Tuesday, 30 April 2024
สุรินทร์

นักท่องเที่ยว แห่เลือกซื้อผ้าทอโบราณ 200 ปีศรีพิงพวย ย้อมด้วยดินภูเขาไฟ เตรียมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมสุรินทร์ - ศรีสะเกษ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ที่หมู่บ้านทอผ้าโบราณศรีพิงพวย บ้านพิงพวย หมู่ 12 ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ  น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ และ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำคณะนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมหมู่บ้านทอผ้าโบราณศรีพิงพวย ซึ่งเป็นหมู่บ้านกลุ่มทอผ้าคุณภาพ แหล่งกำเนิดผ้าทอศรีลาวา ดินภูเขาไฟ เป็นผ้าทออัตลักษณ์ของศรีสะเกษ เพื่อเป็นการต่อยอดการเรียนรู้แพรพรรณที่งดงาม มีการเก็บรักษาผ้าโบราณกว่า 200 ปี การทอผ้าไม่ได้ใช้กระสวย แต่ใช้เชอร์ตรอลพุ่งเส้นไหมขอบเส้นพุ่ง ต่างกับการใช้กระสวย ความพิเศษของมันคือบรรจุเส้นไหมใส่หลอดได้เยอะกว่ากระสวยและชมการย้อมผ้าดินภูเขาไฟด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาในครั้งนี้เป็นนักธุรกิจและข้าราชการบำนาญ ต่างพากันเลือกซื้อผ้าทอไปไว้ใช้และฝากเป็นที่ระลึกแก่ญาติพี่น้องและผู้ที่รักเคารพนับถือคนละหลายชิ้น สร้างรายได้ให้กับกลุ่มทอผ้าโบราณเป็นอย่างดียิ่ง โดยมี นายพนมกร สังข์แก้ว และเพื่อนพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าอัตลักษณ์ศรีสะเกษ ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมหมู่บ้านทอผ้าแห่งนี้

ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ที่ได้มาที่นี่อีกครั้งเพื่อต่อยอดวาระจังหวัดศรีสะเกษ เรื่องการขับเคลื่อนผ้าทอมือ "ธานี ผ้าศรี...แส่ว" ที่ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้นำร่องไว้ กลุ่มทอผ้าบ้านพิงพวย ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ  เป็นสถานที่ธรรมชาติที่ร่มเย็น มีเสน่ห์ ที่ทุกคนสามารถมาศึกษาเรียนรู้การทอผ้าโบราณที่ใช้เชอร์ตรอลพุ่งเส้นไหมขอบเส้นพุ่ง นักท่องเที่ยวได้ชมพิพิธภัณฑ์ผ้า 200 ปีที่หายากที่จัดไว้ในห้องแอร์ ได้พบกับหนุ่มเยาวชนกลุ่มทอผ้าที่มีอนาคตในมิติของผ้าทออัตลักษณ์ที่จะส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรม DIY ร่วมกับนักท่องเที่ยวได้   กลุ่มนี้เป็นกลุ่มศิลปินสมัยใหม่ที่ผลิตผ้าแบบมีคุณภาพเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีสโลแกนว่าหากจะอยากได้ผ้าทอสวยต้องรอหน่อยอย่าเร่ง  เพราะมีงานจากกรุงเทพสั่งทอตลอดมา 6 ปีแล้ว เป็นลูกค้ากลุ่ม High end ที่ต้องการให้ผลิตผ้าทอให้ดีเยี่ยมไม่เหมือนใคร  ตนได้เสนอให้เพิ่มหมู่บ้านทอผ้านี้ให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของ อพท.ด้วยจะได้เชื่อมโยงให้เป็นเส้นทางสายไหม  ใครมาที่หมู่บ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์ก็เชื่อมต่อมาดูผ้าโบราณที่ศรีพิงพวย ศรีสะเกษ  

น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท สำนักงานสุรินทร์  กล่าวว่า ตนได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยนำนักท่องเที่ยวกลุ่มรักผ้าไหมจากกรุงเทพฯมาเที่ยวสุรินทร์และศรีสะเกษ โดยในวันนี้ได้นำมาเยี่ยมชมหมู่บ้านผ้าทอโบราณ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ชอบผ้าไหมและได้อุดหนุนผ้าทอโบราณของศรีรัตนะจำนวนมาก ซึ่ง ททท.สำนักงานสุรินทร์ มีแผนปฏิบัติการส่งเสริมการตลาด ปีงบประมาณ 2564 โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงวันธรรมดา เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกระแสหลักที่เดินทางมาท่องเที่ยวในวันธรรมดา ซึ่งได้รับการประสานจากชมรมรักไหมสุรินทร์ (Facebook Group : รักไหมสุรินทร์)กำหนดเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2564 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยววันธรรมดาอย่างต่อเนื่อง ตามกลยุทธ์ภาพรวม : กระตุ้นการเติบโตของนักท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างสมดุล แผนงาน : ส่งเสริมการท่องเที่ยวสัมผัสคุณค่า วันธรรมดา

ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.สุรินทร์และศรีสะเกษ ตนจึงได้นำเสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวระดับบน เป็นกลุ่มศักยภาพ และผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจากกรุงเทพ เดินทางสำรวจศักยภาพ และท่องเที่ยวช้อป ชุมชนทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติเชื่อมโยงบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ เพื่อนำข้อมูลไปเสนอขายให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มสนใจเฉพาะงานทอผ้าไหมพรีเมี่ยม และงานอาร์ต งานคราฟท์ ซึ่ง จ.ศรีสะเกษมีความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเขียวสุรินทร์ ถนนวิถีวัฒนธรรมมารีหนองแคน ชุมชนทอผ้าไหมบ้านแขม อ.อุทุมพรพิสัย ชุมชนพิงพวย อ.ศรีรัตนะ และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว สิมวัดไพรบึง อ.ไพรบึง ศิลปญวน พระพุทธเจดีย์ใหญ่ไพรบึง ศิลปะลาว เหมือนปลี พระโบราณ ศิลปญวน วัดบ้านทุ่งเลน ต.พราน อ.ขุนหาญ  เส้นทางสวนทุเรียนภูเขาไฟ อ.กันทรลักษ์ รับตะวัน 3 แผ่นดินที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร กราบไหว้ขอพรสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่สรวงที่วัดไพรพัฒนา จุดชมวิวผาพญากูปรี อ.ภูสิงห์ ตนจึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั่วประเทศเที่ยวอีสานวันธรรมดาที่สุรินทร์ ศรีสะเกษ  และคิดถึงท่องเที่ยวเมืองรองต้องสุรินทร์ศรีสะเกษ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข (ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ)

สุรินทร์ - ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีสั่งคุมเข้ม แนวชายแดน 5 จังหวัดอีสานตอนล่าง ตามนโยบาย ผบ.ทบ.ในการป้องกันการระบาดของโควิด-19

วันที่ 19 เมษายน 2564 พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี เรียกหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องประชุม เพื่อมอบนโนบาย "มาตรการพิทักษ์พล" ของกองทัพมาใช้ควบคุมโควิดโดยกำหนดให้กำลังพลปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันกำลังพลอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการแพร่กระจายเชื้อ 

โดยเฉพาะมาตรการป้องกันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดย ที่อาจเกิดการระบาดของโควิด-19 ณ จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และ หน่วยประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์  โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่เข้มงวดในการสวมแมสตลอดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี กล่าวว่า เพื่อป้องกันการระบาดของ ไวรัสโควิด-19 จึงสั่งการให้กำลังพลในสังกัดเพิ่มการลาดตระเวน ตลอดแนวชายแดน 5 จังหวัดอีสานตอนล่าง 24 ชั่วโมง

โดยเฉพาะมีการตั้งจุดตรวจตามช่องทางธรรมชาติ โดยมีการประสานกับทหารฝ่ายกัมพูชาอย่างใกล้ชิดผ่านช่องทางไลน์และช่องทางวีทีซี  ในการร่วมกันลาดตระเวนแบบคู่ขนาน  เพื่อป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง  ทั้งนี้ พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ยังกล่าวต่อไปอีกว่า  ในส่วนของการฉีดวัคซีนให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนนั้น ผู้ว่าราชการทั้ง 5 จังหวัดในพื้นที่อีสานตอนล่าง ได้ส่งรายชื่อและจัดลำดับความเร่งด่วนให้กองกำลังป้องกันชายแดนไว้แล้ว หากได้รับวัคซีนมาอย่างเพียงพอ ก็จะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนทันที เนื่องจากถือว่ามีความเสี่ยงสูงสุด


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์  แสนกล้า 

สุรินทร์ - รพ.ค่ายวีรวัฒน์โยธิน มทบ.25 เตรียมพร้อมการปฏิบัติงานภายในห้องควบคุมความดันลบ และ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก

วันที่ 26 เมษายน 2564 โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน มณฑลทหารบกที่ 25 อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดย  พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน เตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานภายในห้องควบคุมความดันลบ ซึ่งเป็นห้องที่สามารถคัดแยกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดย มีเตียงรับรองผู้ป่วย จำนวน 12 เตียง ซึ่งแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาล ได้ใช้ระบบกล้องวงจรปิดทำให้สามารถติดตามอาการผ่านจอมอนิเตอร์และ Application ผ่านทางมือถือได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ของแพทย์และพยาบาล ในการปฏิบัติงานและการเฝ้าติดตามอาการผู้ติดเชื้อ ซึ่งห้วงที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน ได้มีการทดลองใช้งานกับผู้ป่วยมาแล้ว 2 ราย ทำให้ แพทย์และพยาบาล มีความมั่นใจ และมีความรู้ปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

ด้าน พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามกองทัพบก  เพื่อดูแลรองรับ กำลังพลและครอบครัว และประชาชน ที่ติดเชื้อและมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ รวมทั้งผู้ที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลมาและอาการทุเลาลงแล้ว เพื่อเป็นการลดภาระด้านการรักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลสาธารณสุขในจังหวัดสุรินทร์ได้ โดยจัดตั้งโรงพยาบาลสนามอยู่ 3 จุด คือ จุดที่1.เรือนรับรองค่ายวีรวัฒนโยธิน จำนวน 20 เตียง จุดที่ 2.สโมสรค่ายวีรวัฒน์โยธิน จำนวน 30 เตียง และจุดที่ 3 กองกำลังสุรนารี 30 เตียง รวมเป็น 80 เตียง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล จะทุ่มเท ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ และทั้งนี้เนื่องด้วยเหตุการณ์โควิด-19 ที่จังหวัดสุรินทร์ ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในหอผู้ป่วยสามัญ ในโรงพยาบาลสุรินทร์ ในวันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ.2564 และวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2564 จนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยขณะให้การดูแลรักษา มีความเสี่ยงสูงและปานกลาง จำนวนทั้งสิ้น 42 ราย จึงจำเป็นต้องได้รับการกักตัว 14 วัน ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ (เสี่ยงสูง 23 ราย เสี่ยงกลาง 19 ราย) ทำให้อัตรากำลังในการปฏิบัติงานลดลง จึงขอให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจหรือรับการรักษาอย่าปกปิดข้อมูล เพราะจะทำให้กำลังแพทย์ที่ต้องดูแลลดลง ดังนั้นโรงพยาบาลสุรินทร์ จึงขอความร่วมมือประชาชนแจ้งข้อมูลและความเสี่ยงตามจริงกับเจ้าหน้าที่เสมอ เนื่องจากตรวจพบเร็ว การรักษาได้ผลดี ไม่กระจายวงกว้าง และที่สำคัญเจ้าหน้าที่สามารถเลือกเครื่องมือป้องกันให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์  แสนกล้า

สุรินทร์ - โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน ให้บริการทางการแพทย์ตรวจรักษาดูแลสุขภาพ ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจป้องกันชายแดน

พร้อมเดินเคาะประตูบ้าน รณรงค์วัคซีนโควิด รับมือปูพรมฉีดประชาชน 1 มิถุนายนนี้ ในพื้นที่ชายแดน

วันที่  24 พฤษภาคม 2564 พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ ให้บริการทางการแพทย์ เช่น การตรวจรักษาดูแลสุขภาพ การแจกจ่ายยา การให้ความรู้การลงทะเบียนและขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนโควิด -19 และการคัดกรองสุขภาวะทางจิต ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานป้องกันชายแดนรักษาอธิปไตยของชาติ ณ กองพันทหารปืนใหญ่สนามที่ 62 ทหารปืนใหญ่กองกำลังสุรนารี จำนวน 300 นาย  เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศ

จากนั้นพันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ พร้อมชุดแพทย์เคลื่อนที่ ได้เดินเท้ารณรงค์ประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ รณรงค์ให้ข้อมูลการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” เพื่อรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบเคาะประตูบ้าน ร้านค้าชุมชนในหมู่บ้าน

โดยนำหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ไปแจกจ่ายแก่ประชาชนแนวชายแดน ที่บ้านหนองแวง หมู่ที่ 15 ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว การดูแลตนเองกับครอบครัวให้ปลอดภัย และ เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยการพูดคุยแบบตัวต่อตัว ทำให้คนในชุมชนเข้าใจและคลายกังวลว่า การฉีดวัคซีนไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิดไว้ 

นายอุดม จันทนันท์ ชาวบ้านหนองแวง กล่าวว่า หลังจากได้ฟังคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่แล้วรู้สึกคลายกังวล และพร้อมที่จะลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิวัคซีนเพื่อร่วมภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่คนในพื้นที่ด้วย


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า   

สุรินทร์ – สองสามีภรรยาเมืองช้าง ผลิกชีวิตปลูกต้นอินทผลัม 3 ไร่ ยอดขายวันเดียวทะลุเกือบ 3 หมื่นบาท

อําเภอโนนนารายณ์ สองสามีภรรยาลาออกจากบริษัทใน กทม.นําเงินที่เก็บหอมลอมริบหันมาปลูกต้นอินทผลัมในไร่เนื้อที่ 3 ไร่ ใช้เวลาปลูกดูแลรักษาเพียง 3 ปี สามารถเก็บผลผลิตสู่ท้องตลาด เพียงเปิดไร่ให้ลูกค้ามาแวะมาชมมาซื้อเพียงวันเดียวมีลูกค้าในอําเภอ และอําเภอข้างเคียงแห่จองขายวันเดียวยอดขายทะลุเกือบ 3 หมื่นบาท

วันที่ 28 มิถุนายน 64 ช่วงเช้านี้ ผู้สื่อข่าวลงไปที่บ้านเลขที่ 69/1 หมู่ 2 บ้านระเวียง ต.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ โดยมีนายธนกฤต ไสว อายุ 48 ปีและนางชัทราณี สุขประสงค์ อายุ 40 ปี สองสามีภรรยา ได้ทําสวนอินทผลัม ในเนื้อที่ 3 ไร่ ใช้เวลาปลูกเพียง 3 ปี ก็เก็บผลผลิตส่งขายลูกค้าสั่งจองวันเดียวยอดขายทะลุเกือบ 3 หมื่นบาท

นายธนกฤต ไสว อายุ 48 ปี เจ้าของสวนเล่าว่า ตนและภรรยาเคยทํางานบริษัทในแถว กทม.ก่อนจะลาออกจากงานได้เงินมาก้อนหนึ่ง พาภรรยากลับมาอยู่บ้านแล้วหันมาทําไร่ที่พ่อแม่แบ่งมรดกให้ทํากิน 3 ไร่ โดยครั้งแรกตนและภรรยาปลูกมันสําประหลังแต่ราคามันตกตํ่าขายไม่ได้กําไรและต้นทุน จึงหันมาปลูกต้นทุเรียนแต่ก็ไม่ประสบความสําเร็จ เพราะต้นทุเรียนตายหมด

