‘สมอ.’ เดินตามนโยบาย Quick win จาก ‘รมว.ปุ้ย’ 6 เดือน กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพกว่า 220 ลบ.

(26 เม.ย. 67) นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการแถลงผลการดำเนินงานของ สมอ. รอบ 6 เดือน ประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า สมอ. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานด้านการมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ และคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย ตามนโยบาย Quick win ของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ในการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้มาตรฐาน สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศเป็นวงกว้าง โดย สมอ. ได้ดำเนินการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. จำนวน 144 รายการ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในทุกช่องทาง ทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบ การเฝ้าระวังผ่านระบบ NSW และตรวจติดตามการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์

โดยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2566 - มีนาคม 2567) ได้ตรวจจับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ลักลอบผลิตและนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 191 ราย  ยึดอายัดสินค้าเป็นมูลค่ากว่า 220 ล้านบาท โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เหล็กและวัสดุก่อสร้าง 87.70 ล้านบาท 2) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 73.23 ล้านบาท และ 3) ยานยนต์ 54.09 ล้านบาท 

ด้านการกำหนดมาตรฐาน สมอ. ตั้งเป้ากำหนดมาตรฐานในปีนี้ 1,000 เรื่อง ครึ่งปีแรกกำหนดมาตรฐานไปแล้ว 469 เรื่อง เช่น เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ ฝารองนั่งสุขภัณฑ์ไฟฟ้า หลอดฟลูออเรสเซนส์สำหรับเปลี่ยนสีผิวเป็นสีแทน และมาตรฐานวิธีทดสอบยานยนต์ EV เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้ประกาศให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนเป็นสินค้าควบคุมเพิ่มอีก 24 ผลิตภัณฑ์ เช่น บันไดเลื่อน ลิฟท์ คาร์ซีท แบตเตอรี่รถ EV ภาชนะพลาสติก และภาชนะสเตนเลส เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ประกาศใช้มาตรฐานด้านการท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนนโยบาย Soft Power อีกจำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่

1) มาตรฐานการเยี่ยมชมสถานที่ทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ 2) มาตรฐานการดำเนินงานเกี่ยวกับชายหาด 3) มาตรฐานโรงแรมย้อนยุค 4) มาตรฐานร้านอาหารแบบดั้งเดิม  5) มาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และ 6) มาตรฐานการบริการนักท่องเที่ยวเพื่อสาธารณประโยชน์โดยหน่วยงานคุ้มครองพื้นที่คุ้มครองธรรมชาติ

พร้อมทั้งทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ที่เชื่อมโยงกับนโยบาย Soft Power จำนวน 10 มาตรฐาน เช่น ข้าวเกรียบกรือโป๊ะ สุรากลั่นชุมชน ไวน์ผลไม้ เป็นต้น และได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายฮาลาล จำนวน 3 มาตรฐาน คือ (1) แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด (2) เส้นหมี่ และ (3) โยเกิร์ตกรอบ 

ด้านการออกใบอนุญาต สมอ. ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาต โดยผลงานครึ่งปีงบประมาณแรกได้ออกใบอนุญาต มอก. จำนวน 7,454 ฉบับ ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 1,597 ฉบับ ใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส จำนวน 132 ฉบับ และใบรับรองระบบงาน จำนวน 212 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 9,395 ฉบับ

ด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ สมอ. ได้เข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และเจรจาจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ด้านการมาตรฐานกับประเทศต่างๆ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการของไทย รวมถึงปกป้องผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าโลก อาทิ

1) การเจรจาทำ FTA กับศรีลังกา ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังศรีลังกา ปีละกว่า 10,800 ล้านบาท  2) การเจรจาจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) สมอ. - BMSI (ไต้หวัน) เพื่อให้ไต้หวันยอมรับผลทดสอบและรับรอง ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการตรวจสอบสินค้า เป็นการช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าไปยังไต้หวัน ในปี 2566 กว่า 13,000 ล้านบาท

3) การเจรจากับอินเดียให้เลื่อนการบังคับใช้กฎระเบียบควบคุมคุณภาพสำหรับสินค้าแผ่นไม้ของอินเดีย ทำให้ผู้ประกอบการไทยรักษาตลาดส่งออกสินค้าไปยังอินเดีย ปีละกว่า 2,700 ล้านบาท 

และ 4) การเจรจาร่างกฎระเบียบว่าด้วยมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานสำหรับรถยนต์ใหม่ของออสเตรเลีย โดยขอให้ออสเตรเลียพิจารณากำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซ CO2 อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีเวลาในการเตรียมตัว 

“6 เดือนหลังจากนี้ สมอ. จะเร่งรัดการดำเนินงานในทุก ๆ ด้าน ให้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อเสริมแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย รวมทั้ง เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดให้มากยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน”