‘พล.อ.ณัฐพล’ เผย เดินหน้าฟื้นฟูแม่สาย เฟส 2 เล็งเสนอจัดทำแผนระบายน้ำ – พื้นที่รับน้ำ แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
(26 พ.ย. 67) พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ( ศปช. ) ให้สัมภาษณ์รายการ สถานีประชาชน ช่อง ThaiPBS ความคืบหน้าการฟื้นฟู อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังประสบสถานการณ์น้ำท่วม โคลนถล่ม ในเฟสแรกมีการส่งมอบพื้นที่ให้ท้องถิ่น 3 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลแม่สาย เทศบาลตำบลเวียงพังคำ และเทศบาลตำบลแม่สายมิตรภาพ การฟื้นฟูเฟสที่ 2 เป็นเรื่องของการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ พร้อมกับการวางแผนการแก้ไขปัญหาสำคัญ อย่างการสร้างพนังกั้นน้ำ และการขยายลำคลอง
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า การที่ทำงานสำเร็จ ไม่ใช่เฉพาะทหาร แต่เป็นทุกหน่วยงานราชการร่วมกัน ก่อนมีการตั้ง ศปช.ส่วนหน้า ทุกหน่วยงานก็เข้าพื้นที่ที่ได้รับการประสานงานขอความช่วยเหลือ ตามความพร้อมของแต่ละหน่วยงาน เมื่อตั้ง ศปช.ส่วนหน้าแล้วนั้น ก็มาวางแผนว่า จะดำเนินการอย่างไรให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดได้ ตามภารกิจที่น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธาน ศปช. มอบหมายมาให้ ต้องมีการกำกับติดตาม จึงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 พื้นที่ และกำหนดหัวหน้ารับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ และให้มีการส่งไทม์ไลน์การทำงานตามกรอบสิ้นเดือนตุลาคม ตามที่ประสาน ศปช.กำหนด แต่ละพื้นที่จดำเนินการอย่างไร เมื่อพื้นที่ไหน ไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่เสนอมา ก็จะมีการประชุมกันทุกวัน เพื่อสรุปงานแต่ละวัน เพื่อหาข้อสรุปปัญหาการเสร็จไม่ตามกำหนดที่เสนอมาของแต่ละพื้นที่ ถ้ามีปัญหา ไม่ว่าจะ คน เครื่องมือ ก็จะส่งเพิ่มเติมให้ พร้อมกับการสนับสนุนของ ประธาน ศปช. การทำงานแต่ละพื้นที่ก็เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนด
วิธีการทำงานของ พล.อ.ณัฐพล ในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ ได้รับการพูดถึงจากประชาชนที่ได้เห็นการทำงานในพื้นที่อยู่ตลอด ทำการสั่งการหน้างาน พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า การที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมทุกวัน ได้ประโยชน์หลายอย่าง อย่างแรก ได้กำกับติดตามงาน ให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนด ทำให้สามารถประเมินได้ว่าหน้างานที่เห็น จะเป็นไปตามไทม์ไลน์ไหม และเห็นปัญหาหน้างานที่แท้จริง ไม่ต้องรอการรายงานขึ้นมา อย่างที่สอง ทำให้สามารถเยี่ยมเยียนผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ปฏิบัติหน้าที่ เพราะถือว่าการให้กำลังใจคนทำงาน ที่ประหยัดที่สุด คือการเยี่ยมเยียน
การทำงานที่ผ่านมา มีการคงกำลังพลในการปฏิบัติงาน 1,700 นาย ศปช.ส่วนหน้ารักษาระดับกำลังพลอย่างน้อย 1,100 นาย ในพื้นที่ ส่วนที่เหลือให้มีการหมุนเวียนสลับกันไปพัก กำลังหลักมาจากหน่วยทหารในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งบ้านกำลังพลก็ประสบเหตุน้ำท่วมเช่นกัน ทำให้ต่างก็มีความกังวลบ้านของตน ก็ต้องใช้วิธีการให้กำลังใจตรวจเยี่ยมในทุกๆวัน และให้หมุนเวียนกลับไปดูแลบ้านของตน และกำชับผู้บังคับบัญชาในแต่ละกองทัพ ให้ดูแลบ้านของกำลังพลที่มาทำงาน จึงทำให้มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อเนื่องจนจบภารกิจ
ส่วนในการดูแลเฟสที่ 2 หลังจากส่งมอบพื้นที่ในการฟื้นฟูแล้วนั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า หลังจากส่งมอบพื้นที่แล้ว ทางรัฐบาลทำการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาการแก้ปัญหาในปีหน้า ในส่วนของการทำงานก็ยังติดตามการแก้ปัญหาต่อไป ทั้งในเรื่องการฟื้นฟูเฟสที่ 2 การป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในปีต่อไป ไม่ได้ทอดทิ้งประชาชน เพียงแต่กลับมาร่วมประชุมกับหน่วยงานในส่วนกลางเพื่อเตรียมการในปีหน้า
ในส่วนการทำงานปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพล ที่เรียกว่าเป็นจิตอาสาเต็มรูปแบบ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในปัจจุบัน กองทัพมีการปลูกฝังกำลังพล ในเรื่องของการเป็นจิตอาสา ทุกระดับ จนถึงนักศึกษาวิชาทหาร มีการอบรมเรื่องนี้มา เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สามารถช่วยประชาชนได้ ก็พร้อมช่วยเหลือโดยไม่แบ่งแยก
ในส่วนของกลาโหม ในการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า จากตรวจเยี่ยมพื้นที่ทุกวัน ก็มีการสอบถามพูดคุยความเห็นจากประชาชน โดยมีความเห็นว่า ลำน้ำแม่สาย แต่เดิม ลึก 5 เมตร ปัจจุบันเหลือเพียง 1.5 เมตร จึงเป็นสาเหตุให้มวลน้ำเอ่อล้นเข้าบ้านเรือน เขตชุมชน จงึต้องทำการขุดลอกลำน้ำ ทาง พล.อ. ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ได้ประสานงานกับทางประเทศเมียนมาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และได้รับการตอบรับสนับสนุนในการขุดลอกลำน้ำครั้งนี้ ต่อมา จะเป็นในเรื่องของการสร้างเขื่อน ด้วยลำน้ำแม่สาย มีช่วงลำน้ำหลายจุด ที่พัดเข้าสู่ฝั่งประเทศไทย ทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่ง รวมทั้งต้องวางแผนในการทำพื้นที่ระบายน้ำ พื้นที่รับน้ำ ด้วยพื้นที่แม่สายเป็นลักษณะแอ่งกระทะ ทำให้เอื้อต่อการเกิดน้ำท่วม จึงต้องวางแผนจัดทำพื้นที่ระบายน้ำ พื้นที่รับน้ำ
สำหรับการถอดบทเรียนในเหตุการณ์น้ำท่วมแม่สายนั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ทางกองทัพ หลังจากนี้ทางกองทัพจะจัดหายุทโธปกรณ์อะไรมาเพิ่มเติม ทางกลาโหมมีคน ทางมหาดไทยมีเครื่องมือ อนาคตอาจจะมีการทำความร่วมมือระหว่างกันในการทำงาน รวมทั้งให้มีการจัดทำบัญชีภาคเอกชนและจิตอาสาที่เข้ามาร่วมภารกิจ เพราะหลายๆทีมมีประสบการณ์ หากมีเหตุการณ์จะได้ประสานงานเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจได้