'หมอพรรคส้ม' ห้าว!! ลุกตัดงบกลาโหม ปมขยายโรงงานยาทหาร ด้าน 'จิรายุ' สวน!! เพราะบางยาให้เอกชนผลิตไม่ได้ ต้องควบคุมไง
เมื่อวานนี้ (5 ก.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายตัดงบกระทรวงกลาโหม ในส่วนของการสร้างโรงงานเภสัชกรรมทหารแห่งใหม่ 938 ล้านบาท โดยยกข้อมูลที่สับสน ไม่เป็นความจริง นำพาสังคม ไปสู่ความเข้าใจผิดในหลายประเด็น เช่น การตั้งคำถามเกี่ยวกับยาซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) หรือยาที่เรียกกันว่า ยาเสียตัว โดยกล่าวว่า ‘หลัง ๆ ยาชนิดนี้ไม่มีขายเท่าไรเพราะเป็นสารตั้งต้นยาบ้า ยาไอซ์‘ พร้อมนำมาอภิปรายผูกติดกับข้อมูลที่ว่า ‘ไทยส่งออกยาไอซ์สูงสุดอันดับ 1’ นับเป็นการกล่าวร้ายประเทศไทยบ้านเกิดของคนไทยอย่างน่าตกใจ จงใจนำข้อมูลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน มาอภิปรายเชื่อมโยงกันให้ประชาชนเข้าใจผิด จนทำให้คนไทยทั้งประเทศไทยเสียหาย
จึงขอเรียกร้องให้ สส.คนดังกล่าว อภิปรายด้วย ‘ความทรงภูมิใหม่’ เพื่อชี้แจงความจริงต่อสังคมว่า ผู้ที่สามารถจำหน่ายซูโดอีฟีดรีนสูตรเดี่ยวนั้น ความจริงคือผลิตได้เฉพาะผู้รับอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ฯ กระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม หรือ ‘สถาบันอื่นของทางราชการตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา’ เท่านั้น ดังนั้น โรงงานเภสัชกรรมทหาร เป็นหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม จำเป็นต้องผลิตทางการแพทย์ตามกฎหมาย และยานี้ห้ามขายในร้านขายยาทั่วไปตามกฎหมายอยู่แล้ว
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า การอภิปรายในสภา โดยไม่มีฐานข้อมูลรองรับที่ว่า ‘แทบทั้งโลกเลิกผลิตซูโดอีฟีดรีนแล้ว ไปใช้ยาตัวอื่น’ ไม่เป็นความจริง ณ วันนี้ยังมีการผลิตยาดังกล่าวเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ซึ่งเรื่องนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ‘หน่วยงานใดเป็นผู้ผลิต’ แต่ที่ผ่านมาคือ ‘การควบคุมการใช้ยา‘ โดยปัจจุบัน ยาชนิดนี้ถูกจัดให้อยู่กลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 (วจ.2) การใช้ต้องขออนุญาตทุกครั้งและจำกัดการใช้ ในทางการแพทย์ ยาทั้ง 2 ตัว เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มที่ใช้รักษาภาวะอาการเดียวกัน ทั้งหมดจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย
ส่วนวาทกรรมที่ว่า ‘การผลิตยาไม่ใช่ภารกิจของกองทัพ’ และ ‘กองทัพทำงานที่ไม่ใช่ธุระ’ พร้อมไล่เรียงเนื้อหาเพื่อเข้าสู่ปลายทางการตัดงบสร้างโรงงานเภสัชกรรมทหารแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรีนั้น ข้อเท็จจริงคือ โรงงานเภสัชกรรมทหาร เกิดขึ้น พ.ศ. 2484 - 2488 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่การผลิตยาเพื่อช่วยเหลือประชาชน และ ทหารในภาวะสงคราม จนปัจจุบันยังอยู่ในสังกัดปลัดกระทรวงกลาโหม ผลิตยาเพื่อใช้ในกองทัพ และที่ผ่านมาโรงงานเภสัชกรรมทหาร ช่วย GPO องค์การเภสัชกรรม ภายใต้กำกับของกระทรวงสาธารณสุข ผลิตยาใช้ในยามวิกฤต เช่น ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 ที่องค์การเภสัชกรรม ผลิตยาไม่ทัน เช่นกัน
ส่วนการอภิปรายเชิงประชดประชันว่า ‘ทหารเป็นหวัดคัดจมูกกันเยอะขนาดนั้นเลยเหรอคะ’ ทั้งที่โรงงานเภสัชกรรมทหาร ผลิตยาป้อนเข้าโรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้ยานี้ได้ เนื่องจากเป็นยาที่ควบคุมการผลิต และจำเป็นที่จะต้องควบคุมการผลิต และส่งให้กับโรงพยาบาลเพื่อรักษาคนไข้ การยกเอาฤทธิ์ของยาที่ถูกจำกัดการใช้ และนำเหตุผลว่ายานั้นเป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดขึ้นมาอภิปราย เพื่อ ‘สร้างความกลัว’ ให้กับสังคม ทำให้เข้าใจผิดคิดว่า ยานี้ให้โทษมากกว่าให้คุณ เป็นสิ่งที่ผู้ที่เป็นแพทย์ ไม่สมควรทำ และพรรคการเมืองเองก็ไม่สมควรที่จะเผยแพร่ข้อมูลด้านเดียวให้ประชาชนเข้าใจผิด
ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Passakorn Ton Kongsakorn' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า... "ห้ามทหารผลิตยา แต่สนับสนุนสุราเสรี ไม่เลวจริงทำไม่ได้นะครับ"
ที่มา: Thaipost