'รมว.ปุ้ย' กร้าว!! ผลักดัน 3 อุตสาหกรรมแชมป์เปี้ยน ปลุก ศก.ไทย ภายใต้ ‘กติกาโลก-เทรนด์ผู้บริโภค’
(24 ม.ค. 67) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถา ‘เปิดโฉมอุตสาหกรรม ในมุมมอง รมต. NEW GEN ในงานสัมมนา Thailand 2024: The Great Challenges’ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้สอดรับกับกติกาโลกและเทรนด์ของผู้บริโภคโดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยวางแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเป็นแชมป์เปี้ยนหรือ CHAMPION INDUSTRIES เบื้องต้นหลัก ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมฮาลาล และจะมีการมองในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ตามมาเป็นลำดับ
ทั้งนี้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีโอกาสมากสุดคือ EV ที่รัฐบาลได้เริ่มสนับสนุนจากมาตรการ 3.0 จนขณะนี้สู่ 3.5 โดยไม่ใช่มองแค่ดึงดูดลงทุนแต่มองทั้งระบบการตั้งฐานผลิต แบตเตอรี่ มองครบวงจร แม้แต่การนำไปรีไซเคิลที่ยังมองไปถึงการก้าวไปสู่การเป็นฐานนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ด้วยนอกเหนือจากเป้าหมายที่ไทยวางไว้ว่าจะเป็นฐานผลิตรถ EV และ รถยนต์สันดาปภายในหรือ ICE ในภูมิภาค
นอกจากนี้โอกาสอีกอย่างคืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ผู้ผลิตในไทยขณะนี้ได้มีการผลิตยุทโธปกรต่าง ๆ เช่น รถถัง เรือรบ ปืน อาวุธ นี่เป็นอีกประเภทหนึ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งส่งเสริม ที่จะเป็นแชมป์เปี้ยน อินดัสเตรียล แต่ยอมรับว่าหลายอย่างยังเป็นอุปสรรคที่ต้องหารือกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่นการนำเข้าเรือมาทั้งลำ และชิ้นส่วนมาประกอบภาษีฯ ก็ต่างกันทำให้คนผลิตในประเทศสู้นำเข้าทั้งลำไม่ได้ จึงต้องทำอย่างไรให้ผู้ผลิตในไทยมีโอกาสแข่งขันได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องส่งเสริมสนับสนุนและลดอุปสรรค
อีกกลุ่มหนึ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมวางไว้คืออุตสาหกรรมฮาลาล ที่เห็นโอกาสจากการที่ตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ไทยส่งออกเพียง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีคิดเป็นเพียงแค่ 2.7% ของตลาดโลก ขณะที่ศักยภาพของทรัพยากรของไทยยังมีโอกาสสูง ดังนั้นมติครม.เมื่อพ.ย.66 กระทรวงฯ จึงเสนอตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล โดยจะรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงต่าง ๆ ตั้งที่สถาบันอาหารเพื่อการขับเคลื่อน โดยเตรียมเสนอครม.ให้เห็นรูปร่างของกรมฮาลาลในรายละเอียดอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นสร้างเชื่อความมั่นให้ผู้ซื้อเนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม ทำอย่างไรให้รับรองมาตรฐาน ให้สอดรับก็นำมาตรฐานผู้ซื้อแม้ว่าเราจะมีเครื่องหมายฮาลาลแล้วก็ตาม ซึ่งเชื่อมั่นว่าระยะ 1-2 ปีจากนี้อุตสาหกรรมฮาลาลจะมีการเติบโต 1-2 เท่าตัวจากปัจจุบันแน่นอน
“กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ทำหน้าที่วิเคราะห์ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยเพื่อส่งสัญญาณในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ที่จะเข้ามาเสริมช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยกลุ่มที่จำเป็นต้องเร่งสนับสนุนคืออุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่อุตสาหกรรมเดิมที่เริ่มมีปัญหาที่ต้องยกเครื่องเช่น สิ่งทอ เหล็ก ฯลฯ ได้มีการแยกประเภทและส่งสัญญาณเพื่อเตือนรวมถึงการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ รวมไปถึงอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่จะมาช่วยเสริมบางกิจการที่เป็นขนาดเล็ก ๆ อีกมากเช่นกัน” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว
อย่างไรก็ตามการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA ที่เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมก็จะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างแต้มต่อให้ภาคการส่งออกของไทยซึ่งการที่ได้เดินทางไปซาอุดีอาระเบียก็ยังไม่มีทั้งที่ตลาดใหญ่เป็นโอกาสของประเทศทั้งด้านสาธารณสุข การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ปศุสัตว์ ฯลฯ รวมไปถึงการปรับตัวรับกับกติกาใหม่ ๆ โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งล่าสุดกระทรวงพลังงานได้มีนโยบายในเรื่องของ Green Energy ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็จะต้องขับเคลื่อนไปสู่ Green Industries เพื่อต่อสู้ต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่เราต้องช่วยผู้ประกอบการให้ทันยุค ทันเหตุการณ์ เช่นเดียวกัน