Friday, 5 July 2024
ปราบปรามอาชญากรรม

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าร่วมการประชุม International Police Summit 2023 แสวงหาความร่วมมือในระดับสากล เร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท สร้างความสงบสุขอย่างยั่งยืนแก่ประเทศชาติและประชาชน

วันนี้ ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งให้ความสำคัญ ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มพัฒนารูปแบบเป็นอาชญากรรมข้ามชาติและมีลักษณะเป็นองค์กร ขนาดใหญ่ ทวีความรุนแรง เป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอันมาก สมควรที่จะแสวงหาความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมบูรณาการปฏิบัติกับหน่วยงานความมั่นคงในระดับสากลอย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมคณะ ประกอบด้วย พ.ต.อ.พงษ์เดช คำใจสู้ รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ และ พ.ต.อ.ศิลา ตันตระกูล ผกก.ฝ่ายความร่วมมือและกิจการระหว่างประเทศ ตท. เดินทางไปร่วมประชุม International Police Summit 2023 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 20 ตุลาคม 2566 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับ นาย Shahkar Fasai ที่ปรึกษาพิเศษ

ด้านงานตำรวจ องค์การสหประชาชาติ (UNPA) และหัวหน้าองค์กรตำรวจและผู้แทนจาก 34 ประเทศ ตลอดจนผู้แทน UNDPO, UNDP และ Europol โดยมีนาย Yoon Hee Keun ผบ.ตร.สาธารณรัฐเกาหลี และ นาย Cho Ji Ho รอง ผบ.ตร.สาธารณรัฐเกาหลี ให้การต้อนรับ ในการนี้ พล.ต.ท.ประจวบฯ และคณะ ได้เข้าร่วมงานวันตำรวจแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี เป็นการแสดงออกถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับ นาย Bun Kee Moon อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสาธารณรัฐเกาหลี เอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ และหัวหน้าหน่วยงานตำรวจจาก 34 ประเทศทั่วโลก โดยมี นาย Yoon Suk Yeol ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ให้การต้อนรับ พิธีเป็นไปอย่างอบอุ่นและสมเกียรติ

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า การประชุม International Police Summit 2023 เป็นการร่วมหารือและดำเนินกลยุทธ์เพื่อป้องกันและต่อสู้กับอาชญากรรมทุกประเภทที่มีอยู่และเกิดขึ้นใหม่ โดยในปัจจุบันบริบทการทำงานของตำรวจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สืบเนื่องจากอาชญากรรมและภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของประชาชนที่ซับซ้อนและรุนแรง ภัยพิบัติทางด้านสุขภาพของประชากรโลก และการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการทำงานของตำรวจ ดังนั้น การประชุมตำรวจนานาชาติในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีของผู้บริหารหน่วยงานตำรวจจากทั่วโลกที่จะร่วมกันบอกเล่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ระดมแนวคิดสำหรับการดำเนินการเชิงรุกในการรับมือกับภัยคุกคามในอนาคต และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระยะยาว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความสำคัญต่อการแสวงหาร่วมมือกับหน่วยงานตำรวจของประเทศอื่นๆ อย่างมาก มีการปฏิบัติที่สำคัญในความร่วมมือ เช่น แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (2023-2027) (LM-LECC) อันเป็นความร่วมมือของกันระหว่าง 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาค เน้นความสำคัญในอาชญากรรมข้ามชาติอันร้ายแรง และในช่วง 3 เดือนแรก สามารถช่วยเหลือบุคคลที่ถูกหลอกลวงมาทำงาน และจับกุมผู้ต้องหากลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 39 คน นอกจากนี้ยังการมีปฏิบัติการร่วมกับกัมพูชา ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ในเมืองสีหนุวิลล์ และสามารถช่วยเหลือเหยื่อชาวไทยกว่า 800 ราย โดยมีมาตรการต่อไปคือการส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมพื้นที่การปฏิบัติที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง  เพื่อศึกษาสาเหตุที่แท้จริงและออกมาตรการใหม่ต่อไป 

ในส่วนของอาชญากรรมออนไลน์ 18 เดือนที่ผ่านมา เราได้รับรายงานมากกว่า 330,000 ครั้ง มูลค่าความเสียหาย ประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ออกมาตรการ จัดตั้งระบบรายงานเหตุออนไลน์ จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนและศูนย์แจ้งเตือนอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมทั้งเพิ่มหน่วยงานเฉพาะทาง เช่น ตำรวจไซเบอร์ขึ้น นอกจากนี้ยังมีการปรับแก้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนความร่วมมือระดับภูมิภาค ได้เพิ่มความพยายามในการป้องกันการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลข้ามชาติ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาระบบสื่อสาร และฝึกอบรมบุคลากรที่เชี่ยวชาญ 

