อนมา ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดูจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เข้มงวดที่สุด ในบรรดาบทบัญญัติด้านการปราบปรามการทุจริต ในกรณีอื่น ๆ นั้น มีหลายปัจจัยที่ทำให้การดำเนินการแก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ความล่าช้าในการสืบสวนสอบสวน แม้ว่ากฎหมายจะระบุชัดในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การงดหรือการลดค่าปรับหรือการขยายเวลาการจัดซื้อจัดจ้าง 

ด้านที่ห้า การให้บริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ในประเด็นนี้ ต้องให้เครดิตว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้รับบริการ แม้ว่าบางกรณียังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านและการใช้ดุลพินิจยังลักลั่นอยู่บ้าง เช่น การเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนในหน่วยงานรัฐแม้ว่าหน่วยงานนั้นจะอยู่ในกระทรวงมหาดไทยและเชื่อมต่อฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ได้แล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่บริการสาธารณะอยู่ในระดับที่ดีขึ้น เพราะการปรับปรุงระบบบริการตามเทคโนโลยี และความพยายามในการให้บริการสาธารณะ

จากการพิจารณาใน 5 ด้านในกรณีสิงคโปร์จะพบว่า ประเทศไทยต้องพัฒนาต่อไปโดยเฉพาะเรื่อง ความตั้งใจในการแก้ปัญหา “อย่างจริงจัง” ของประชาชน แม้ว่าจะหวังพึ่งฝ่ายการเมืองได้ยาก หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป ภายใต้การตื่นรู้ ความเข้าใจถึงปัญหาและพิษภัยของการคอร์รัปชัน จะทำให้ปัญหาค่อย ๆ เบาบางลงแต่ใช้ระยะเวลาพอสมควร ทางออกสำคัญยิ่ง คือ การเปิดเผยข้อมูลและการ “ไม่ทน” ต่อการทุจริตประพฤติมิชอบ และการทำงานแบบเครือข่ายที่มีการเชื่อมโยงกัน นอกจากนั้น การออกแบบลักษณะของปัญหาที่ทำให้สามารถจัดการกรณีที่มีฐานความผิดรองรับแล้วโดยการเชื่อมโยงเทคโนโลยี จะทำให้การจัดการคดีมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น กรณีการกระทำความผิดจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึง การงดหรือลดค่าปรับหรือขยายเวลาโดยมิชอบซึ่งกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างมีรายละเอียดและประเด็นที่รัดกุมเพียงพอที่จะทำให้การใช้เทคโนโลยี AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ ข้อดีอย่างยิ่งของการใช้เทคโนโลยี AI หรือการสอบสวนคดีแบบเป็นขั้นเป็นตอน คือ เทคโนโลยีไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ไม่มีพรรคมีพวก ถูกผิดว่ากันตามตรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมมากกว่าปัจจุบันที่ระบบอุปถัมภ์และพรรคพวกได้หยั่งรากลึกลงไปจนกระทั่งวิกฤติโควิด-19 ปรากฏการทุจริตหลายรูปแบบตั้งแต่หน้ากาก อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งวัคซีน

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทยนั้น ยังมีทางแก้ไข และสามารถทำให้ดีขึ้นได้ หากมีความร่วมมือในภาคประชาชน อย่างเพิ่งสิ้นหวังครับ


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

อส.อำเภอเมือง ชุมพรที่ 2 ร่วมกันจับกุม ยาบ้าจำนวน 6,000 เม็ด

วันที่ 25 มิถุนายน 2564 ภายใต้การอำนวยการของ นายนักรบ ณ ถลาง นายอำเภอเมืองชุมพร ได้สั่งการให้นายธีระวุฒิ นุชนงค์ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงอำเภอเมืองชุมพร พร้อมเจ้าหน้าที่ อส.อำเภอเมือง ชุมพรที่ 2 ได้ร่วมกันจับกุมนาย บุญยัง คงชีพ ที่อยู่ 12 หมู่ที่ 12 ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร โดยมียาเสพติดประเภทที่ 1 ยาบ้า จำนวน 3 มัดรวม 6000 เม็ด และมีอาวุธปืนไทยประดิษฐ์จำนวน 1 กระบอก ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย  ขณะขับรถนต์กระบะอีซูสุ สีเท่า หมายเลขทะเบียน บร 8665 ชุมพร บริเวณริมถนนสายเพชรเกษมขาล่องใต้ ปากซอยศรีเพชร ใกล้ทางเข้าท่าแซะรีสอร์ท ตำบลทรัพย์อนัน อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร

เจ้าหน้าที่ได้สอบถาม นายบุญยังฯ แจ้งว่าได้มีผู้ว่าจ้างให้มาบรรทุกของดังกล่าว โดยการสั่งซื้อยาเสพดังกล่าวมาจาก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และให้นำมาส่งให้สายสืบที่บริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ให้ นายนายบุญยังฯ ทราบ โดยนายบุญยัง ฯ ทราบข้อกล่าวหาดีแล้ว

ฐานความผิด 1. มียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย

ผู้ถูกจับ ได้รับทราบข้อกล่าวหา และสิทธิข้างตันแล้ว ให้การับสารภาพตลอดข้อกล่าวทา จึงได้นำตัวผู้ถูกจับพร้อมด้วยของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

การศึกษาไทยในยุค New Normal วิกฤตหรือโอกาส?

โควิดระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้หากจะพูดถึงผลกระทบของโควิด ทุกคนคงกระจ่างแจ้งอย่างที่ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยกันหลายคำ เพราะทุกคนล้วนเป็นผู้ประสบภัยกันทั่วหน้า แม้ผลกระทบมากน้อยอาจต่างกัน 

โควิดส่งผลกระทบมากมายอย่างคาดไม่ถึง ทั้งด้านชีวิตและสุขภาพ สภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนวิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปจากปกติเดิม จนต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ อย่างคำว่า “New Normal” วิธีชีวิตปกติแบบใหม่ นี้ก็คือการปรับพฤติกรรมของมนุษย์ในชีวิตประจำวันเพื่อการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดนี้เอง เช่น การทำงานก็เปลี่ยนจากการที่ต้องเดินทางไปที่ออฟฟิศ ไปสำนักงานก็เปลี่ยนมาเป็นการทำงานที่บ้าน หรือที่เราเรียกทับศัพท์กันอย่างติดปากว่า Work From Home การประชุมติดต่อประสานงานนั้นก็ทำได้โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วย และไม่ใช่เพียงแค่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่ต้องปรับขบวนกันยกใหญ่ ภาคการศึกษาก็เช่นกัน ต้องปรับจากการเรียนในสถานศึกษา มาเป็นห้องเรียนออนไลน์กันทุกระดับชั้นต้องแต่อนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อมาตรการในการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดการระบาดของโรค

1 ปีกว่าผ่านมาหากจะชวนคิด ชวนตั้งคำถามว่าการศึกษาในยุค New Normal นี้ โอกาสหรือเป็นวิกฤต กับสังคมไทยนั้นก่อนจะสรุปว่าเป็นวิกฤตหรือโอกาส ลองมาสำรวจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ กันก่อน

จากการเรียนในห้องเรียนที่มีเพื่อนร่วมห้อง มีคุณครู มีประตู หน้าต่าง มีการพบหน้าคาดตา ปรับมาเป็นการเรียนออนไลน์ ต่างคนต่างอยู่บ้าน เจอหน้ากันผ่านจอคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เน็ตไว้เพื่อการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ จากข่าวคราวที่ปรากฎในสื่อเห็นชัดว่าการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายในประเทศไทย เพราะด้วยเหตุผลหลายประการในเชิงโครงสร้าง  