จากนั้นตนไม่หมดความพยายามได้ศึกษาพืชเศรษกิจตัวใหม่ในเน็ต จึงมีแรงจูงใจอีกครั้งพบว่าอินทผลัมคือพืชเศรษกิจตัวใหม่เหมาะสําหรับพื้นที่และอากาศบ้านเราจึงได้เดินทางไปขอดูงานที่สวนอินทผลัมในเขตอําเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา จนชื่นชอบและก็ได้สั่งซื้อเนื้อเยื้อพันธุ์บาฮีและพันธุ์อัมเดนดาฮาน มาปลูกจํานวน 150 ต้นในเนื้อที่ 3 ไร่ โดยใช้ระยะเวลาปลูกและดูแลรักษาเพียง 3 ปี ก็สามารถเก็บผลผลิตชุดแรกได้ผลโตรสชาติหวานติดลิ้น กรอบอร่อย เปิดขายในราคาลูกอินทผลัมพันธุ์บาฮี ขายกิโลละ 400 บาท

ลูกอินทผลัมพันธุ์อัมเดนดาฮาน ขายกิโลละ 600 บาท  ชึ่งทางตนได้เปิดไร่สวนอาชาผาลัมขายวันอาทิตย์ 27 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา วันเดียวมีลูกค้ามาสั่งจองและแวะมาเที่ยวชมมาซื้อที่สวนจนคึกคักตลอดทั้งวัน จนมียอดขายวันเดียวทะลุเกือบ 3หมื่นบาทเลยทีเดียว และหากท่านใดสนใจสั่งซื้อหรือจะมาดูงานชมสวนติดต่อมาได้ที่ เบอร์ 092-692-6259 (ขาว) ยินดีต้อนรับ


ภาพ/ข่าว  บุญเรือง เกสรจันทร์

สุรินทร์ - แถลงข่าวและประมูลทุเรียนเมืองช้างการกุศล สบทบทุนจัดซื้อรถยนต์รับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่

ที่ห้องประชุมช้างใหญ่ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ นายสุวพงศ์ กิตติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วย นางจันทร์เพ็ญ กิตติภัทย์พิบูลย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ และแพทย์หญิงดวงแก้ว  ตัณฑประภา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ ร่วมกันแถลงข่าว กิจกรรมสาธารณกุศล การประมูลทุเรียนเมืองช้าง โดยจังหวัดสุรินทร์ได้จัดขึ้น เพื่อสมทบทุนจัดซื้อรถยนต์รับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ มอบให้แก่โรงพยาบาลสุรินทร์ โดยทุเรียนที่จะนำมาประมูลเป็นทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์เป็นต้นแรก ๆ

ในขณะเดียวกันจังหวัดสุรินทร์ ได้ขับเคลื่อนโครงการ สุรินทร์รุ่งเรือง เมืองเกษตรอินทรีย์  และกิจกรรมอีกโครงการที่สำคัญคือ การส่งเสริมการปลูกทุเรียนเมืองช้าง โดยจังหวัดสุรินทร์เริ่มมีเกษตรกรปลุกทุเรียนครั้งแรกในพื้นที่อำเภอบัวเชด มาเป็นเวลากว่า 20 ปี และปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ 13 อำเภอ ส่วนใหญ่จะปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ก้านยาว ซึ่งทุเรียนเมืองช้างของจังหวัดสุรินทร์จะมีเอกลักษณ์สำคัญคือ “สีนวลดั่งงาช้าง รสสัมผัส หอมเย็น หวานละมุน

โดยในการประมูลจะจัดขึ้นจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการประมูลย่อยจัดขึ้นในวันนี้ (29 มิ.ย. 64) ที่ห้องประชุมช้างใหญ่ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ โดยมีผลทุเรียนมาจาก 5 สวน  เข้าร่วมประมูลจำนวนทั้งสิ้น 13 ลูก ซึ่งสามารถประมูลลูกทุเรียนได้ในราคาตั้งแต่ลูกละ 25,000 – 110,000 บาท ได้เงินเข้าการกุศลในครั้งนี้รวมเป็นเงินกว่า 498,000 บาท โดยทุเรียนที่ประมูลได้ราคาสูงที่สุดคือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จากสวน นางฉลอม  จุดาบุตร บ้านโคกกะลัน ตำบลปาสารททนง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ประมูลได้ในราคา 110,000 บาท และจะมีการประมูลทุเรียนเมืองช้างอีกครั้ง โดยจะมีการประมูลครั้งใหญ่ในงานเปิดตัวทุเรียนเมืองช้าง ในวันที่ 15 กรกฏาคม 2564 ที่บริเวณปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์  โดยจะมีกิจกรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสุรินทร์  การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ของชุมชน และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การประมูลทุเรียนเมืองช้าง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนเมืองช้าง และที่เป็นไฮไลท์ของงานคือการแข่งขัน ปอกทุเรียนลีลา สร้างความสนุกสนาน และให้ทุกคนรู้จักกับทุเรียนเมืองช้างในครั้งนี้ด้วย


