'หมอเหรียญทอง' แจง 10 ขั้นตอน รับมือได้ทันที หากเกิดภัยน้ำท่วม มั่นใจ!! ดูแลผู้ป่วย 'รพ.มงกุฎวัฒนะ' ทุกคนได้อย่างปลอดภัย
(26 ส.ค. 67) หมอเหรียญทอง แน่นหนา ได้ออกมาโพสต์ ประกาศความพร้อมปฏิบัติการสาธารณภัย ของ รพ.มงกุฎวัฒนะ หากเกิดสถานการณ์มหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง และ กรุงเทพฯ เหนือ เพื่อทราบดังต่อไปนี้
1. ระบบไฟฟ้ากำลัง (ภาพที่ 1) ของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ได้ย้ายจากชั้นใต้ดิน อาคารเก่า (อาคาร 1) ย้ายไปยังชั้นที่ 2 อาคารใหม่ (อาคาร 3) ที่มีความสูงจากระดับ ถ.แจ้งวัฒนะมากถึง 5 เมตร หรือสูงจากระดับน้ำทะเล 6 เมตร เปิดใช้งานระบบไฟฟ้ากำลังในชั้นที่ 2 อาคารใหม่ (อาคาร 3) มาตั้งแต่ 9 ม.ค.67 แล้ว
2. ระบบไฟฟ้าสำรอง (ภาพที่ 2-3) ของ รพ.มงกุฎวัฒนะ เป็นระบบเครื่องปั่นไฟสำรองคู่ [Dual Synchronizing Generator] ขนาด 820 KVA จำนวน 2 เครื่อง พร้อมเดินเครื่องปั่นไฟจ่ายไฟฟ้าสำรองให้แก่แผนกที่มีผู้ป่วยอาการหนัก เช่น ไอ ซี ยู, ห้องผ่าตัด, ห้องสวนหัวใจ, ห้องฉุกเฉิน ฯลฯ ระบบเครื่องปั่นไฟสำรองคู่สามารถเดินเครื่องพร้อมกัน หรือเดินเครื่องสลับสับเปลี่ยนกันเพื่อให้เครื่องปั่นไฟฟ้าสำรองได้พักผ่อนเครื่องได้ทำให้มีขีดความสามารถจ่ายไฟฟ้าสำรองในการรักษาผู้ป่วยอาการหนักได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา รพ.มงกุฎวัฒนะสามารถพึ่งตนเองได้ หากสถานการณ์อุทกภัยส่งผลให้ระบบไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวงขัดข้องอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายวันหรือหลายสัปดาห์
3. ระบบการส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศ [Aeromedevac] (ภาพที่ 4) คือ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ตามมาตรฐาน ICAO หรือองค์การการบินระหว่างประเทศ ขนาด 21.0 เมตร x 21.0 เมตร หรือ 441 ตารางเมตร พร้อมลานจอดพักเครื่อง (PARK) อีก 47.0 เมตร x 8.0 เมตร หรือ 376 ตารางเมตร รองรับน้ำหนักเฮลิคอปเตอร์ขณะทำการบินขึ้นสูงสุด หรือ MTOW [Maximum Take Off Weight] สูงสุด 2 เท่าของเฮลิคอปเตอร์ที่มีน้ำหนักรวมสัมภาระบรรทุก 3,750 กรัม ซึ่งหมายความว่า เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพ รุ่น EC145 แล AW 149 สามารถบินขนส่งลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศมายัง รพ.มงกุฎวัฒนะได้
4. ระบบการส่งต่อผู้ป่วยทางน้ำ คือ ‘ทางเข้า รพ.มงกุฎวัฒนะด้าน ซอยแจ้งวัฒนะ 14’ , ‘ทางเข้า รพ.มงกุฎวัฒนะด้าน ซอยแจ้งวัฒนะ 12’ ที่มีระดับความสูงเหนือถนนแจ้งวัฒนะ 1.20 เมตร ตลอดจน ‘เกาะกลางถนนแจ้งวัฒนะ’ ซึ่งเคยใช้ปฏิบัติการเป็น ‘ท่าเรือ รพ.มงกุฎวัฒนะ’ มาแล้วเมื่อมหาอุทกภัย พ.ศ.2554
