‘ชัชชาติ’ ชี้ ‘ร้านอาหารปิ้งย่าง’ ทำค่าฝุ่นหนาแน่นเฉพาะจุด เร่งหามาตรการควบคุม

(13 ธ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงมาตรการควบคุมและแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้เกิดจากรถยนต์เท่านั้น กทม.จึงพยายามทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ เตรียมร่วมกับกระทรวงพลังงาน ทำโครงการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองรถยนต์ โดยให้ส่วนลดเป็นแรงจูงใจสำหรับรถยนต์เก่าที่มีอายุการใช้งาน 7 ปีขึ้นไป เพราะควันรถเป็นส่วนหนึ่งที่ปล่อย PM 2.5 เนื่องจากเผาไหม้ไม่หมด ซึ่งรถประเภทนี้มีกว่า 1 ล้านคันที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ

“เราไม่สามารถไปบังคับให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องได้ จึงร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องทำโครงการนี้ขึ้น และหาความร่วมมือจากเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุน จุดหมายคือให้ PM 2.5 ลดลง” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวเพิ่มว่า รวมถึงองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ได้ประสานให้กรมการขนส่งทางบก เข้าไปตรวจควันดำของรถ ขสมก.ถึงอู่รถเมล์ ทั้งนี้การตรวจวัดค่าควันดำ ถึงแม้จะไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ปล่อยฝุ่น PM 2.5 

นอกจากนี้การเกิดฝุ่น PM 2.5 ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น การเผาชีวมวล การควบคุมรถที่เข้าไซต์ก่อสร้าง ปัจจุบันนี้หากตรวจเจอรถควันดำในไซต์ก่อสร้างใดก็จะสั่งปิดไซต์งาน 3 วัน การตรวจสอบโรงงาน ซึ่งยังคงต้องทำอย่างเข้มข้นถึงแม้ในกรุงเทพฯ จะมีโรงงานไม่มากก็ตาม รวมทั้งฝุ่นที่ค้างอยู่ในอากาศซึ่งมาจากรถยนต์ที่ปล่อยออกมา ทำให้ในบางวันที่เป็นวันหยุดหรือไม่มีการจราจรที่คับคั่ง ก็ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นได้

“อีกเรื่องที่ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องใหญ่คือ ร้านจำหน่ายอาหารประเภทปิ้งย่าง อาจไม่ได้มีผลในภาพรวม แต่มีผลเฉพาะพื้นที่ทำให้มีค่าฝุ่น PM 2.5 หนาแน่นขึ้น หลังจากนี้ก็ต้องไปดูว่าต้องมีที่ดักควันหรือไม่ ไม่ได้ห้ามปิ้งย่างแต่ต้องมีตัวดูด หรือเก็บควันก่อนปล่อยออกมาไม่ใช่ปล่อยอิสระ เพราะหากช่วงที่อากาศปิดก็จะทำให้ค่า PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น” นายชัชชาติกล่าว