‘รมว.ปุ้ย’ สั่งการดีพร้อม ดึงโตโยต้า นำ ‘คาราคูริ ไคเซน’ มาประยุกต์ใช้ เพื่อขับเคลื่อนการเกษตรไทย ไปสู่เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่

(7 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือ (DIPROM Connection) ผนึกกำลังกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)สู่ชุมชน เพื่อยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่ธุรกิจชุมชนครอบคลุมทุกมิติ ดึงกลไกคาราคูริ ไคเซน (Karakuri Kaizen) เพิ่มประสิทธิภาพ
กระบวนการผลิตและลดต้นทุน หวังเพิ่มศักยภาพธุรกิจชุมชนผ่านแนวคิดชุมชนเปลี่ยน พร้อมชูต้นแบบเครื่องทุ่นแรงให้กลุ่มผู้สูงอายุ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการมอบเครื่องลำเลียงกล้วยหอมทองให้แก่กลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด จ.ชุมพร ว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้สามารถผลิตและส่งออกอาหารได้หลายประเภท อีกทั้ง ยังมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและ อาหารแปรรูปด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในระบบการผลิตภาคเกษตรเพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อกระบวนการแปรรูปในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น การพัฒนาภาคเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ จึงมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิต หรือแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ประกอบกับรัฐบาลเร่งหาแนวการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรผ่านนโยบายเร่งด่วนต่าง ๆ เชิงพื้นที่ รวมถึงการขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยไปสู่เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่

ที่เติมเต็มองค์ความรู้และทักษะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรให้มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และยกระดับศักยภาพการแข่งขันภาคเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการเสริมศักยภาพภาคเกษตรไทยสู่เกษตรอุตสาหกรรมด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ตั้งแต่แต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยสนับสนุนองค์ความรู้สมัยใหม่ที่ครอบคลุมทุกมิติควบคู่ทักษะที่จำเป็นด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และ มีมูลค่าเพิ่ม การพัฒนากระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อนำไปสู่การขยายโอกาสทางการตลาด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เร่งเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

นายภาสกร ชัยรัตน์ กล่าวว่า จากข้อสั่งการของ รมว.อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อมได้ลงพื้นที่สำรวจความต้องการผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชุมพร และได้รับทราบข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด จ.ชุมพร ผู้ผลิตและส่งออกกล้วยหอมทองปลอดสารพิษไปยังประเทศญี่ปุ่น ว่าปัจจุบันได้ประสบปัญหาการลำเลียงกล้วย เนื่องจากทางกลุ่มมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และการลำเลียงกล้วยมีลักษณะที่ใช้เป็นรางลาก ซึ่งต้องใช้แรงจำนวนมากในการเคลื่อนย้าย ส่งผลให้กระบวนการผลิตเกิดความล่าช้าและไม่เป็นไปตามกำลังการผลิตที่ควรจะเป็น จึงมีความต้องการขอรับการสนับสนุนด้านกระบวนการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น รวมถึงระบบการผลิต ลำเลียง และคัดแยกกล้วยหอมทองควบคู่กับการใช้แรงงานคนอีกด้วย

ดีพร้อม จึงเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ด้วยการมุ่งเน้นการขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM Connection) และบูรณาการความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพรเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัดผ่านโครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตกล้วยหอมทอง โดยการนำหลักการคาราคูริ (Karakuri) ซึ่งเป็นระบบกลไกอัตโนมัติที่ใช้หลักกลศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ หรือกระบวนการผลิตกล้วยหอมทองของกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด อันจะช่วยผ่อนแรงการทำงานได้เป็นอย่างดี

นายภาสกร กล่าวต่อว่า ดีพร้อม ได้ร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้าฯ ในการพัฒนาระบบลำเลียงกล้วยผ่านการใช้กลไกคาราคูริ ไคเซน (Karakuri Kaizen) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การลำเลียง และทุ่นแรงขนย้ายกล้วย ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมมือกันออกแบบและพัฒนาต้นแบบเครื่องลำเลียงกล้วยหอมทอง ซึ่งใช้หลักการทำงานของคาราคุริ (Karakuri) ในการลำเลียงกล้วยจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้แรงในการลากทำให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตกล้วยหอมทองจากเดิมใช้ระยะเวลาการลำเลียงกล้วยหอมทอง 400 เครือ ต่อ 8 ชั่วโมง มาเป็นลำเลียงได้ 400 เครือ ต่อ 4 ชั่วโมง แทน รวมถึงสามารถลดเวลา ช่วยในการผ่อนแรงสำหรับสมาชิกกลุ่มผู้สูงอายุ และเป็นไปตามมาตรฐานเพื่อการส่งออก ช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้กว่าร้อยละ 30 – 50 ต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรในหลักสูตร “คาราคุริและการประยุกต์ใช้งาน การดูแลบำรุงรักษา” เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ดีพร้อมได้วางเป้าหมายขยายผลการบูรณาการความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยังผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนทั่วประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ในรูปแบบพี่ช่วยน้อง หรือ Big Brother เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการเปลี่ยนชุมชนด้วยเครื่องมือ กระบวนการ หรือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับระดับศักยภาพของชุมชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริม และพัฒนาทักษะการประกอบการในทุก ๆ มิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและขยายไปสู่ตลาดสากล รวมถึงการสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 40 ล้านบาท นายภาสกร กล่าว