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

 

สุรินทร์ – เริ่มวันแรก บรรยากาศการฉีดวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ที่จังหวัดสุรินทร์คึกคัก ประธานหอการค้าสุรินทร์ เผยว่า ยังมีโอกาสนำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่น เพื่อเป็นทางเลือก

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ ศูนย์ฉีดวัคซีน ชั้น 2 โรงพยาบาลรวมแพทย์หมออนันต์ นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ และแพทย์หญิง มนัสลักษ์ อริยะชัยพาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรวมแพทย์ (หมออนันต์) เข้าสังเกตการณ์การให้กำลังใจประชาชน และทีมงานจุดฉีดวัคซีนวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม วันแรก ให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์

โดยหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ได้สั่งจองวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 1,200 โดส โดยกลุ่มที่ได้รับการฉีดส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคณะครูโรงเรียนเอกชน ห้างร้าน บริษัท และผู้สูงอายุ ทั้งนี้ นายนายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ เผยว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ได้รับการจัดสรรมาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 1,200 โดส ในล็อตแรกนี้ ได้นำมาฉีดให้กับประชาชน ภาคเอกชน ในจังหวัดสุรินทร์ ที่มีความต้องการวัคซีนทางเลือก 

โดยหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ได้ร่วมกับโรงพยาบาลรวมแพทย์หมออนันต์ จัดตั้งเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม วัคซีนทางเลือกในครั้งนี้ ซึ่งอาจจะพอบรรเทาความต้องการ จากภาคเอกชนลงได้ไม่มากก็น้อย โดยเห็นได้ว่ามีประชาชนสนใจเข้าจองวัคซีนเป็นอีกจำนวนมาก โดยทางหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ จะทำการสำรวจความต้องการวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม และยี่ห้ออื่น ๆ ของประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์อีกครั้ง


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

สุรินทร์ - แม่ทัพภาคที่ 2 ตรวจเยี่ยมความพร้อมหน่วยฝึกทหารใหม่ มทบ.25,ร23.พัน 3 กำชับดูแลทหารใหม่อย่างใกล้ชิด ภายใต้มาตรการ covid-19 อย่างเคร่งครัด

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 พลโทธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมด้วย พลตรีสาธิต เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 ,พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมรับทหารใหม่ ผลัดที่ 1 ประจำปี 2564 ณ หน่วยฝึกกองร้อยมณฑลทหารบกที่ 25 และหน่วยฝึกทหารใหม่ ร.23 พัน 3 อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

เพื่อตรวจเยี่ยมความพร้อมการรับทหารใหม่ จำนวน 111 นาย ที่เข้ามาประจำการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 พร้อมเยี่ยมชมการสาธิตขั้นตอนการปฏิบัติในการรับทหารใหม่ โดยเน้นย้ำการปฏิบัติต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 อย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้คำแนะนำในการปฏิบัติต่าง ๆ แก่หน่วยฝึก โดยจะมีการกักตัวทหารใหม่ จำนวน 14 วัน ก่อนเริ่มทำการฝึก  และการฝึกจะเป็นในลักษณะปิด (บับเบิ้ลเทรนนิ่งแอเรีย) มีทั้งการตรวจสอบ การคัดกรอง การกักตัวและมาตรการของการควบคุมในการพบปะ โดยจำกัดสถานที่ เพื่อลดการนำเชื้อเข้าสู่หน่วยฝึก และลดการกระจายเชื้อเข้าสู่หน่วยทหาร รวมถึงเพื่อควบคุมการติดเชื้อของหน่วยฝึก ในกรณีที่มีการแพร่ระบาด

