สตม.จับกุมชาวบังกลาเทศ 19 คน 'ใช้ดวงตรา รอยตราประทับปลอม และลักลอบหลบหนีเข้าเมือง' เพื่อไปทำงานมาเลเซีย

ตม.จว.นราธิวาส จับกุมชาวบังกลาเทศ จำนวน 19 คน โดยกล่าวหาว่า “ปลอมหรือใช้รอยตราประทับปลอมฯ, ปลอมหรือใช้เอกสารราชการปลอมฯ, เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.ตากใบ จว.นราธิวาส ดำเนินคดีตามกฎหมาย

พฤติการณ์จับกุม ก่อนทำการจับกุมเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากประชาชนว่าพบเห็นบุคคลลักษณะคล้ายคนต่างด้าว อยู่บริเวณภายในตลาดตาบา ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จว.นราธิวาส จึงเดินทางไปตรวจสอบเมื่อไปถึงสถานที่ดังกล่าวพบเห็นคนต่างด้าว จำนวน 1 คน อยู่บริเวณหน้าอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จว.นราธิวาส เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้ขอตรวจสอบเอกสารประจำตัวคนต่างด้าว หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง โดยคนต่างด้าวดังกล่าวแจ้งว่าหนังสือเดินทางของตนอยู่ในตัวอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าว และแจ้งอีกว่ายังมีคนต่างด้าวอยู่ภายในตัวอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าวอีก เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้ให้คนต่างด้าวดังกล่าวพาเข้าไปตรวจสอบ เมื่อเข้าไปภายในตัวอาคารพบคนต่างด้าวอยู่ภายในอีกจำนวน 18 คน โดยผลการตรวจสอบหนังสือเดินทาง ทั้ง 19 คน เป็นหนังสือเดินทางประเทศบังกลาเทศทั้งหมด พบว่ามีรอยตราประทับขาเข้าของด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รหัส A0370 ระบุวันที่ 2 JAN 2024 จำนวน 2 เล่ม ระบุวันที่ 8 JAN 2024 จำนวน 15 เล่ม 

ระบุวันที่ 9 JAN 2024 จำนวน 2 เล่ม และยังพบว่าทั้ง 19 เล่ม แผ่นปะตรวจลงตรา (Visa) มีลักษณะผิดปกติ จึงได้ตรวจสอบกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตม. ผลการตรวจสอบไม่ปรากฎข้อมูลการเดินทางเข้าราชอาณาจักรแต่อย่างใด จึงได้นำตัวมาตรวจสอบที่ สภ.ตากใบ จากการสอบถามชาวบังกลาเทศทั้ง 19 คน รับว่าพวกตนได้เดินทางมาจากประเทศบังกลาเทศและพักอาศัยอยู่ประเทศกัมพูชา โดยมีชาวบังกลาเทศที่อยู่ในประเทศกัมพูชาคอยช่วยเหลือสนับสนุนที่พัก รวมทั้งเอาหนังสือเดินทางของพวกตนไปดำเนินการประทับรอยตราประทับขาเข้าประเทศไทยให้ และนำมาคืนก่อนที่จะพาพวกตนลักลอบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยเพื่อจะเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียแต่ถูกจับกุมเสียก่อน โดยได้จ่ายค่าเดินทางพร้อมค่าใช้จ่ายการประทับตราขาเข้าประเทศไทยให้กับนายหน้าแล้วทั้งหมดที่ประเทศบังกลาเทศ เป็นเงินจำนวนคนละ 400,000 - 500,000 ตากา คิดเป็นเงินไทยประมาณ 145,000 บาท เจ้าหน้าที่ ชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาและจับกุมนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.ตากใบ เพื่อดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาดังกล่าว 

ทั้งนี้ ตม.จว.นราธิวาส และ สภ.ตากใบ จะได้ร่วมกันสืบสวนขยายผลหาผู้ร่วมกระทำผิดต่อไป   

ในภาพรวมขบวนการเครือข่ายลักลอบขนชาวบังกลาเทศ เริ่มพบความเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นปี 2566 ซึ่งทิศทางการลักลอบมาจากประเทศกัมพูชา ผ่านช่องทางธรรมชาติด้านพื้นที่ จว.สระแก้ว ในช่วงต้นปี 2566 เป็นการลักลอบเดินทางโดยเครื่องบิน และมีการเก็บค่าดำเนินการกับชาวบังกลาเทศที่ลักลอบฯ ค่อนข้างสูง หลักแสนบาท ก่อนที่ขบวนการดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนวิธีการลักลอบ จากโดยสารเครื่องบิน ไปเป็นการเดินทาง 

โดยรถยนต์ ในลักษณะเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวเป็นทอด ๆ จากชายแดนประเทศกัมพูชา เข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งแนวโน้มในการกระทำความผิดของผู้ร่วมขบวนการยังพบการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนแผนประทุษกรรมและรูปแบบการเคลื่อนย้าย โดยช่วงหลังมีการตรวจพบเป็นลักษณะการปลอมแปลง รอยตราประทับของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและปลอมแผ่นประการตรวจลงตรา (Visa) เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ในการเดินทางออกไปประเทศมาเลเซีย