‘อ.พงษ์ภาณุ’ กระตุ้นสูตรความยิ่งใหญ่กีฬาไทย อาจต้องใช้เงินภาคเอกชน ‘อุดหนุน-พาสู่ฝัน’

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'กีฬาไทย ต้องเป็นมืออาชีพและใช้เงินภาคเอกชน' เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

ปี 2567 จะเป็นปีที่วงการกีฬาโลกและกีฬาไทยมีความคึกคักเป็นพิเศษ เพราะจะมีมหกรรมกีฬาโอลิมปิค 2024 ที่กรุงปารีส (Paris Olympics) ฟุตบอลยูโร 2024 การแข่งขัน Super Bowl ครั้งที่ 58 ที่ Las Vegas อาทิตย์นี้การเข้ามามีบทบทบาทในเวทีกีฬาโลกของซาอุดีอาระเบีย

ในขณะที่วงการฟุตบอลของไทยก็ได้นายกสมาคมคนใหม่ (มาดามแป้ง) มารับภาระในการพัฒนากีฬาฟุตบอล ซึ่งกำลังตกต่ำเป็นประวัติการณ์

น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่วงการกีฬาไทยจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์และความสำเร็จของประเทศอื่น วันนี้ต้องยอมรับว่ากีฬาไทยไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากรการเงิน โดยเฉพาะเงินจากภาครัฐอีกต่อไป เมื่อปี 2558 รัฐบาลได้จัดสรรเงินภาษีบาป (ภาษีสุราและยาสูบ) ปีละกว่า 4,000 ล้านบาท อย่างต่อเนื่องมาเข้ากองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ทำให้มีเงินเพียงพอที่จะสามารถจัดเงินอุดหนุนให้สมาคมกีฬาต่าง ๆ อย่างพอเพียง

แต่จนแล้วจนรอดวงการกีฬาไทยก็ยังไม่พัฒนาไปถึงไหน ผลงานนักกีฬาไทยในเวทีระดับโลกและระดับภูมิภาคยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แม้ว่ารัฐบาลจะใส่เงินลงไปค่อนข้างมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคแต่ผลงานก็ยังสู้ไม่ได้แม้แต่ประเทศเวียดนาม ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก กีฬาไทยยังพึ่งงบประมาณภาครัฐเป็นหลัก และแม้ว่าจะได้รับเงินจากภาษีอากรมาค่อนข้างมาก แต่การใช้เงินขาดประสิทธิภาพ เงินงบประมาณส่วนใหญ่หมดไปกับค่าเดินทางไปต่างประเทศของนักกีฬาและบุคคลติดสอยห้อยตามเป็นจำนวนมาก การใช้เงินของสมาคมกีฬาขาดความโปร่งใสและไม่มีการตรวจสอบ กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติไม่มีประสิทธิภาพในการอนุมัติและบริหารการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งสะท้อนจากการร้องเรียนของสมาคมกีฬาเป็นระยะ ๆ

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กีฬากลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สามารถสร้างรายได้มหาศาล และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาครัฐและเป็นภาระต่อผู้เสียภาษี กีฬาอาชีพหลายชนิด อาทิเช่น ฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล กอล์ฟ เป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่าธุรกิจบันเทิงอื่น และหลังจากซาอุดีอาระเบียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เงินจากปิโตรเลียมได้มีส่วนกระตุ้นให้ทีม/สโมสร และผู้เล่นมีรายได้และค่าตอบแทนสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งในรูปของค่าสิทธิประโยชน์ (Sponsorships) ค่าสิทธิในการถ่ายทอด (Broadcasting Rights) และค่าตัวนักกีฬา

สมาคมฟุตบอลไทยในอดีตประสบความสําเร็จเป็นอย่างสูง เรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมพัฒนาฟุตบอลไทย คงจะไม่ยุติธรรมนักถ้าจะไม่เอ่ยชื่อคุณวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคม และบริษัทโตโยต้าประเทศไทย ฟุตบอลไทยได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนานใหญ่จากในอดีตที่เป็นแค่ทีมในสังกัดองค์กรมาเป็นสโมสรที่เป็นนิติบุคคล ไทยลีกได้พัฒนาเป็นลีกฟุตบอลชั้นนำของเอเชียไม่แพ้ J League ของญี่ปุ่น รายได้จากการประมูลสิทธิการถ่ายทอดเกมส์ฟุตบอลของไทยลีกมีจำนวนสูงถึงปีละกว่าพันล้านบาท การท่องเที่ยวเชิงกีฬาสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการเดินทางติดตามเชียร์ของแฟนคลับ

แทบไม่น่าเชื่อว่าความสำเร็จเหล่านี้ได้หายไปจากวงการกีฬาไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามานี้ วันนี้จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนเพื่อสร้างกีฬาไทยให้กลับมายิ่งใหญ่ และโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล ภายใต้นายกสมาคมคนใหม่ ที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำหลักการและบทเรียนที่ในอดีตกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อให้ความฝันบอลไทยได้ไปบอลโลก กลายเป็นความจริงเสียที