‘กมธ.อุตฯ’ ลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริงโรงงานเครนถล่ม จ.ระยอง สั่งดำเนินคดีผู้กระทำผิด - ตั้ง คกก.ตรวจสอบโรงงานเพิ่มเติม

(5 เม.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมกมธ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เหตุเครนถล่มที่โรงงานเหล็กในพื้นที่ ม.2 ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พล.ต.ต.พงศ์พันธ์ วงษ์มณีเทศ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง แรงงานจังหวัดระยอง พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ที่ห้องประชุม อบต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง

นายอัครเดช ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า กมธ.ได้รับการชี้แจงจากผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่า เหตุการณ์เครนถล่ม มีผู้เสียชีวิต 7 ราย เป็นแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา 6 ราย จีน 1 ราย ทางบริษัทได้จ่ายเงินเยียวยาให้ตามกฎหมายทุกรายแล้ว

ขณะที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยองได้ชี้แจงว่า ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตตามขั้นตอนตามกฎหมายแล้ว กมธ.ได้ย้ำขอให้แรงงานจังหวัดระยองได้เข้ามาดูแลการทำงานของแรงงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และให้มีการจ้างงานถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นแรงงานต่างด้าว ต้องเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย

นายอัครเดช กล่าวว่า ส่วนที่ 2 ในเรื่องการก่อสร้างพบว่าทาวเวอร์เครนที่ล้มได้รับรายงานจากปลัดอบต.ตาสิทธิ์ว่า ไม่มีการขออนุญาตติดตั้ง ทางกมธ.จึงให้หน่วยงานไปแจ้งความดำเนินคดีตามขั้นตอน และขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่อบต.ตาสิทธิ์ ที่มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ที่ปล่อยให้มีการติดตั้งเครนโดยไม่มีการขออนุญาต ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัด จะตั้งกรรมการมาสอบสวนก่อนจะรายงานผลสอบให้กมธ.ได้ทราบต่อไป

สำหรับ ส่วนที่ 3 การติดตั้งเครื่องจักร ทางอุตสาหกรรมจังหวัดชี้แจงว่า ได้มีการขออนุญาตก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและติดตั้งเครื่องจักรตาม พ.ร.บ.โรงงานอย่างถูกต้อง แต่ กมธ.ได้เน้นย้ำให้ตรวจสอบการติดตั้งเครื่องจักรให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด ไม่ควรนำเครื่องจักรที่ไม่มีความปลอดภัยและไม่ได้มาตรฐานมาติดตั้งในพื้นที่ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนโดยรอบ เป็นอันตรายต่อพนักงานที่มาปฏิบัติงานในโรงงาน และให้อุตสาหกรรมจังหวัด และแรงงานจังหวัดตรวจสอบโรงงานอย่างเข้มงวดกับผู้ประกอบการ เพื่อความปลอดภัยของทุกส่วน

นอกจากนั้น กมธ.ขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ตั้งคณะกรรมการพิเศษจากหลายหน่วยงานขึ้นมาบูรณาการในการทำงานร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบโรงงานแห่งนี้ โดยตรวจสอบการติดตั้งเครื่องจักรและการก่อสร้างให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเข้มงวด และขอให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการอีกหนึ่งชุดเพื่อตรวจสอบโรงงานทั่วจังหวัดระยองว่า มีการละเมิดกฎหมายในการติดตั้งเครนก่อสร้างในลักษณะนี้เพิ่มอีกหรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม การมาของ กมธ.ครั้งนี้เชื่อว่า จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทั่วทั้งจังหวัดได้ โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการฯที่จะมีการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดดังกล่าว

เมื่อถามว่า เรื่องที่แรงงานเมียนมาเคยประท้วงให้ตรวจสอบอาจจะมีการฝังศพแรงงานไว้ในพื้นที่โรงงาน นายอัครเดช กล่าวว่า ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยองชี้แจงว่า ได้ลงไปตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับฝ่ายปกครองแล้ว ไม่พบแต่อย่างใด และสภาพพื้นที่ก็ไม่สามารถนำศพไปฝังได้ แต่ถ้าประชาชนมีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถแจ้งมายังกมธ.ได้ จะตรวจสอบเพิ่มเติมให้

เมื่อถามว่า เจ้าของโรงงานได้ดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า ตรวจสอบแล้ว เจ้าของเป็นคนจีน มีการขออนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดระยองอย่างถูกต้อง