'รศ.ดร.สุวินัย' เลคเชอร์!! พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่? แนะ!! ไม่ต้องถก แค่เข้าใจคำสอนที่เป็นหัวใจแห่งพุทธธรรมก็พอ

(27 มี.ค.67) รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เห็นเมื่อสองวันก่อน อยู่ดี ๆ พิภพ ธงชัย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนเสื้อเหลือง) ก็โพสต์ขึ้นมาลอย ๆ ว่า "พระพุทธเจ้าไม่มีจริง!"

ไม่ต้องมาเถียงกันหรอกว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่?

เราควรมาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนดีกว่าว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร และอะไรคือคำสอนที่เป็นหัวใจของพุทธธรรม?

ถ้าเป็นชาวพุทธจริง ๆ ย่อมทราบดีว่า การเจริญสติเป็นแก่นคำสอนของพระพุทธองค์ และเป็นทางเอกไปสู่การบรรลุพุทธะ

'สติ' ตามความหมายของพุทธธรรมคือ 'สติ' ที่เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ... โดยจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย

สติจึงเป็นเจตสิก และเป็นเจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์ 

เจตสิกหมายถึงองค์ประกอบของจิต อาการหรือการแสดงออกของจิต

ถ้าแบ่งเจตสิกตามประเภทของ ขันธ์ จะแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ เวทนาขันธ์ (เวทนาเจตสิก), สัญญาขันธ์ (สัญญาเจตสิก) และ สังขารขันธ์ (ซึ่งเป็นเหมือนรหัสพันธุกรรมของจิต)

ดังนั้น ขณะใดที่เป็น 'อกุศล' ขณะนั้นย่อมไม่มี 'สติ' ตามความหมายของพระพุทธองค์

แต่ถ้าขณะใดที่เป็น 'กุศล' ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นย่อมมี 'สติเจตสิก' เกิดร่วมด้วยเสมอ 

เพราะ 'สติ' ทำหน้าที่ระลึก และกั้นกระแสกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่ 'สติ' เกิด

นอกจากนี้ 'สติ' ยังมี 4 ขั้นในคำสอนเชิงปฏิบัติของพระพุทธองค์ คือ…

(1) สติขั้นทาน (ระลึกที่จะให้)
(2) สติขั้นศีล (ระลึกที่จะไม่ทำบาปทางกาย-วาจา-ใจ)
(3) สติขั้นสมถะ (ระลึกลมหายใจ)
(4) สติขั้นวิปัสสนา (ระลึกลักษณะสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตรงหน้า พร้อมกับ 'รู้' ว่ามันไม่มีตัวตน)

ในวิชาอภิธรรมของพระพุทธองค์... 'สติ' สังกัดอยู่ใน ‘โสภณเจตสิก 25’

โสภณเจตสิก หมายถึง กลุ่มเจตสิกฝ่ายดีงาม เป็นกลุ่มที่ประกอบได้กับ 'โสภณจิต' โดยที่โสภณเจตสิกมีอยู่ 25 ดวง แบ่งเป็น 4 กลุ่มดังนี้...

กลุ่มที่หนึ่ง ‘โสภณสาธารณเจตสิก 19’ 
ได้แก่ สติ, สัทธา, หิริ, โอตตัปปะ, อโลภะ, อโทสะ, ตัตรมัชฌัตตา (อุเบกขา) รวมเป็น 7

ที่เหลือจัดเป็น 6 คู่รวมเป็น 12 คือการบังคับควบคุมเจตสิกและจิตที่ดี ได้แก่...
(1) กายลหุตา จิตลหุตา (ทำกายเบาจิตเบา)
(2) กายมุทุตา จิตมุทุตา (ทำกายอ่อนจิตอ่อน)
(3) กายกัมมัญญัตตา จิตกัมมัญญัตตา (ทำกายจิตควรแก่งาน คือพอประมาณ)
(4) กายอุชุตา จิตตอุชุตา (ทำกายจิตให้ตรง ไม่เอนเอียง)
(5) กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ (ทำกายจิตให้สงบ)
(6) กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา (ทำกายจิตให้คล่องแคล่ว)

กลุ่มที่สอง ‘วิรัตติ 3’
ได้แก่ สัมมาวาจา(เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) และ สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)

กลุ่มที่สาม ‘อัปปมัญญา 2’
ได้แก่ กรุณา กับ มุทิตา

กลุ่มที่สี่ ‘ปัญญา 1’
ได้แก่ ปัญญินทรีย์ หรือการกำหนด 'รู้'

จะเห็นได้ว่า ‘ลมปราณกรรมฐาน’ เป็นกรรมฐานที่ทรงพลังมากในการเจริญ 'สติเจตสิก' เพราะลมปราณกรรมฐานมุ่งเจริญ ‘โสภณสาธารณเจตสิก 19’ โดยตรงนั่นเอง

ใครจะด้อยค่าพุทธธรรมยังไง...ก็ตามใจเถิด 

ใครจะไม่เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า...ก็แล้วไปเถิด

ใครจะอวดดีประกาศว่าพระพุทธเจ้าไม่มีจริง...ก็ทำไปเถิด

เพราะเพชรแท้ ไม่ว่าจะถูกมองยังไง...มันก็ยังเป็นเพชร (แห่งปัญญา) อันเลอค่าอยู่ดี

~ สุวินัย ภรณวลัย
Suvinai Pornavala