Saturday, 4 May 2024
มลพิษทางอากาศ

ตอกกลับเจ็บแสบ!! ‘นิติพล’ โต้ ‘วราวุธ’ หลังโดนแขวะนโยบายฝุ่นจับต้องไม่ได้ สวน!! อยู่ในตำแหน่งมา 4 ปี ปัญหา PM 2.5 ก็ยังเหมือนเดิม

(9 มี.ค. 66) นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาตอบโต้ความเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหา PM 2.5 ว่า แนวทางของตนเป็นแค่นโยบายฝุ่นจับต้องไม่ได้ เพราะต้องแบ่งการแก้ปัญหาระยะออกเป็นระยะสั้น กลาง ยาว และดำเนินการอยู่นั้น ตนคงต้องบอกว่า แม้แต่นโยบายระยะสั้น ท่านอยู่ในตำแหน่งมา 4 ปีแล้วก็ยังไม่เห็น เห็นมีแต่นโยบายระยะเกรงใจนายทุนมาตลอด หากเทียบกับเด็กเพิ่งเกิดตอนท่านเข้ามารับตำแหน่ง ตอนนี้เขาอายุ 4 ขวบ ท่านควรไปขอโทษเด็กดีกว่า ที่ต้องเกิดมาสูดควันพิษแบบนี้ทุกปี

รู้จัก ‘PM2.5’ ฝุ่นจิ๋วสุดอันตราย บ่อเกิดสารพัดโรคร้าย พร้อมรู้แนวทางรับมือ-ดูแลตัวเอง ให้ปลอดภัยจากฝุ่นพิษ


ช่วงนี้เรื่องฝุ่น PM 2.5 ได้กลับมาเป็นหัวข้อที่คนเริ่มพูดถึงกันอีกครั้ง เนื่องจากผู้คนสมัยใหม่เน้นดูแลเรื่องสุขภาพมากขึ้น จึงกังวลเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบตา ระบบผิวหนัง นอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากภาวะเส้นเลือดอุดตันในสมองอีกด้วย 

ฝุ่นละอองขนาดขนาดเล็ก แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 

1. ฝุ่นละเอียด เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ฝุ่นละเอียดเกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะและผลผลิตทางการเกษตร กระบวนการผลิตในโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรม ควันที่เกิดจากหุงต้มอาหาร นอกจากนี้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) จะทำปฏิกิริยากับสารอื่นในอากาศทำให้เกิดเป็นฝุ่นละเอียดได้

2. ฝุ่นหยาบ เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-10 ไมครอน (PM10) เกิดจากการจราจร, การขนส่งหรือฝุ่นจากการบดย่อยหิน

ปัจจุบันพบว่าหลายพื้นที่มีฝุ่นละเอียด (PM2.5) เกินระดับมาตรฐาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศและความกดอากาศ ทำให้การลอยตัวและการกระจายตัวของฝุ่นละเอียดอยู่ในระดับต่ำ การไหลเวียนและถ่ายเทอากาศไม่ดี จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละเอียดเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับควันไอเสียรถยนต์และรถบรรทุกในที่มีการจราจรหนาแน่นหรือเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งการเผาป่าหรือการเผาพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป

>> ดัชนีคุณภาพอากาศ 0 - 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

-คุณภาพอากาศดีมาก

-สามารถทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งได้

 

>> ดัชนีคุณภาพอากาศ 26 - 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

-มีผลกระทบต่อสุขภาพเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ, หญิงตั้งครรภ์, เด็กเล็กหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว)

-ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกําลังกายกลางแจ้ง เช่น ปั่นจักรยานหรือวิ่ง

-เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น เช่น หายใจลําบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด   แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าหรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพบแพทย์

 

>> ดัชนีคุณภาพอากาศ 38 - 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

-มีผลกระทบต่อสุขภาพปานกลางโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง

-ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้านหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง

-เมื่อต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกัน PM2.5

-หากมีอาการไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติหรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพบแพทย์

-ผู้ที่มีโรคประจำตัว เตรียมยาประจำตัวให้พร้อมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

