สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ แสวงหาความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล มุ่งแก้ไขความเดือดร้อน สร้างความสงบสุขอย่างยั่งยืนแก่ประชาชนและสังคม

ตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ที่มุ่งให้ความสำคัญในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทุกประเภท ซึ่งทวีความรุนแรง เป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอันมาก สมควรที่จะแสวงหาความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมบูรณาการปฏิบัติกับหน่วยงานความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน ในระดับพหุภาคีและระดับสากล จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ราชอาณาจักรไทย พร้อมคณะ ประกอบด้วย พล.ต.ท.อภิชาติ สุริบุญญา ผบช.กมค., พล.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ ที่ปรึกษา ผบ.ตร.ด้านต่างประเทศ, พล.ต.ต.อิทธิพล จันทร์ศรีบุตร ผบก.ขส.บช.ปส., พล.ต.ต.สุระพันธุ์ ไทยประเสริฐ ผบก.ตท., พ.ต.อ.พงษ์เดช คำใจสู้ รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่, ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ, ป.ป.ส., กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม เดินทางไปร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 24 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (The 24th ASEAN Senior Officials Meeting on Transnational Crimes) (SOMTC) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 28 มิ.ย.67 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกับผู้แทนจากชาติสมาชิก 21 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ (ประเทศคู่เจรจา SOMTC+3) ออสเตรเลีย และแคนาดา โดยมี พล.ต.ท.กงทอง พงวิจิด รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ และ พล.ต.ต.สุลินะ แก้วปะเสิด ปลัดกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้การต้อนรับ

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เปิดเผยว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งเป็นเสาหลักที่ 1 จาก 3 เสาหลักของอาเซียน เพื่อป้องกันและต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติที่มีอยู่และเกิดขึ้นใหม่ และเน้นการติดตามผลตามแผนงานความร่วมมือ การประสานงานข้ามภาคส่วนและระดับ พหุภาคี การยกระดับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาข้างต้นและประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้ความร่วมมือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ใน 10 สาขา ได้แก่ การลักลอบค้าอาวุธ การก่อการร้าย การฟอกเงิน การละเมิดลิขสิทธิ์ทางทะเล การลักลอบขนคนโดยผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ อาชญากรรมทางไซเบอร์ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การลักลอบค้ายาเสพติด และการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า โดยประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการป้องกันปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติด และการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งทุกประเทศที่ร่วมประชุมได้ร่วมติดตามผลการปฏิบัติและพร้อมดำเนินการตามแผนความร่วมมือ ผลการประชุมหารือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์ในประเทศไทย มีการฉ้อโกงออนไลน์และการหลอกลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ ผนวกกับการหลั่งไหลของทุนจีนเข้ามาในภูมิภาค โดยคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์มีจำนวนมากถึงร้อยละ 70 ของคดีที่ได้รับแจ้งทั้งหมด ซึ่งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ใช้เทคโนโลยีและประสานองค์การตำรวจสากลให้การสืบสวนและการจับกุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับการค้ามนุษย์และลักลอบขนคน ในปัจจุบันมีเหตุปัจจัยกระตุ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในยุโรปและตะวันออกกลาง ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย และการเปิดประเทศเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต้องปรับตัวให้เท่าทันเพื่อแก้ไขปัญหา สำหรับการลักลอบค้ายาเสพติด ประเทศไทยเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านยาเสพติดเพื่อประชาคมที่มั่นคงของอาเซียน พ.ศ.2559 - 2568 และเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียนด้านยาเสพติด (ASEAN-NARCO) เป็นหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือ ปัจจุบันประเทศไทยสามารถจับกุม และตรวจยึดของกลางยาเสพติดได้ในจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ราคาขายปลีกมีแนวโน้มลดลง สำหรับการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า มีการนำเทคโนโลยีระบบ นิติวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรม DNA มาใช้เพื่อระบุตัวตน และจำแนกแหล่งที่มาของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั้งนี้ การบริหารจัดการชายแดนแบบเชิงรุก ทำให้คดีและผู้กระทำผิดลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ประจวบฯ ยังได้กล่าวขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย ที่ให้ความร่วมมือในการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญของไทย พร้อมทั้งบริหารจัดการส่งตัวผู้ต้องหากลับประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นรูปแบบความร่วมมือที่เป็นแบบอย่าง โดยประเทศไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศสมาชิก ตลอดจนหน่วยงานความมั่นคงทั้งในและระหว่างภูมิภาค ที่จะส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับพหุภาคีและระดับสากล เคียงข้างและร่วมมือกันป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและปัญหาความมั่นคงทุกประเภท นำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภทในภาพรวม เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนมีความปลอดภัย มีสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน