คอร์รัปชัน...ไหมครับท่าน ตอนที่ 6 เรียนรู้จากสิงคโปร์ การป้องกันและการปราบปรามการทุจริต

การแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบที่ประสบความสำเร็จและได้รับการกล่าวขานเสมอในแถบภูมิภาคนี้ คือ กรณีการจัดการการทุจริตในประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ยืนยันด้วยผลงานการจัดอันดับใน ดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index-CPI) จัดทำโดย องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) สำหรับประเทศในแถบเอเชีย สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคะแนนสูงที่สุด 85 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 3 ของโลก ในขณะที่ฮ่องกง และญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 11 และ 19 ตามลำดับ (77 และ 74 คะแนน) ประเทศไทยได้คะแนนดังกล่าวที่ 36 คะแนนอยู่ในลำดับที่ 104 น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประเทศในโลกที่มีคะแนนเกินครึ่งโดยที่ประเทศที่มีคะแนนเกินครึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรปนั้น ทำให้เราน่าจะเรียนรู้จากกรณีของสิงคโปร์ในการจัดการกับการทุจริตประพฤติมิชอบแบบที่แม้มีอำนาจในการบริหารประเทศสูงสุด เช่น นายกรัฐมนตรี ก็ต้องถูกตรวจสอบเช่นกัน

หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการกับปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบของสิงคโปร์ คือ สำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน (Corrupt Practices Investigation Bureau : CPIB) ซึ่งศักยภาพในการปฏิบัติงานเพื่อจัดการกับปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในสิงคโปร์นั้นได้รับการยอมรับในระดับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพในงานด้านการสืบสวน (investigation) กลไกในการจัดการกับปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบของสิงคโปร์นั้นมีศักยภาพที่โดดเด่นและสามารจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลไกการทำงานภายใต้กลยุทธ์หลัก 5 ด้าน กล่าวคือ ด้านแรก เจตนารมณ์ของฝ่ายการเมืองที่ต้องการกำจัดปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง (Strong political will) ด้านที่สอง กฎหมายป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ (Effective laws) ด้านที่สาม ระบบศาลและการดำเนินคดีที่มีความอิสระ (Independent judiciary) ด้านที่สี่ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจังและเด็ดขาด (Effective enforcement) และ ด้านที่ห้า การให้บริการสาธารณะหรือการดำเนินงานของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ (Responsive public service) 

สำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน (CPIB) ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีและได้รับรับรองการใช้อำนาจในการปฏิบัติงานอย่างอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสิงคโปร์และกฎหมายป้องกันการทุจริต (prevention of corruption act) ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1960 โดยให้อำนาจในการจับกุมและสืบสวนการกระทำผิดในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในสิงคโปร์ รวมถึงข้าราชการและพนักงานเอกชนทุกคนตลอดจนข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือข้าราชการอาวุโสของกระทรวงต่าง ๆ

บทบาทหน้าที่หลักของสำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 
(1) การรับเรื่องราวร้องทุกข์และสืบสวนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันทั้งใน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 
(2) การสืบสวนการประพฤติหรือปฏิบัติงานโดยมิชอบ (malpractices) ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ 
(3) การพิจารณาพฤติกรรมและกระบวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการในการให้บริการสาธารณะเพื่อลดโอกาสของการเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน 

สำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชันของสิงคโปร์ (CPIB) มีโครงสร้างในการทำงานที่เล็ก ไม่ซับซ้อน มีผลทำให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัวสูงประกอบกับการมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ให้อำนาจในการปฏิบัติงานได้อย่างอิสระ จึงทำให้การปฏิบัติงานด้านการสืบสวนของสำนักงานสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชั่น (CPIB) สามารถจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว

ลองพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศไทยในการจัดการกับปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบบ้างว่าหากจะปรับใช้จากกรณีของสิงคโปร์นั้นเราจะสามารถนำสิ่งดี ๆ มาใช้ได้อย่างไร

ประการแรก กลยุทธ์การจัดการปัญหาคอร์รัปชัน นั้น คือ ความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาจากฝ่ายการเมือง เป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการฝ่าด่านการแก้ปัญหานี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ การเมืองไม่นิ่งและมีการต่อรองทางการเมืองเพื่อรักษาเสถียรภาพในการบริหารประเทศ การเมืองนิ่งในประเทศไทยนั้นหากย้อนกลับไปสักยี่สิบปีจะพบว่า มีแค่สองช่วง คือ สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 และสมัยรัฐบาลที่มาจากการกระทำรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม ปัญหาการคอร์รัปชั่นในสมัยนั้น ยังอยู่ในระดับมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากจะฝ่าด่านการแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบโดยยึดกลยุทธ์ 5 ด้านของสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยจึงติดตั้งแต่ข้อแรก 