ประการแรก เรายังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้เรียนออนไลน์ที่บ้าน ซึ่งมักจะมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอีกรูปแบบในระบบการศึกษาไทย จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนของไทยในปี 2563 อยู่ที่ 26018.42 ในขณะที่มีรายจ่ายปี 2562 อยู่ที่ 20,742.12 และล่าสุดรายจ่ายของครัวเรือนของไทยในปี 2563 มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เฉลี่ยเดือนละ 21,329 บาท โดยร้อยละ 87 ของค่าใช้จ่าย ทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค และร้อยละ 13 เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง / หวย ดอกเบี้ย) ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาอยู่ที่ 1.5% เท่านั้น ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการจัดสรรเงินสำรองเพื่อการศึกษาที่ไม่มากนั้น ยิ่งเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด ที่อาจทำให้รายรับของครอบครัวลดน้อยลงไปอีก จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับครอบครัวที่ถูกซ้ำเติมในยามโควิดระบาดนี้อยู่แล้ว จะจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียน การซื้อชั่วโมงอินเตอร์เน็ต ซึ่งช่องว่างทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นอีกในระบบการศึกษาไทย  

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากการศึกษาของ TDRI ที่พบว่าปัญหาของครัวเรือนในประเทศไทยที่ใหญ่กว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านคือ การไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 21 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 49 การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของครัวเรือนยิ่งยากมากขึ้นหากเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจน 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2560 ในประเทศไทย ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาทมีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 3 ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2 แสนบาทขึ้นไปมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 19 ของครัวเรือนทั้งหมด และหากจำแนกตามภูมิภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์สูงถึงร้อยละ 42 ของครัวเรือนทั้งหมด ครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ในภาคกลางร้อยละ 21 ส่วนในภาคเหนือ ร้อยละ 19 ในภาคใต้ ร้อยละ 17 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 14  ซึ่งสถิตเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ของเด็กและเยาวชนไทย 

นอกจากความไม่พร้อมในเครื่องไม้เครื่องมือแล้ว ประการต่อมาที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องความไม่พร้อมของการจัดการเรียนการสอน ทั้งในแง่หลักสูตร ความพร้อมของครูอาจารย์ ตลอดดจนความพร้อมในการเรียนของนักเรียนนักศึกษาในการเรียนออนไลน์มีมากน้อยเพียงใด จากเสียงสะท้อนของทั้งผู้สอน และผู้เรียน ตลอดจนผู้ปกครองต่างต้องรับมือกับสถานการณ์การเรียนออนไลน์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ฝั่งผู้สอน ครูอาจารย์ก็รู้สึกท้อแท้กับการไม่มีส่วนร่วมของนักเรียนนักศึกษาจากการใช้ระบบออนไลน์ ยิ่งเป็นการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยที่ให้ความไว้วางใจว่านักศึกษาโตพอที่จะรับผิดชอบตนเองได้ ยิ่งพบว่าบรรดาอาจารย์ต่างปรับทุกข์ในทำนองเดียวกันว่านักศึกษาแทบไม่ค่อยมีปฎิสัมพันธ์กับผู้สอนเท่าที่ควรจะเป็น ไม่เปิดกล้อง ไม่ถามคำถาม ไม่ตอบคำถาม ส่วนในมุมผู้เรียนก็มองว่าเรียนออนไลน์น่าเบื่อ ไม่มีบรรยากาศการเรียนที่กระตุ้นการอยากรู้อยากเห็น ครูอาจารย์ไม่มีกลวิธีการสอนที่ดึงดูดใจพอ 

ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กเล็ก ๆ ในชั้นอนุบาลหรือประถมต้นนั้นก็เหนื่อยไม่แพ้กันเพราะเหมือนต้องคอยดูแลกำกับให้ลูก ๆ หลาน ๆ นั่งหน้าจอเรียนออนไลน์ ในยุคก่อน new normal พ่อแม่ผู้ปกครองก็อาจมีหน้าที่ช่วยสอนลูกหลานในการทำการบ้าน แต่เหมือนว่าในยุค new normal นี้ต้องทั้งเรียนด้วย สอนด้วย ดูแลบุตรหลานด้วย ความเครียดจึงบังเกิดแด่พ่อแม่ผู้ปกครองกันทั่วหน้า

