‘สื่อเวียดนาม’ ปรี๊ดแตก!! หลังผลงาน ‘นักกีฬาโอลิมปิก’ ล้มเหลว ชี้!! ไม่ได้ด้อยกว่าชาติใด เตรียมจัดทัพใหม่ ลุ้นต่อไป โอลิมปิกที่อเมริกา

(12 ส.ค. 67) VN Express สื่อเวียดนามสรุปผลการแข่งขันกีฬาปารีส โอลิมปิก 2024 ที่ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา ยอมรับว่าผลงานของทีมชาติเวียดนาม ‘ล้มเหลว’ ไม่ได้เหรียญรางวัลติดมือกลับบ้านแม้แต่เหรียญเดียวติดต่อกันเป็นสมัยที่ 2 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนต่างมีพัฒนาด้านกีฬาที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี ที่เวียดนามไม่ได้เหรียญรางวัลโอลิมปิกถึง 2 สมัยติดต่อกัน นับตั้งแต่งานโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว และล่าสุดที่โอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส โดยกีฬาที่เป็นความหวังที่สุดคือ ยกน้ำหนักชายรุ่น 61 กก. แต่ทว่า ทรินห์ วัน วินห์ ล้มเหลวในการยกทั้ง 3 ครั้ง ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย 

จากผลงานของ ทรินห์ วัน วินห์ นอกจากจะดับความหวังของชาวเวียดนามในการลุ้นเหรียญแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมของเวียดนามในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปีล่าสุดนี้ ที่ทำให้ทีมนักกีฬาเวียดนามไม่ประสบความสำเร็จในการคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้านได้

ซึ่งสวนทางกับผลงานในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2023 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ผ่านมา ที่ทีมนักกีฬาเวียดนามประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถคว้าเหรียญทองได้ถึง 136 เหรียญ ครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองอาเซียนไปได้ และยังทิ้งห่างไทย ที่ได้เหรียญทองมาเป็นที่ 2 ถึง 28 เหรียญ

โดยเวียดนาม จัดเป็น 1 ใน 6 ชาติที่มีความโดดเด่นด้านกีฬาที่สุดในย่านอาเซียน อันได้แก่ เวียดนาม, ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และ สิงคโปร์ 

แต่ความสำเร็จในกีฬาระดับ ซีเกมส์ ไม่ได้การันตีผลลัพธ์ระดับ เอเชียน เกมส์ หรือ โอลิมปิกสำหรับเวียดนาม เมื่อดูจากผลงานการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ที่เมืองหังโจว ประเทศจีน เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา เวียดนามจบที่อันดัน 21 จากตารางเหรียญ และเป็นอันดับที่ 6 ในกลุ่มชาติอาเซียน ได้ไป 3 เหรียญทอง ในขณะที่ไทยได้ไป 12 เหรียญทอง เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียน

และในการแข่งขันปารีส โอลิมปิก 2024 เวียดนามก็ยังไม่สามารถเอาชนะกลุ่มประเทศคู่แข่งด้านกีฬาของอาเซียนได้  โดย ชาติอาเซียนสร้างผลงานคว้าเหรียญโอลิมปิกได้ถึง 15 เหรียญ และเป็นเหรียญทองถึง 5 เหรียญ  

ซึ่งม้ามืดของปีนี้ ต้องยกให้ คาร์ลอส  ยูโล นักยิมนาสติกของฟิลิปปินส์ ที่ทำได้ถึง 2 เหรียญทอง ส่วน  อินโดนีเซีย ได้ไป 2 เหรียญทองเช่นกัน จาก วิดิค ลีโอนาโด ในกีฬาปีนเขา และ ริซกิ จูเนียนสยา จากกีฬายกน้ำหนักชายรุ่น 73 กิโลกรัม ในขณะที่ไทย แม้จะเพียงได้ 1 เหรียญทองจากกีฬาเทควันโด โดย น้อง เทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ แต่ทีมนักกีฬาของไทยก็สามารถคว้าเหรียญโอลิมปิกได้ถึง 6 เหรียญ มากที่สุดในกลุ่มชาติอาเซียน

เวียดนามเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1988 แต่สามารถคว้าเหรียญเงินได้เป็นครั้งแรกในงานโอลิมปิก 2000 ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย  โดย ตรัน ฮิว งาน จากกีฬาเทควันโดหญิง หลังจากนั้นก็มีนักกีฬาเวียดนามเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง ฮวง ซวน วินห์ สามารถคว้าเหรียญทองแรกให้เวียดนามได้สำเร็จ จากกีฬาปืนอัดลม 10 เมตร ในงานโอลิมปิก ปี 2016 ที่ริโด เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล  

แต่ถึงแม้เวียดนามจะพยายามผลักดันศักยภาพของนักกีฬาให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในย่านอาเซียนได้อย่างทัดเทียม แต่สื่อเวียดนามยอมรับว่า เพื่อนบ้านในอาเซียนต่างมีพัฒนาการในด้านกีฬาที่ก้าวกระโดดอย่างมาก จนสามารถบรรลุเป้าหมายเหรียญรางวัลในสนามแข่งขันระดับโลกได้มากกว่าเวียดนาม

อีกทั้งสรีระ รูปร่างของนักกีฬาของอาเซียน เป็นหนึ่งในข้อเสียเปรียบ ที่ทำให้ชาติอาเซียนจำเป็นต้องมุ่งเน้นประเภทกีฬาที่กำหนดน้ำหนักในการแข่งขัน อาทิ ยกน้ำหนัก มวยสากล หรือ เทควันโด 

แต่เมื่อมีการบรรจุกีฬาเอ็กซ์ตรีม เข้าไปอยู่ในงานโอลิมปิกมากขึ้น ได้เปิดโอกาสให้นักกีฬาหน้าใหม่จากอาเซียน สามารถทะลุเข้าถึงรอบแข่งไฟนอล  อาทิ น้อง ‘เอสที’ วารีรยา สุขเกษม นักกีฬาไทย วัย 12 ปี ที่อายุน้อยที่สุดในการแข่งขันกีฬาสเก็ตบอร์ตในปารีส โอลิมปิก  หรือความสำเร็จของ  วิดิค ลีโอนาโด ที่คว้าเหรียญทองกีฬาปีนเขาให้กับอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก ถือเป็นกลยุทธในการส่งเสริมนักกีฬารุ่นใหม่ที่ได้ผลตอบแทนอย่างน่าภูมิใจ 

สื่อเวียดนามย้ำว่า นักกีฬาเวียดนาม ไม่ได้ด้อยกว่าชาติใดๆ ในอาเซียน เพียงแต่ต้องกลับมาเรียนรู้ ทบทวนใหม่ ว่าการส่งเสริมทีมชาติของเวียดนามพลาดที่ตรงไหน ก่อนจัดทัพใหม่อีกคร้้ง ในงานโอลิมปิกครั้งต่อไปที่นคร ลอส แอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2028 


อ้างอิง : VN Express

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์