Sunday, 12 May 2024
พระพุทธเจ้า

'แพรรี่' อธิบายในสมัยพุทธกาล ภิกษุในธรรมสภาต่างพร้อมใจกันเงียบเสียง ตอบคำถาม!! เหตุใดพระพุทธเจ้าถึงสอนธรรมะคนเป็นพัน โดยไม่ต้องใช้ไมโครโฟน

(16 ธ.ค.66) กรณี ‘น้องไนซ์ นิรมิตเทวาจุติ’ เด็กชายวัย 8 ขวบ ที่อ้างว่าเป็นร่างอวตารองค์เพชรภัทรนาคานาคราช สามารถเชื่อมจิตได้ สามารถหยั่งรู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งในอดีตและอนาคต แค่เห็นแววตาคนก็จะรู้ได้ว่าใครมีกรรม หรือเคยเป็นนางฟ้ากลับชาติมาเกิดบ้าง โดยมีลูกศิษย์หลายพันคน และมีการตั้งกลุ่มในโอเพนแชต

โดยล่าสุดนั้น น้องไนซ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “พระพุทธเจ้าในสมัยที่ท่านสอนธรรมะ บางคนบอกว่า ไม่มีการเชื่อมจิต แต่ที่จริงมีการเชื่อมจิตครับ คือการสอนในสมาธิครับ ในยุคนั้นไม่มีไมโครโฟน คนมาฟังท่านตั้งร้อยพันคน ถ้าท่านไม่สอนในจิต เขาจะได้ยินยังไง คิดกันบ้างสิครับ”

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ล่าสุด ‘แพรรี่ ไพรวัลย์ วรรณบุตร’ อดีตพระชื่อดัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายถึงกรณีนี้ว่า

“พระพุทธเจ้าสอนคนเป็น 100 เป็น 1,000 ได้ยังไง

ประเด็นเรื่องที่ว่าพระพุทธเจ้าสอนธรรมอย่างไร ในกรณีที่คนฟังมีอยู่เป็นร้อยเป็นพัน ท่านได้เชื่อมจิตไปสอนในสมาธิแบบที่มีคนกล่าวอ้างหรือไม่ ดิฉันจะขอตอบให้แบบสั้นๆ นะคะ

เรื่องนี้ถ้าคนที่เคยศึกษาคัมภีร์ทางศาสนามาบ้าง จะเข้าใจได้ไม่ยากเลยค่ะ

มีหลายที่ในพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสชมภิกษุบริษัทของท่านว่ามีกิริยาอาการงดงาม มีความเคารพเป็นอย่างดีทั้งในตัวท่านและในพระธรรมที่ท่านเทศนาสั่งสอน

ในสมัยพุทธกาล เวลาที่ภิกษุบริษัทท่านอยู่ในธรรมสภานะคะ และท่านเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา ทุกรูปจะต้องพร้อมใจกันเงียบเสียงค่ะ

นี่ในพระสูตรและอรรถกถากล่าวตรงกันเลย เป็นเรื่องของพุทธคารวตา และธรรมคารวตา (คือการแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้าและพระธรรม)

ในพระสูตรกล่าวถึงขนาดว่า แม้แต่เสียงจามและเสียงไอยังไม่มีเลยนะคะ

ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงว่าพวกภิกษุบริษัทเหล่านั้น จะพากันสนทนาหรือพูดคุยเรื่องอื่นใดๆ ต่อหน้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบด้วยว่า ถ้าท่านเงียบอยู่อย่างนั้นตลอดกัป ภิกษุบริษัทก็จะพากันเงียบอยู่อย่างนั้น จะไม่มีภิกษุรูปใดรูปหนึ่งกล้ายกเรื่องอื่นขึ้นพูดก่อนที่พระองค์จะแสดงธรรม

นี่เป็นเรื่องของมารยาทและอาจาระของภิกษุในสมัยพุทธกาลนะคะ

เรื่องนี้ พระเจ้าอชาตศัตรู ก็เคยพูดถึงไว้อย่างอัศจรรย์พระทัย

เมื่อคราวที่หมอชีวกโกมารภัจจ์พาพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งแรกที่อัมพวัน

คือที่อัมพวันเนี่ย พระพุทธเจ้าประทับอยู่กับภิกษุ 1,250 รูป แต่พอพระเจ้าอชาตศัตรูไปถึงกลับเหมือนวัดร้าง

คือมันไม่มีเสียงเจี๊ยวจ๊าว หรือเสียงพูดคุยกันของภิกษุในอัมพวันนั้นเลย

ความเงียบที่ว่านี้ ถึงกับทำให้พระองค์สงสัยว่า ตัวเองกำลังถูกลวงมาลอบปลงพระชนม์นะคะ

