องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ลุยผสมเทียมช้างเลี้ยงครั้งแรกในโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์

การดำเนินงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการสืบพันธุ์และนำเทคนิคการผสมเทียมมาใช้ในช้างเลี้ยง ซึ่งนักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าเริ่มประสบปัญหาเลือดชิดและอาจส่งผลถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมของช้างเลี้ยงในประเทศไทยในอนาคต รวมทั้งแก้ไขปัญหาของช้างที่ไม่สามารถผสมพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติอีกด้วย

โดยเริ่มจากการเก็บน้ำเชื้อช้างเลี้ยงเพศผู้ คือ พลายขนุนและพลายโจ้ เพื่อนำน้ำเชื้อมาแช่เย็น พร้อมตรวจประเมินคุณภาพ และนำมาผสมเทียมกับช้างเลี้ยงเพศเมีย คือ พังน้ำหวานและพังแสนหลวง ที่ได้มีการคำนวณวงรอบการตกไข่จากนักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์แล้วพบว่าพร้อมผสมเทียมในระหว่างวันที่ 22 - 25 เมษายน 2567 นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำเชื้อช้างแช่แข็งของพลายเปี๊ยก พลายมงคล จากธนาคารทางพันธุกรรมสัตว์ป่าขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยมาใช้ผสมเทียมด้วย

ทั้งนี้ นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้สัตวแพทย์และนักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ ผู้เชี่ยวชาญ จากสถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ ดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องการสูญเสียทรัพยากรสัตว์ป่าที่สำคัญของไทยในระยะยาว ตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ขององค์กร

การดำเนินงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างจากศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ในการผสมเทียมจากบริษัท STORZ ประเทศไทย 

และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเจ้าของช้างภายในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ นายนิมิต อินทร์สำราญ นายเกือง อินทร์สำราญ นางแดง งามสง่า และนายชาญชัย สมเจตนา ซึ่งทางคณะทำงานต้องขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูง

ร่วมเป็นกำลังใจและติดตามการดำเนินงานในระยะต่อไปได้ที่เพจ @สถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ Animal Conservation and Research Institute