(29 ก.ค. 67) บัญชีอย่างเป็นทางการของโอลิมปิกได้ลบคลิปพิธีเปิดปารีสเกมส์ 2024 ออกจากช่องยูทูบของพวกเขา ตามหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างกวาง โดนไฟย้อนศรจากทั่วโลก จากรณีที่ปล่อยให้มีการแสดงล้อเลียนภาพวาดชื่อดัง The Last Suppe (พระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูในศาสนาคริสต์) โดยกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งถูกชาวคริสเตียนมองว่าเป็นการดูหมิ่นศาสนา
พวกผู้ชมที่พยายามเข้าถึงวิดีโอนี้ต้องเจอกับข้อความที่เน้นว่า ‘ไม่มีวิดีโอนี้’ อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นทั้งคณะกรรมการโอลิมปิก หรือฝ่ายจัดปารีสเกมส์ 2024 ต่างยังไม่ออกมาชี้แจงใดๆ ต่อการลบคลิปดังกล่าว
ในพิธีเปิด ซึ่งนำเสนอในรูปแบบแปลกแหวกแนว มีตัวแสดงที่หลากหลายเข้าร่วม ในนั้นรวมถึงนางแบบ นายแบบ แดนเซอร์ บุคคลที่มีชื่อเสียงด้านแฟชั่น รวมถึงแดร็กควีน แต่หนึ่งในส่วนอันเป็นที่ถกเถียงมากที่สุดคือฉากล้อเลียนพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูในศาสนาคริสต์ ตามภาพวาด ‘The Last Supper’ ของเลโอนาร์โด ดาวินชี ซึ่งโหมกระพือไฟย้อนศรอย่างหนัก
‘พิธีนี้น่าเสียดายที่มีฉากที่ศาสนาคริสต์ถูกล้อเลียนและเยาะเย้ย ซึ่งเราเสียใจอย่างสุดซึ้ง’ การประชุมเหล่าบิชอป ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ (27 ก.ค.) ‘เราขอขอบคุณสมาชิกของนิกายทางศาสนาอื่นๆ ที่ได้แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับเรา’ ถ้อยคำหนึ่งจากคำแถลงดังกล่าวและว่า ‘เช้านี้เรานึกถึงชาวคริสต์ทุกคนในทุกทวีปที่เจ็บปวดจากฉากบางฉากที่เกินจริงและยั่วยุ’
บิชอป เอ็มมานูเอล โกบิลลาร์ด โฆษกตัวแทนกลุ่ม Holy See for the 2024 Paris Olympics ให้สัมภาษณ์กับเอ็นบีซีนิวส์ ว่าฉากการดัดแปลงภาพ The Last Supper สร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก
ข้อเท็จจริงคือศาสนาของเราอาจถูกล้อเลียนเป็นปกติและเราเคยชินกับการถูกดูหมิ่นในฝรั่งเศส แต่ในบริบทนี้ไม่เหมือนกัน พระองค์กล่าว มันคือมหกรรมที่นำพาผู้คนทั่วโลกหรือบางส่วนของประชากรโลกมาเป็นหนึ่งเดียวกัน ข้าพเจ้าพบว่าการแสดงนี้เจ็บปวดอย่างที่สุดและอยู่ผิดทิศผิดทาง
ต่อมา หลังจากถูกวิพากษิวิจารณ์อย่างหนัก แอนน์ เดส์ช็องป์ส โฆษกปารีสเกมส์ 2024 เผยแพร่ถ้อยแถลงขอโทษ อธิบายว่าพวกเขาไม่เคยมีเจตนาแสดงความไม่เคารพต่อกลุ่มศาสนาไหนๆ และแสดงความเสียใจที่การแสดงดังกล่าวก่อความขุ่นเคืองใดๆ
ด้วยคลิปที่มีภาพฉากอันเป็นที่ถกเถียงถูกลบไปแล้วและบางคลิปของพิธีเปิดถูกปิดไม่ให้แสดงความคิดเห็น ผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์จึงไหลบ่ากันไปยังวิดีโอพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ครั้งก่อนๆ ในนั้นรวมถึงลอนดอน 2012 และโซชิเกมส์ปี 2014 ซึ่งทั้ง 2 ครั้ง ย้อนให้เห็นถึงแนวทางที่ทำให้พิธิเปิดประสบความสำเร็จ และแสดงความผิดหวังต่อพิธีเปิดของปารีสเกมส์
อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาและแพลตฟอร์มเอ็กซ์ เป็นหนึ่งในคนดังที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยบอกว่า หากไม่มีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ยุติธรรมและถูกต้องมากขึ้น ศาสนาคริสต์ก็จะพินาศไป
พอมีชาวเน็ตเขียนก่อกวนและล้อเลียนพระเยซูว่า หากคุณกำลังจะกลับไปเกิดใหม่อีกครั้งเราพร้อมเสมอที่จะช่วยคุณ ทาง อีลอน มัสก์ เขียนตอบโต้กลับไปว่า ผมเชื่อในหลักการของศาสนาคริสต์ เช่น รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง หมายถึง มีความเห็นอกเห็นใจกับทุกคน และหันแก้มอีกข้างให้ หมายถึง ยุติวัฏจักรแห่งการจองเวรซึ่งกันและกัน
แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ฝ่ายสร้างสรรค์การแสดงชุดดังกล่าวออกมาปกป้องตนเอง โดยบอกว่า มันจะไปสนุกอะไรถ้าไม่มีประเด็นถกเถียง มันคงจะน่าเบื่อน่าดู หากทุกๆ คนบนโลกครั้งเห็นพ้องตรงกันหมด
นอกจากบุคคลทั่วไปและในแวดวงศาสนาแล้ว การแสดงในพิธีเปิดปารีสเกมส์ ยังถูกตำหนิจากบรรดาสื่อมวลชนกระแสหลัก ในนั้นรวมถึงนิวยอร์กไทม์สและนิวยอร์กโพสต์ ซึ่งสำนักข่าวหลังให้คำจำกัดความว่าเป็นพิธีเปิดที่ น่าเบื่อ คิดไม่ดีและไม่ปะติดปะต่อ ส่วน Le Figaro หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส บอกว่าการแสดงมีความทะเยอทะยาน แต่ยอมรับว่าบางองค์ประกอบนั้นเลยเถิดจนเกินไป
.