‘นิด้าโพล’ เผย!! คนไทยมอง อภิปรายซักฟอก ‘ฝ่ายค้าน’ ทำอะไร ‘แพทองธาร’ ไม่ได้

(9 มี.ค. 68) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง “ไม่ไว้วางใจ แค่นายกรัฐมนตรี!! ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-4 มีนาคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.49 ระบุว่า ควรขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และคณะรัฐมนตรีทั้งหมด รองลงมา ร้อยละ 31.83 ระบุว่า เห็นด้วยกับการขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ แค่เพียงคนเดียว ร้อยละ 17.63 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลยกับการขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และ/หรือ รัฐมนตรีคนใด ร้อยละ 11.91 ระบุว่า ควรขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีบางคน และร้อยละ 2.14 ระบุว่า ควรขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเฉพาะรัฐมนตรี ไม่รวมนายกรัฐมนตรี

ด้านระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 37.25 ระบุว่า จำนวน 3 วัน รองลงมา ร้อยละ 24.89 ระบุว่า จำนวน 2 วัน ร้อยละ 21.30 ระบุว่า จำนวน 5 วัน ร้อยละ 11.68 ระบุว่า จำนวน 1 วัน ร้อยละ 4.35 ระบุว่า จำนวน 4 วัน และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงหลังจากทราบผลการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
แพทองธาร ชินวัตร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 53.44 ระบุว่านายกฯ แพทองธาร ยังคงอยู่ในตำแหน่งเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 31.22 ระบุว่า จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 28.17 ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม ร้อยละ 21.15 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 11.76 ระบุว่า จะมียุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 6.64 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ร้อยละ 6.11 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่นายกฯ คนใหม่จะยังคงมาจากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 5.95 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคฝ่ายค้าน ร้อยละ 5.80 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะลดลง ร้อยละ 5.11 ระบุว่า จะมีการสลับขั้วทางการเมือง เปลี่ยนรัฐบาล ร้อยละ 4.43 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


ที่มา : Thaipost