‘ชัชชาติ’ ชี้ ‘ร้านอาหารปิ้งย่าง’ ทำค่าฝุ่นหนาแน่นเฉพาะจุด เร่งหามาตรการควบคุม

(13 ธ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงมาตรการควบคุมและแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้เกิดจากรถยนต์เท่านั้น กทม.จึงพยายามทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ เตรียมร่วมกับกระทรวงพลังงาน ทำโครงการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองรถยนต์ โดยให้ส่วนลดเป็นแรงจูงใจสำหรับรถยนต์เก่าที่มีอายุการใช้งาน 7 ปีขึ้นไป เพราะควันรถเป็นส่วนหนึ่งที่ปล่อย PM 2.5 เนื่องจากเผาไหม้ไม่หมด ซึ่งรถประเภทนี้มีกว่า 1 ล้านคันที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ

“เราไม่สามารถไปบังคับให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องได้ จึงร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องทำโครงการนี้ขึ้น และหาความร่วมมือจากเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุน จุดหมายคือให้ PM 2.5 ลดลง” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวเพิ่มว่า รวมถึงองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ได้ประสานให้กรมการขนส่งทางบก เข้าไปตรวจควันดำของรถ ขสมก.ถึงอู่รถเมล์ ทั้งนี้การตรวจวัดค่าควันดำ ถึงแม้จะไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ปล่อยฝุ่น PM 2.5 

นอกจากนี้การเกิดฝุ่น PM 2.5 ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น การเผาชีวมวล การควบคุมรถที่เข้าไซต์ก่อสร้าง ปัจจุบันนี้หากตรวจเจอรถควันดำในไซต์ก่อสร้างใดก็จะสั่งปิดไซต์งาน 3 วัน การตรวจสอบโรงงาน ซึ่งยังคงต้องทำอย่างเข้มข้นถึงแม้ในกรุงเทพฯ จะมีโรงงานไม่มากก็ตาม รวมทั้งฝุ่นที่ค้างอยู่ในอากาศซึ่งมาจากรถยนต์ที่ปล่อยออกมา ทำให้ในบางวันที่เป็นวันหยุดหรือไม่มีการจราจรที่คับคั่ง ก็ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นได้

“อีกเรื่องที่ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องใหญ่คือ ร้านจำหน่ายอาหารประเภทปิ้งย่าง อาจไม่ได้มีผลในภาพรวม แต่มีผลเฉพาะพื้นที่ทำให้มีค่าฝุ่น PM 2.5 หนาแน่นขึ้น หลังจากนี้ก็ต้องไปดูว่าต้องมีที่ดักควันหรือไม่ ไม่ได้ห้ามปิ้งย่างแต่ต้องมีตัวดูด หรือเก็บควันก่อนปล่อยออกมาไม่ใช่ปล่อยอิสระ เพราะหากช่วงที่อากาศปิดก็จะทำให้ค่า PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

คณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เร่งดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นและสื่อสารสู่สาธารณะ 

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ครั้งที่ 1/2566 โดยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ทำหน้าที่อนุกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน พิจารณาให้ข้อเสนอแนะและเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานตามมาตรการเร่งด่วนที่จะรับมือในช่วงวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละอองและการสื่อสารประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะ

นายจตุพร กล่าวว่า การเตรียมการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปีนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และท่านกล่าวว่าได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและการตอบโจทย์ทั้ง 3 มิติ คือ การมีแนวปฏิบัติเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ชัดเจน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล รวมถึงข้อเสนอจากภาคประชาสังคม การมีโครงสร้างคณะกรรมการแต่ละชุดที่กำกับติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และการมีกฏหมาย พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ...ซึ่ง ครม.อนุมัติหลักการไปแล้ว ทั้งหมดนี้ ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมกันปฏิบัติอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถทำให้ฝุ่นละอองหมดลงไปได้ แต่จะทำให้ลดน้อยลงอย่างมาก