โดยมีครูฝึกทหารใหม่ ผู้ช่วยผู้ฝึก ครูนายสิบ ให้การต้อนรับ แม่ทัพภาคที่ 2 ได้เน้นย้ำผู้ฝึกทหารใหม่ ผู้ช่วยผู้ฝึก ครูนายสิบ และครูทหารใหม่ทุกนาย ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งการรับทหารใหม่เข้ามาในหน่วย ทุกคนมีหน้าที่ที่จะฝึกอบรม สอนทหารใหม่มีระเบียบวินัยเป็นทหารของชาติ ทั้งยังกำชับถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ที่มีความรุนแรงในปัจจุบัน ให้หน่วยฝึกปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของกองทัพบก และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยให้หน่วยฝึกวางแผนการปฏิบัติตามระเบียบ ปฏิบัติประจำวัน ให้มีความเหมาะสม


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

สุรินทร์ - รพ.สุรินทร์ ส่ง 4 นางฟ้าชุดขาว สู้ภัยโควิด-19 เสริมทัพ โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่บริเวณด้านหน้าอาคาร 100 ปี  โรงพยาบาลสุรินทร์ นายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีส่ง 4 นางฟ้าชุดขาว สู้ภัยโควิด-19 เสริมทัพ โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ โดยนายแพทย์ ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ นำคณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล พร้อมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลฯ ร่วมส่งและให้กำลังใจอย่างพร้อมเพียง พร้อมได้กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมในความเสียสละของนางฟ้าชุดขาวทั้ง 4 คน ที่ไปทำหน้าที่แทนชาวสุรินทร์ ในการช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 3 ด้วยเป็นภารกิจสำคัญกับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ พร้อมอวยพรและมอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจทั้ง 4 คน แทนชาวสุรินทร์ทุกคน

ด้าน นายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวว่า ทีมสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ เป็นพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 4 คน ที่ส่งไป ประกอบด้วย

1.นางสาววาสนา คำปาละ

2.นางสาวน้ำทิพย์ จานนอก 

3.นางสาวปาริชาติ โกดหอม และ

4.นางสาวรัชนีกร แก้วคูณ

โดยปฏิบัติภารกิจระหว่างวันที่ 13-28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมุ่งเน้นการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การเข้าปฏิบัติงานช่วยเหลือในพื้นที่ดังกล่าว ทางโรงพยาบาลสุรินทร์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยได้เตรียมเวชภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาในการดูแลรักษาผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ (PPE) ให้กับบุคลากรทุกคน ซึ่งเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าว และหลังจากปฏิบัติงานครบตามกำหนด คณะเดินทางกลับมา จะให้มีการกักตัว 14 วัน ตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคฯ ต่อไป


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์  แสนกล้า

สุรินทร์ - ร.23 พัน.3 จัดกิจกรรมจิตอาสาฯ ตามโครงการ "มีแล้วแบ่งปัน" ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ ชุมชนรอบค่ายวีรวัฒน์โยธิน ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองง จังหวัดสุรินทร์  พันโท พงษ์พัฒน์  เตือนขุนทด ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 ได้มอบหมายให้ ฝ่ายกิจการพลเรือน กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 จัดชุด Army Delivery จำนวน 3 คัน ดำเนินกิจกรรมจิตอาสาฯ ตามโครงการ "มีแล้วแบ่งปัน" โดยการนำข้าวกล่อง จำนวน 30 กล่อง, น้ำดื่ม และ หน้ากากอนามัย

ออกแจกจ่ายให้ประชาชนรอบค่ายวีรวัฒน์โยธิน บ้านเฉลิมพระเกียรติ หมู่ที่ 21 ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนต่อสู้กับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ในการช่วยเหลือ ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน


ปุรุศักดิ์  แสนกล้า  ข่าว/ภาพ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top