จากนั้น พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี ทั้ง 2 ประเทศได้บรรลุความตกลงมาตรการเสริมสร้างความร่วมมือที่ดี ร่วมกันรักษาความปลอดภัยให้พลเมืองไทย จำนวน 2 แสนคน ที่เป็นนักท่องเที่ยว และทำงานในประเทศเกาหลี ตลอดจนพลเมืองเกาหลีที่เป็นนักท่องเที่ยว เรียน และทำงานในประเทศไทย อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยในอนาคตจะผลักดันให้มีผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ เพื่อรองรับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
 
นอกจากนี้ พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับกระทรวงความมั่นคง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้ง 2 ประเทศได้บรรลุความตกลงมาตรการเสริมสร้างความร่วมมือที่ดี โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย จะเข้าร่วมโครงการ International Initiative of Law Enforcement for Climate (I2LEC) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร่วมกับ UNODC, Interpol, UNPOL และ 41 ประเทศ ร่วมกันแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งจากผลวิจัยพบว่า climate change เป็นผลกระทบโดยตรงจากปัญหาอาชญากรรมขนาดใหญ่ เช่น การฟอกเงิน การค้ามนุษย์ ฯลฯ และตำรวจเป็นองค์กรแรกที่ต้องจัดการกับปัญหาต่างๆ สร้างเครือข่ายระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมกรรมที่เกี่ยวข้องกับหรือเป็นต้นเหตุของ climate change ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับ climate change หรือ environmental crime อย่างจริงจังและยั่งยืน 

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า การแสวงหาความร่วมมือในทุกมิติผ่านการประชุม International Police Summit 2023 ในครั้งนี้ ส่งผลให้ทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมบรรลุเจตนารมณ์ร่วมกันในการเล็งเห็นความสำคัญและการตระหนักถึงผลกระทบ ของอาชญากรรมทุกประเภท ซึ่งในปัจจุบันมีลักษณะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติและมีลักษณะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งทวีความรุนแรง เป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมของทุกประเทศ และจะร่วมกันยกระดับการประสานความร่วมมือในการบูรณาการปราบปรามและแก้ไขปัญหานี้อย่างใกล้ชิดและจริงจังอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคี และระดับสากล เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนมีความปลอดภัย เกิดสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา สนธิกำลังกับตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ รวบเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) , พล.ต.ต.มานัด ศรีวงษา รอง ผบช.สตม. , พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. , พล.ต.ต.ทรงโปรด สิริสุขะ ผบก.ตม.6 นำกำลัง ตม.จว.สงขลา ผนึกกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สะเดา , เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) บช.ก , เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. คลองแงะ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.6 กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) บช.ก. เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2567 เวลาประมาณ 14.50 น. ได้ร่วมกันจับกุม MR.CHEONG KOK WAI  อายุ 43 ปี สัญชาติ มาเลเซีย  

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ได้รับการประสานว่ามีบุคคลต้องสงสัยตามหมายจับ ผ่านพรมแดนเข้ามายังประเทศไทย จึงขอให้ตำรวจ สภ.สะเดา ตั้งจุดสกัด ต่อมาได้พบรถเก๋งยี่ห้อ Mercedes-benz  ติดแผ่นป้ายทะเบียน WA868W จึงตามไปถึงบริเวณแยกไฟแดงควนสะตอ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้หยุดรถและแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ พบ MR.CHEONG KOK WAI สัญชาติมาเลเซีย ได้เชิญตัวมายัง สภ.สะเดา ตรวจสอบพบหมายจับดังกล่าว สอบถาม MR.CHEONG KOK WAI ผู้ถูกจับกุมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ขอให้การในชั้นจับกุม

พ.ต.อ.ชินวุฒิ ตั้งวงษ์เลิศ ผกก.ตม.จว.สงขลา กล่าวว่า การจับกุมในครั้งนี้ ผบช.สตม.มีนโยบายให้เข้มงวดคัดกรองตรวจสอบประวัติบุคคล ไม่ให้มีผู้กระทำความผิดกฎหมายเข้ามาสร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยได้ จึงขอฝากข้อมูลถึงประชาชน หากพบเบาะแสสามารถแจ้งได้ที่สายด่วนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 1178

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ แสวงหาความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล มุ่งแก้ไขความเดือดร้อน สร้างความสงบสุขอย่างยั่งยืนแก่ประชาชนและสังคม

ตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ที่มุ่งให้ความสำคัญในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทุกประเภท ซึ่งทวีความรุนแรง เป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอันมาก สมควรที่จะแสวงหาความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมบูรณาการปฏิบัติกับหน่วยงานความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน ในระดับพหุภาคีและระดับสากล จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ราชอาณาจักรไทย พร้อมคณะ ประกอบด้วย พล.ต.ท.อภิชาติ สุริบุญญา ผบช.กมค., พล.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ ที่ปรึกษา ผบ.ตร.ด้านต่างประเทศ, พล.ต.ต.อิทธิพล จันทร์ศรีบุตร ผบก.ขส.บช.ปส., พล.ต.ต.สุระพันธุ์ ไทยประเสริฐ ผบก.ตท., พ.ต.อ.พงษ์เดช คำใจสู้ รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่, ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ, ป.ป.ส., กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม เดินทางไปร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 24 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (The 24th ASEAN Senior Officials Meeting on Transnational Crimes) (SOMTC) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 28 มิ.ย.67 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกับผู้แทนจากชาติสมาชิก 21 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ (ประเทศคู่เจรจา SOMTC+3) ออสเตรเลีย และแคนาดา โดยมี พล.ต.ท.กงทอง พงวิจิด รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ และ พล.ต.ต.สุลินะ แก้วปะเสิด ปลัดกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้การต้อนรับ

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เปิดเผยว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งเป็นเสาหลักที่ 1 จาก 3 เสาหลักของอาเซียน เพื่อป้องกันและต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติที่มีอยู่และเกิดขึ้นใหม่ และเน้นการติดตามผลตามแผนงานความร่วมมือ การประสานงานข้ามภาคส่วนและระดับ พหุภาคี การยกระดับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาข้างต้นและประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้ความร่วมมือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ใน 10 สาขา ได้แก่ การลักลอบค้าอาวุธ การก่อการร้าย การฟอกเงิน การละเมิดลิขสิทธิ์ทางทะเล การลักลอบขนคนโดยผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ อาชญากรรมทางไซเบอร์ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การลักลอบค้ายาเสพติด และการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า โดยประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการป้องกันปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติด และการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งทุกประเทศที่ร่วมประชุมได้ร่วมติดตามผลการปฏิบัติและพร้อมดำเนินการตามแผนความร่วมมือ ผลการประชุมหารือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์ในประเทศไทย มีการฉ้อโกงออนไลน์และการหลอกลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ ผนวกกับการหลั่งไหลของทุนจีนเข้ามาในภูมิภาค โดยคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์มีจำนวนมากถึงร้อยละ 70 ของคดีที่ได้รับแจ้งทั้งหมด ซึ่งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ใช้เทคโนโลยีและประสานองค์การตำรวจสากลให้การสืบสวนและการจับกุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับการค้ามนุษย์และลักลอบขนคน ในปัจจุบันมีเหตุปัจจัยกระตุ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในยุโรปและตะวันออกกลาง ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย และการเปิดประเทศเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต้องปรับตัวให้เท่าทันเพื่อแก้ไขปัญหา สำหรับการลักลอบค้ายาเสพติด ประเทศไทยเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านยาเสพติดเพื่อประชาคมที่มั่นคงของอาเซียน พ.ศ.2559 - 2568 และเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียนด้านยาเสพติด (ASEAN-NARCO) เป็นหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือ ปัจจุบันประเทศไทยสามารถจับกุม และตรวจยึดของกลางยาเสพติดได้ในจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ราคาขายปลีกมีแนวโน้มลดลง สำหรับการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า มีการนำเทคโนโลยีระบบ นิติวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรม DNA มาใช้เพื่อระบุตัวตน และจำแนกแหล่งที่มาของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั้งนี้ การบริหารจัดการชายแดนแบบเชิงรุก ทำให้คดีและผู้กระทำผิดลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ประจวบฯ ยังได้กล่าวขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย ที่ให้ความร่วมมือในการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญของไทย พร้อมทั้งบริหารจัดการส่งตัวผู้ต้องหากลับประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นรูปแบบความร่วมมือที่เป็นแบบอย่าง โดยประเทศไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศสมาชิก ตลอดจนหน่วยงานความมั่นคงทั้งในและระหว่างภูมิภาค ที่จะส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับพหุภาคีและระดับสากล เคียงข้างและร่วมมือกันป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและปัญหาความมั่นคงทุกประเภท นำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภทในภาพรวม เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนมีความปลอดภัย มีสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top