อันนี้ก็เป็นเรื่องของอาจาระและวัตรปฏิบัติในการอยู่อย่างสมณะในสมัยพุทธกาลค่ะ ไม่ใช่เรื่องของความวิเศษอะไรเลย

ถ้าใครศึกษาคัมภีร์ทางศาสนามาบ้างจะทราบดีว่าพระพุทธเจ้าตำหนิการอยู่แบบคลุกคลีตีโมง (การเผยแผ่ศาสนาในยุคแรกจึงห้ามการไปทางเดียวกัน 2 รูปไงคะ)

นอกจากพระเจ้าอชาตศัตรู ก็ยังมีพระเจ้าปเสนทิโกศลอีกพระองค์หนึ่งนะคะ ที่อัศจรรย์พระทัยกับอากัปกิริยาของภิกษุบริษัทของพระพุทธเจ้า

อย่างที่เคยตรัสถึงเหตุที่ทำให้พระองค์มีความเคารพศรัทธาอย่างมากเหลือเกินในพระพุทธเจ้าและพระธรรมว่าสมัยใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่บริษัททั้งหลายอยู่ ในบริษัทนั้นสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้า

จะไม่มีเสียงจามหรือเสียงไอเลย เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มาก ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกพระสาวกได้ดีแล้วอย่างนี้ โดยไม่ต้องใช้อาชญา โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงเคยได้เห็นบริษัทอื่นที่ฝึกได้ดีอย่างนี้ นอกจากบริษัทในพระธรรมวินัยนี้

คือแม้แต่พระองค์เองซึ่งเป็นกษัตริย์ มีอำนาจมากก็ยังไม่อาจฝึกข้าราชบริพารไม่ให้พูดสอดขึ้นในระหว่างที่พระองค์กำลังตรัสอยู่ได้เช่นพระพุทธเจ้าเลย

ดังนั้น การสอนธรรมกับคนจำนวนมากของพระพุทธเจ้า จึงเป็นเรื่องของการสื่อสารจำเพาะ ระหว่างพระองค์กับกลุ่มสาวกบริษัทที่ได้รับการฝึกหัดด้วยพระธรรมวินัยอย่างดีแล้วค่ะ

ไม่ใช่เรื่องของการเชื่อมจิต หรือใช้เทคนิคทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แต่อย่างใด

แต่ถึงอย่างนั้นนะคะการบอกว่าในธรรมสภามีภิกษุจำนวนมาก ก็ได้หมายความว่าภิกษุจำนวนเท่านั้นทั้งหมด ต้องเป็นผู้ได้ยินได้ฟังธรรมเท่ากันนะคะ

ที่สำคัญในกรณีที่ทรงสอนธรรมกับคนทั่วไปเป็นจำนวนมากๆ มันก็มีทั้งที่ตั้งใจฟังและไม่ตั้งใจฟังเป็นเรื่องปกติค่ะ

มีทั้งที่ฟังแล้วเข้าใจและบรรลุธรรมก็มี มีทั้งที่ฟังแล้วไม่เข้าใจและไม่บรรลุอะไรเลยก็มี ไม่ใช่ว่าสอนได้ทั้งหมด บรรลุธรรมทั้งหมด ไม่ใช่ค่ะ

ต้องเข้าใจให้ชัดแบบนี้ก่อนนะคะ เรื่องการสอนธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พูดส่งเดชไปเรื่อย

แล้วก็ที่ยังขายอยู่นั่นก็คือปลาอินทรีแดดเดียว ปลาหวานเนื้อปลาอินทรี น้ำพริกหรือทุเรียนทอด ฟังธรรมแล้วก็มาสั่งกันบ้าง จบ”
 

'รศ.ดร.สุวินัย' เลคเชอร์!! พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่? แนะ!! ไม่ต้องถก แค่เข้าใจคำสอนที่เป็นหัวใจแห่งพุทธธรรมก็พอ

(27 มี.ค.67) รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เห็นเมื่อสองวันก่อน อยู่ดี ๆ พิภพ ธงชัย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนเสื้อเหลือง) ก็โพสต์ขึ้นมาลอย ๆ ว่า "พระพุทธเจ้าไม่มีจริง!"

ไม่ต้องมาเถียงกันหรอกว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่?

เราควรมาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนดีกว่าว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร และอะไรคือคำสอนที่เป็นหัวใจของพุทธธรรม?

ถ้าเป็นชาวพุทธจริง ๆ ย่อมทราบดีว่า การเจริญสติเป็นแก่นคำสอนของพระพุทธองค์ และเป็นทางเอกไปสู่การบรรลุพุทธะ

'สติ' ตามความหมายของพุทธธรรมคือ 'สติ' ที่เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ... โดยจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย

สติจึงเป็นเจตสิก และเป็นเจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์ 

เจตสิกหมายถึงองค์ประกอบของจิต อาการหรือการแสดงออกของจิต

ถ้าแบ่งเจตสิกตามประเภทของ ขันธ์ จะแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ เวทนาขันธ์ (เวทนาเจตสิก), สัญญาขันธ์ (สัญญาเจตสิก) และ สังขารขันธ์ (ซึ่งเป็นเหมือนรหัสพันธุกรรมของจิต)

ดังนั้น ขณะใดที่เป็น 'อกุศล' ขณะนั้นย่อมไม่มี 'สติ' ตามความหมายของพระพุทธองค์

แต่ถ้าขณะใดที่เป็น 'กุศล' ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นย่อมมี 'สติเจตสิก' เกิดร่วมด้วยเสมอ 

เพราะ 'สติ' ทำหน้าที่ระลึก และกั้นกระแสกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่ 'สติ' เกิด

นอกจากนี้ 'สติ' ยังมี 4 ขั้นในคำสอนเชิงปฏิบัติของพระพุทธองค์ คือ…

(1) สติขั้นทาน (ระลึกที่จะให้)
(2) สติขั้นศีล (ระลึกที่จะไม่ทำบาปทางกาย-วาจา-ใจ)
(3) สติขั้นสมถะ (ระลึกลมหายใจ)
(4) สติขั้นวิปัสสนา (ระลึกลักษณะสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตรงหน้า พร้อมกับ 'รู้' ว่ามันไม่มีตัวตน)

ในวิชาอภิธรรมของพระพุทธองค์... 'สติ' สังกัดอยู่ใน ‘โสภณเจตสิก 25’

โสภณเจตสิก หมายถึง กลุ่มเจตสิกฝ่ายดีงาม เป็นกลุ่มที่ประกอบได้กับ 'โสภณจิต' โดยที่โสภณเจตสิกมีอยู่ 25 ดวง แบ่งเป็น 4 กลุ่มดังนี้...

กลุ่มที่หนึ่ง ‘โสภณสาธารณเจตสิก 19’ 
ได้แก่ สติ, สัทธา, หิริ, โอตตัปปะ, อโลภะ, อโทสะ, ตัตรมัชฌัตตา (อุเบกขา) รวมเป็น 7

ที่เหลือจัดเป็น 6 คู่รวมเป็น 12 คือการบังคับควบคุมเจตสิกและจิตที่ดี ได้แก่...
(1) กายลหุตา จิตลหุตา (ทำกายเบาจิตเบา)
(2) กายมุทุตา จิตมุทุตา (ทำกายอ่อนจิตอ่อน)
(3) กายกัมมัญญัตตา จิตกัมมัญญัตตา (ทำกายจิตควรแก่งาน คือพอประมาณ)
(4) กายอุชุตา จิตตอุชุตา (ทำกายจิตให้ตรง ไม่เอนเอียง)
(5) กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ (ทำกายจิตให้สงบ)
(6) กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา (ทำกายจิตให้คล่องแคล่ว)

กลุ่มที่สอง ‘วิรัตติ 3’
ได้แก่ สัมมาวาจา(เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) และ สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)

กลุ่มที่สาม ‘อัปปมัญญา 2’
ได้แก่ กรุณา กับ มุทิตา

กลุ่มที่สี่ ‘ปัญญา 1’
ได้แก่ ปัญญินทรีย์ หรือการกำหนด 'รู้'

จะเห็นได้ว่า ‘ลมปราณกรรมฐาน’ เป็นกรรมฐานที่ทรงพลังมากในการเจริญ 'สติเจตสิก' เพราะลมปราณกรรมฐานมุ่งเจริญ ‘โสภณสาธารณเจตสิก 19’ โดยตรงนั่นเอง

ใครจะด้อยค่าพุทธธรรมยังไง...ก็ตามใจเถิด 

ใครจะไม่เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า...ก็แล้วไปเถิด

ใครจะอวดดีประกาศว่าพระพุทธเจ้าไม่มีจริง...ก็ทำไปเถิด

เพราะเพชรแท้ ไม่ว่าจะถูกมองยังไง...มันก็ยังเป็นเพชร (แห่งปัญญา) อันเลอค่าอยู่ดี

~ สุวินัย ภรณวลัย
Suvinai Pornavala


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top