5. ระบบก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ (ภาพที่ 5) ที่มีขนาดบรรจุออกซิเจนเหลว (Liquid Oxygen) ขนาดใหญ่รองรับผู้ป่วยจำนวนสูงสุดมากถึง 600 เตียง พร้อมระบบการผลิตก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์สำรอง ในกรณีที่โรงงานผู้ผลิตออกซิเจนเหลวไม่สามารถขนส่งลำเลียงออกซิเจนเหลวมายัง รพ.มงกุฎวัฒนะได้ เราก็ยังสามารถประคับประคองด้วยการผลิตอ๊ออกซิเจนสำรองบรรจุถังเพื่อพึ่งตนเองในการรักษาผู้ป่วยได้ยามจำเป็นหน้าสิ่วหน้าขวาน
6. ระบบ ไอ ซี ยู ที่มีขีดความสามารถรับผู้ป่วยอาการหนักจำนวนมากถึง 90 เตียง และสามารถเพิ่มกำลังสูงสุดอีก 36 เตียงรวมขีดความสามารถสูงสุดในสถานการณ์จำเป็นมากถึง 126 เตียง ไอ ซี ยู …ไม่ได้โม้นะครับ ปฏิบัติการสำเร็จจนเป็นที่ประจักษ์มาแล้วในสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างเดือน เม.ย.- ก.ย.64
7. ระบบหอผู้ป่วยใน ทั้งห้องพิเศษเดี่ยว และหอผู้ป่วยสามัญที่พร้อมปฏิบัติการรับการส่งต่อผู้ป่วยจำนวนมากจากพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยสามารถรับผู้ป่วยสูงสุด 600 เตียง หากสถานการณ์เลวร้ายก็พร้อม ‘ปฏิบัติการ รพ.สนามขั้นสมบูรณ์อีก 400 เตียง’ รวมสูงสุด 1,000 เตียง ภายในเวลาไม่เกิน 3 วัน…โม้ฉิบหายแต่ทำมาแล้วโว้ย!
8. ระบบอาหารของ รพ.มงกุฎวัฒนะ เป็น ระบบ ‘Cook & Chill’ ดังนั้นเราจึงพร้อมผลิตอาหารจำนวนมาก ๆ แล้วกักตุนไว้ให้เย็น [Cold room] ให้สามารถเผชิญปัญหาการขาดวัตถุดิบในการทำอาหารได้นาน 30 วัน
9. ระบบระดมพล รพ.มงกุฎวัฒนะรวมบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาเข้าพักอาศัยใน รพ.มงกุฎวัฒนะทันทีที่มวลน้ำเข้าถึงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี-นนทบุรี ทั้งนี้เพื่อให้ รพ.มงกุฎวัฒนะมีความพร้อมด้านกำลังพลเต็มอัตรา ตลอดจนการรระดมพลจิตอาสา ดังเช่นปฏิบัติการ รพ.สนามพลังแผ่นดินในสถานการณ์โควิด-19 ที่เราประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดมาแล้ว
10. อื่น ๆ ขอเว้น เพราะโม้มากไปแล้วครับ
รพ.มงกุฎวัฒนะจะเป็น ‘ศูนย์รับการส่งต่อผู้ป่วยจากสถานการณ์มหาอุทกภัยในทันทีที่มวลน้ำคุกคามประชาชน’ ดังนั้น รพ.มงกุฎวัฒนะขอประกาศว่า “พสกนิกรภายใต้ร่มพระบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์เจ้าจะได้รับการรักษาชีวิตอย่างสุดกำลังจาก รพ.มงกุฎวัฒนะ โปรดอย่าตื่นตระหนกในทุกสถานการณ์ภัยพิบัติ เราคืออดีตทหารของพระราชาจอมทัพภูมิพลมหาราชที่ยังคงเป็นทหารพระราชาแห่งองค์จอมทัพมหาวชิราลงกรณ์พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา
ทหารเก่าแก่ที่ไม่มีวันตายไปจากพระเจ้าแผ่นดิน
ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ
26 ส.ค.67 เวลา 9.35 น.