ลองพิจารณาในด้านที่สอง กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากนับจำนวนกฎหมาย ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาทุจริตจำนวนมาก แต่กฎหมายดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การเพิ่มขั้นตอนเพื่อไม่ให้เข้าสู่กระบวนการด้านระยะเวลาตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องแล้วเสร็จ หรือมีบางตัวบทที่ตัดตอนหรือยกประโยชน์ให้กับความล่าช้าไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ ดังนั้น ในด้านที่สองนี้ แม้ว่าจะมีกฎหมายที่เขียนไว้อย่างสวยหรูเพียงใด แต่การปฏิบัติตามกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาการคอร์รัปชันไม่สัมฤทธิผล

ด้านที่สาม ระบบศาลและการดำเนินคดีที่มีความอิสระ หากพิจารณาเชิงระบบ ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการพอสมควร เพราะมีการจัดตั้งศาลคดีทุจริต ขึ้นมาโดยเฉพาะ หากแต่กลไกที่นำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น ต้องเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น ประเด็นเรื่องรัฐเป็นผู้เสียหาย จึงเป็นอุปสรรคเมื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบและนำคดีขึ้นสู่ศาล ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือหย่อนสมรรถภาพ หรือในกรณีที่เลวร้าย คือ มีการต่อรองคดีได้ ทำให้แม้ว่าระบบศาลและการดำเนินคดีมีความอิสระ แต่ติดตั้งแต่ต้นทางนั่นเอง

ด้านที่สี่ การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด จริงจัง เด็ดขาด ในประเด็นนี้ หากไม่พูดถึงกรณีนาฬิกายืมเพื่อนมา ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดูจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เข้มงวดที่สุด ในบรรดาบทบัญญัติด้านการปราบปรามการทุจริต ในกรณีอื่น ๆ นั้น มีหลายปัจจัยที่ทำให้การดำเนินการแก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ความล่าช้าในการสืบสวนสอบสวน แม้ว่ากฎหมายจะระบุชัดในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การงดหรือการลดค่าปรับหรือการขยายเวลาการจัดซื้อจัดจ้าง 

ด้านที่ห้า การให้บริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ในประเด็นนี้ ต้องให้เครดิตว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้รับบริการ แม้ว่าบางกรณียังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านและการใช้ดุลพินิจยังลักลั่นอยู่บ้าง เช่น การเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนในหน่วยงานรัฐแม้ว่าหน่วยงานนั้นจะอยู่ในกระทรวงมหาดไทยและเชื่อมต่อฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ได้แล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่บริการสาธารณะอยู่ในระดับที่ดีขึ้น เพราะการปรับปรุงระบบบริการตามเทคโนโลยี และความพยายามในการให้บริการสาธารณะ

จากการพิจารณาใน 5 ด้านในกรณีสิงคโปร์จะพบว่า ประเทศไทยต้องพัฒนาต่อไปโดยเฉพาะเรื่อง ความตั้งใจในการแก้ปัญหา “อย่างจริงจัง” ของประชาชน แม้ว่าจะหวังพึ่งฝ่ายการเมืองได้ยาก หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป ภายใต้การตื่นรู้ ความเข้าใจถึงปัญหาและพิษภัยของการคอร์รัปชัน จะทำให้ปัญหาค่อย ๆ เบาบางลงแต่ใช้ระยะเวลาพอสมควร ทางออกสำคัญยิ่ง คือ การเปิดเผยข้อมูลและการ “ไม่ทน” ต่อการทุจริตประพฤติมิชอบ และการทำงานแบบเครือข่ายที่มีการเชื่อมโยงกัน นอกจากนั้น การออกแบบลักษณะของปัญหาที่ทำให้สามารถจัดการกรณีที่มีฐานความผิดรองรับแล้วโดยการเชื่อมโยงเทคโนโลยี จะทำให้การจัดการคดีมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น กรณีการกระทำความผิดจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึง การงดหรือลดค่าปรับหรือขยายเวลาโดยมิชอบซึ่งกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างมีรายละเอียดและประเด็นที่รัดกุมเพียงพอที่จะทำให้การใช้เทคโนโลยี AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ ข้อดีอย่างยิ่งของการใช้เทคโนโลยี AI หรือการสอบสวนคดีแบบเป็นขั้นเป็นตอน คือ เทคโนโลยีไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ไม่มีพรรคมีพวก ถูกผิดว่ากันตามตรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมมากกว่าปัจจุบันที่ระบบอุปถัมภ์และพรรคพวกได้หยั่งรากลึกลงไปจนกระทั่งวิกฤติโควิด-19 ปรากฏการทุจริตหลายรูปแบบตั้งแต่หน้ากาก อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งวัคซีน

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทยนั้น ยังมีทางแก้ไข และสามารถทำให้ดีขึ้นได้ หากมีความร่วมมือในภาคประชาชน อย่างเพิ่งสิ้นหวังครับ


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9