ดังนั้นปรากฏการณ์ของโควิด-19 ที่มีพลิกโฉมการเรียนการสอนจากห้องเรียนทางกายภาพสู่ห้องเรียนออนไลน์ หากมองดี ๆ แล้ว จะพบว่าความปกติใหม่ หรือ New normal นี้ ทำให้เกิดความตระหนักรู้ใหม่และกระตุ้นเตือนให้เราหันกลับมาทบทวนสิ่งที่เป็นความสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวหลักสูตร ที่ควรตั้งคำถามว่าหลักสูตรที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษานั้นเหมาะสมสำหรับพัฒนาการการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยของเด็กและเยาวชนจริงหรือไม่ หลักสูตรที่มีเหมาะสมกับบริบทในท้องถิ่น ในพื้นที่ของเด็ก ๆ หรือไม่ หรือแม้แต่กฎเกณฑ์กติกาบางอย่างที่แท้จริงแล้วสำคัญหรือไม่อย่างไร หากเด็ก ๆ ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน เช่น การแต่งชุดนักเรียนและการไว้ทรงผม และกติกาหรือระเบียบวินัยแบบไหนที่ควรต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ แทน เป็นต้น นอกจากตัวเนื้อหาของหลักสูตรแล้ว กลวิธีการสอนและรูปแบบในการนำเสนอสำหรับการเรียนรู้ในห้องเรียนออนไลน์นั้นก็มีความสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงและต้องถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับเนื้อหาและธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ด้วย การใช้วิธีการเดียวกันกับการสอนในห้องเรียนปกตินั้นคงจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป 

ทั้งนี้ TDRI ได้ทำการศึกษาเราควรใช้ความตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้ มาออกแบบอนาคตของการศึกษาไทย โดยให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนให้มากที่สุด ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยมากในหลายประเด็น เช่น 

• ให้น้ำหนักกับปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างครูและนักเรียน มากกว่า จำนวนชั่วโมงที่นักเรียนอยู่ในห้องเรียนหรือเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์
• ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียน เชื่อมโยงกับชุมชนและบริบทที่นักเรียนอยู่มากกว่า การเรียนรู้อิงตามมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ
• ให้น้ำหนักกับการประเมินผลเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน (formative assessment) จากชิ้นงานและพฤติกรรมของนักเรียน มากกว่า การประเมินเพื่อการตัดสิน (summative assessment) เพื่อนำไปใช้ให้คุณให้โทษแก่โรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษา
• ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้เพื่อสุขภาพกายและใจ ควบคู่กับการเรียนรู้ด้านวิชาการ สถานการณ์โรคระบาดส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของทุกคนรวมถึงเด็ก ๆ ทุกวัย 
• ให้น้ำหนักกับการจัดสรรทรัพยากรออฟไลน์แก่เด็กและครอบครัว ควบคู่กับ ทรัพยากรออนไลน์ เช่น จัดสรรหนังสือเด็กให้แก่ครอบครัวด้อยโอกาสเพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่บ้าน จัดให้มีอาสาสมัครติดตามสถานการณ์เด็กในแต่ละครอบครัวและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลลูก เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของประเทศไปด้วย 

ดังนั้น หากย้อนกลับมาที่คำถามของเราว่า การศึกษาไทยในยุค New normal นี่เป็นวิกฤตหรือโอกาส ก็คงตอบได้อย่างชัดเจนว่ามีทั้งสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นวิกฤต และโอกาส เพราะวิกฤตในวันนี้เราสามารถพลิกให้เป็นบทเรียนเพื่อสร้างโอกาสในวันหน้าได้ เพียงแต่ต้องปรับมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย ปรับวิธีคิดของบุคลากรทางการศึกษา สร้างความร่วมมือกันใหม่ในการมีส่วนช่วยกันยกเครื่องระบบการศึกษา ทั้งพัฒนาหลักสูตร พัฒนาศักยภาพบุคคลกรทางการศึกษา พัฒนาแนวทางและรูปแบบการ 

โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและระดับท้องถิ่น นอกจากนี้อาจจะต้องดึงภาคเอกชนและหน่วยงานนอกระบบราชการ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนมาร่วมมือกันออกแบบการจัดการเรียนการสอน รวมถึงถอดบทเรียนองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศ เพราะเราจะพบว่าแนวโน้มในการความเป็น New normal นี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต เช่น เปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การเกิดเทคโนโลยี disruptive หรือแม้แต่การเปลี่ยนด้านการเมือง การปกครองและเศรษฐกิจของโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการสร้างคน สร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ เพื่อการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศและโลก ซึ่งการศึกษาคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างคนนั้นเอง 

 

ข้อมูลอ้างอิง
http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/08.aspx
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเป็นประจำตั้งแต่ปี 2500 (nso.go.th)
New Normal ของการศึกษาไทยคืออะไร เมื่อการเรียนทางไกลไม่ใช่คำตอบ - TDRI: Thailand Development Research Institute
วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์ - TDRI: Thailand Development Research Institute


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เร็วกว่า 2 เท่า !! Supersonic  การกลับมาของ “เครื่องบินความเร็วเหนือเสียง”

หลายท่านที่เคยนั่งเครื่องบินข้ามทวีปที่ต้องใช้เวลาบินนาน ๆ คงรู้สึกเมื่อยล้า และอ่อนเพลียจากการเดินทาง หากสามารถลดระยะเวลาเดินทางได้ครึ่งหนึ่ง ด้วยค่าโดยสารที่ไม่สูงจนเกินไป คงเป็นสิ่งที่นักเดินทางหลายคนใฝ่ฝัน

สายการบิน United Airlines กำลังจะทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริง ด้วยการประกาศแผนการสั่งซื้อเครื่องบิน Supersonic รุ่น Overture จำนวน 15 ลำ จาก Boom Supersonic ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหม่ในสหรัฐอเมริกา และคาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ในปี 2029

โดยปกติเครื่องเจ็ทสำหรับโดยสาร บินด้วยความเร็วประมาณ 900 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เครื่องบินแบบ Supersonic มีความสามารถในการบินได้ความเร็วเหนือเสียง โดยเครื่อง Overture ถูกออกแบบให้บินได้ที่มัค 1.7 หรือ 1.7 เท่าของความเร็วเสียง นั้นคือประมาณ 1,805 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วเป็นสองเท่าของเครื่องบินเจ็ทปกติ

การใช้เครื่องบินพาณิชย์ที่มีความเร็วเหนือเสียงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปี 1976 สายการบิน British Airways และ Air France เปิดตัวการให้บริการด้วยเครื่องบิน Concorde เครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง โดยเส้นทางการบินหลักคือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อเชื่อมโยงลอนดอนและปารีสกับนิวยอร์ก ใช้เวลาบินเพียงครึ่งเดียวของการบินปกติ แต่ข้อจำกัดของเครื่องบินคอนคอร์ดคือการบริโภคเชื้อเพลิงและค่าซ่อมบำรุงที่สูง จึงจำเป็นต้องขายตั๋วโดยสารไปกลับเมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบันด้วยราคา 20,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 620,000 บาทต่อคน !!!!! ด้วยราคานี้จึงไม่ใช่การเดินทางปกติ แต่เป็นสิ่งที่บางคนอยากทำสักครั้งในชีวิต จึงเป็นการยากที่จะหาผู้โดยสารให้เต็ม 100 ที่นั่งในแต่ละเที่ยว

นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องของเสียง เนื่องจากหากเครื่องบินทำความเร็วเกินความเร็วเสียง จะก่อให้เกิดช็อคเวฟ ที่มีเสียงดังคล้ายฟ้าร้องที่เรียกกันว่า โซนิคบูม (Sonic Boom) ดังนั้นในหลายประเทศจึงห้ามการบินด้วยความเร็วเหนือเสียง บนแผ่นดินหรือพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่อาศัย จึงเป็นข้อจำกัดของเส้นทางการบินที่จะทำความเร็วได้เฉพาะเมื่อบินเหนือทะเล จากข้อจำกัดดังกล่าว และประกอบกับภาวะขาลงของธุรกิจการบินหลังเหตุการณ์ 9/11 จึงทำให้เครื่องบินคองคอร์ดหยุดให้บริการในปี 2003   

ทาง Boom Supersonic จึงได้ศึกษาบทเรียนจากคองคอร์ด และข้อกังวลของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นอีก นำมาใช้ในการออกแบบเครื่องบิน Overture ที่สามารถจุผู้โดยสารได้ 65-88 คน และที่นั่งเป็นแบบสองแถว แถวละหนึ่งที่นั่ง เพื่อลดการสัมผัสในห้องโดยสาร และออกแบบเน้นเรื่องของสุขอนามัยแทนสิ่งอำนวยความสะดวกบนเครื่องสำหรับการเดินทางระยะนาน ๆ

นอกจากนั้นยังมีการออกแบบตัวเครื่องและเครื่องยนต์ เพื่อลดระดับการเกิดโซนิคบูม รวมถึงการเป็นอากาศยานไร้มลพิษ (net-zero carbon aircraft) โดยออกแบบให้เครื่องยนต์สามารถใช้เชื้อเพลิงทางเลือกได้

เป้าหมายระยะไกลของ Boom คือการพัฒนาเครื่องบินให้มีความเร็วสูงขึ้น เพื่อบินไปทุกแห่งทั่วโลกโดยใช้เวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง และออกแบบเครื่องบินให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่อที่นั่ง โดยตั้งเป้าให้มีค่าโดยสารต่อเที่ยวไม่เกิน 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32,000 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับค่าโดยสารชั้นธุรกิจ

แต่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการบินหลายท่านให้ความเห็นว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสิบปีในการพัฒนาเครื่องบิน เพื่อลดเสียงที่เกิดขึ้นจากการบิน และใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 20 ปี ในการพัฒนาวัสดุเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ให้ทนกับความร้อนที่เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินทำความเร็วสูงเป็นระยะเวลานาน

คงต้องติดตามกันว่าเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงที่คนทั่วไปสามารถนั่งได้จะเป็นจริงหรือไม่ เพราะหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้รูปแบบการเดินทางของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเดินทางไกลข้ามทวีป

 

ข้อมูลอ้างอิง
https://edition.cnn.com/travel/article/boom-supersonic-four-hours-100-bucks/index.html
https://www.businessinsider.com/boom-supersonic-interview-overture-concorde-ceo-2020-10
https://www.cnbc.com/2021/06/03/united-will-buy-15-ultrafast-airplanes-from-start-up-boom-supersonic.html
https://www.nbcnews.com/science/science-news/supersonic-airliners-hit-turbulence-jet-developer-shuts-rcna1044?utm_source=morning_brew
https://www.bbc.com/news/technology-57361193


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ยึดทรัพย์บ้านนายก อบต. กว่า 10 ล้าน เครือข่ายไอซ์ 1.5 กิโลกรัม

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก อ.พบพระ จ.ตาก ว่า พล.ต.ท.อภิชาติ ศิริสิทธิ์ ผบช.ภ.ประสานงานกับ นายพงศ์รัตน์  ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดยุทธการ ตากพิชิตภัยยาเสพติด ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ ร่วมด้วยนายสราวุธ ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 6 พ.ต.อ.สุทธิพงศ์ เป๊กทอง   รอง ผบก.ภ.จว.ตาก พ.ต.อ.สุรินทราดิษฐ ทิพย์เจริญ ผกก.สภ.พบพระ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด  กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดตาก  เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรพบพระ เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 6 กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจังหวัดตาก ได้สนธิกำลังเข้าดำเนินการตรวจค้นยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด ยาไอซ์ 1.5 กิโลกรัม จำนวน 2 เป้าหมาย ในพื้นที่อำเภอพบพระ 

โดยเป้าหมายที่ 1 บ้านเลขที่ 6/30 หมู่ 9 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ตามหมายค้นศาลจังหวัดแม่สอด ที่ 140/2564 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ผลการตรวจค้น พบนางยั้ว แซ่เฮ่อ  แสดงตัวเป็นเจ้าของบ้าน ตรวจค้นไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายแต่อย่างใด จึงได้ทำการตรวจยึดและอายัดทรัพย์สินตาม พรบ.มาตรการฯ พ.ศ. 2534  บ้านพร้อมที่ดิน มูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท

ส่วนเจ้าหน้าที่อีกชุด ตรวจค้นบ้านเป้าหมายที่ 2 บริเวณรีสอร์ทบ้านคุณพ่อม่อนหมอกตะวัน บ้านป่าหวาย  หมู่ 3 ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งเป็นรีสอร์ทของนางมนิดา อำพลรุ่งโรจน์ ภรรยานายยกว่าง หรือนายวิชิต อาพลรุ่งโรจน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพบพระ อ.พบพระ เป็นผู้อาศัยและครอบครอง ดูแล ตามหมายค้นศาลจังหวัดแม่สอด ที่ 141/2564 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ผลการตรวจค้น ไม่พบผู้ครอบครองรีสอร์ทดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด จึงได้ทำการตรวจยึดและอายัดทรัพย์สินตาม พรบ.มาตรการฯ พ.ศ. 2534  ดังนี้

รีสอร์ทขนาด 1 ห้องนอน 1ห้องน้ำ ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร จำนวน 15 หลัง ราคาประมาณหลังละ 150,000 บาท รวม ราคาประมาณ 3,000,000 บาท ร้านอาหาราร ร้านกาแฟ กว้าง 12 ยาว 18 เมตร ราคาประมาณ 2,000,000 บาท  เพิงพักมุงด้วยหลังคาโซล่าร์เชลล์ จำนวน 16 เเผ่น ราคา ประมาณ 500,000 บาท แท็งค์น้ำ พร้อมโครงเหล็ก ราคา ประมาณ 50,000 บาท โรงครัว ฝาเป็นไม้ไผ่สับ หลังคาไม้ ราคาประมาณ 100,000 บาท ศาลพระภูมิ ราคา 5,000 บาท ป้ายหน้ารีสอร์ท ราคาประมาณ 10,000 บาท รวมทรัพย์สินรีสอร์ทบ้านคุณพ่อม่อนหมอกตะวัน และบริเวณรีสอร์ทบ้านคุณพ่อม่อนหมอกตะวัน จำนวน 5,665,500 บาท

สำหรับการยึดทรัพย์สินนี้ จากการขยายผลจากการ จับกุมเครือข่ายยาเสพติดสำคัญรายใหญ่ ได้ 3 เครือข่าย คือ เครือข่าย นายกว่าง จากเมื่อวันที่ 18/10/62 ยึดยาไอซ์1.5ตัน (จุดตรวจบ้านห้วยระอุ จ.ตาก) วันที่ 24/11/63 จับกุม น.ส.หลิน ชาล์ ที่ย่านมีนบุรี กทมฯ (ยึดทรัพย์มูลค่ากว่า 100ล้านบาท) วันที่ 04/4/64จับกุม น.ส.ปาณิสรา ศิริกรไตรวิชญ์หรือเจน กับพวก ที่ย่านลาดพร้าว (ของกลางยาไอซ์100กก.,ยาเค 100กก.) จากนั้นได้ทำการขยายผล จนขอออกหมายจับ นายกว่าง หรือ นายวิชิต อาพลรุ่งโรจน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพบพระ อ.พบพระ จ.ตาก กับพวกรวม 4คน (เครือญาติ น.ส.เจน) ยืดทรัพย์สิน นายกว่าง เป็นเงินในบัญชี 1.1 ล้าน รีสอร์ท และบ้าน มูลค่า 7.5ล้านบาท เบื้องต้นนายวิชิต หรือ นายกว่าง ได้หลบหนีไปก่อน และสามารถจับกุมตัวผู้ร่วมเกี่ยวข้อง 1 ราย ล่าสุดมีรายงานว่า นายกว่าง จะมีการเจรจาขอมอบตัวเพื่อสู้คดี ส่วนจะเกี่ยวพันยาเสพติดหรือไม่ต้องอยู่ที่พยานหลักฐานเท่านั้น

ทั้งมูลค้ารวมทรัพย์สินทั้งสิ้น จำนวน 10,665,500  บาท ได้นำหมายค้นพร้อมบันทึกตรวจยึดอายัดทรัพย์สินตามรายการดังกล่าข้างต้น ลง ประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป


ภาพ/ข่าว วรภา พันลุตัน จ.ตาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top