นายจตุพร กล่าวว่า ในการประชุม คณะอนุกรรมการฯ ได้เร่งรัดดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนการลดไฟในป่า 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ ลง 50% กำชับจัดทำแผนที่แสดงจุดตรวจ/จุดสกัด จุดเฝ้าระวังไฟป่า จัดชุดลาดตะเวน และหารือร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้ง หารือกรมปศุสัตว์ไม่ให้มีการเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ป่า สื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้ชัดเจน การลดไฟในพื้นที่เกษตรกรรม ลง 50 % มอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมการเผาในพื้นที่ปลูกข้าวโดยเฉพาะจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานคร การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูง เสนอแผนการปรับเปลี่ยนชนิดพืชปลูกเป็นแบบไม่เผาให้ชัดเจน แต่ละจังหวัดต้องมีการลงทะเบียนเกษตรกรและจำนวนพื้นที่เพาะปลูกทั้งในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าเพื่อทำปฏิทินและเงื่อนไขในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง หากไม่ลงทะเบียนให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ และจะขอความร่วมมือภาคเอกชนไม่รับซื้อพืชผลการเกษตรจากการเผา มอบกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายลดอ้อยไฟไหม้เข้าหีบให้น้อยที่สุด เพิ่มความเข้มงวดโดยเฉพาะ 5 จังหวัดที่มีปริมาณอ้อยไฟไหม้สูงสุด กรณีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่ง กอ.รมน. ได้วางแผนการจัดตั้งศูนย์รับซื้อ ขอให้พิจารณาที่ตั้งใกล้พื้นที่ป่า/พื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซาก เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง การควบคุมฝุ่นในเขตเมือง นอกจากตรวจจับควันดำอย่างเข้มงวด ให้พิจารณาการตรึงพื้นที่ลดจำนวนรถบรรทุกและรถโดยสารเข้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในในช่วงวิกฤต การจัดหาพื้นที่จอดแล้วจรใกล้สถานีรถไฟฟ้าเพื่อลดปริมาณการจราจร

ในการดำเนินงานจะมีศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ทำหน้าที่สื่อสารสถานการณ์ การคาดการณ์ฝุ่นละออง ข้อแนะนำการปฏิบัติตน และผลการดำเนินงานสู่สาธารณะให้ประชาชนรับทราบ และยังทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อรายงานข้อมูลและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง แหล่งกำเนิด พื้นที่วิกฤต ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาให้แก่ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ ให้ยกระดับการกำกับดูแลควบคุมแหล่งกำเนิดและจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) 

ในเรื่องงบประมาณ ได้มอบหมายให้หน่วยงานเสนอโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อขอรับการจัดงบกลาง ปี 2567 และตั้งแต่ปี 2568 จะเสนอโครงการในลักษณะแผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้มีการหารือเพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองโดยการให้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดความรวดเร็วทันกับสถานการณ์ นายจตุพรฯ กล่าว

‘EEA’ ชี้ ระดับ ‘มลพิษทางอากาศ’ ในยุโรปยังเสี่ยงสูง แถมคร่าชีวิตคน - ทำให้บางโรคทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

(25 ธ.ค.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป (EEA) เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน เตือนว่าปัจจุบันมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดในยุโรป โดยความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในปี 2021 ยังคงสูงเกินระดับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำในแนวปฏิบัติเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ

รายงานระบุว่า การลดมลพิษทางอากาศสู่ระดับตามแนวปฏิบัติข้างต้นจะป้องกันการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากสหภาพยุโรปมีการเสียชีวิตเนื่องด้วยมลพิษทางอากาศหลัก 3 ประเภท ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โอโซน และไนโตรเจนไดออกไซด์ มากกว่า 320,000 รายในปี 2021

จำนวนการเสียชีวิตข้างต้นแบ่งเป็นการเสียชีวิตเนื่องด้วยมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ราว 253,000 ราย มลพิษจากไนโตรเจนไดออกไซด์ 52,000 ราย มลพิษจากการสัมผัสโอโซนระยะสั้น 22,000 ราย

อย่างไรก็ดี จำนวนการเสียชีวิตเนื่องด้วยมลพิษทางอากาศทั่วยุโรปในปี 2021 จะสูงแตะ 389,000 ราย หากนับรวมตัวเลขของกลุ่มประเทศยุโรปที่อยู่นอกสหภาพยุโรปด้วย

สำนักงานฯ เสริมว่าการสัมผัสมลพิษทางอากาศทำให้เกิดหรือทำให้บางโรคทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหอบหืด และโรคเบาหวาน หากพิจารณาจากการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพฉบับใหม่

‘BBC’ ชี้!! ปี 66 คนไทยกว่า 10 ล้านคน แห่รักษาอาการป่วย ผลพวงจาก ‘มลพิษทางอากาศ’ ที่ลุกลามอย่างกว้างขวาง


BBC รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2566 มีคนไทย 10 ล้านคนเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ

ทางการไทยระบุในปี พ.ศ. 2566 คนไทยมากกว่า 10 ล้านคนเข้ารับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาในขณะที่คุณภาพอากาศของประเทศไทยแย่ลง การเผาป่าและไฟป่าที่ลุกลามอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศ มักก่อให้เกิดหมอกควันพิษในช่วงต้นปี 


ต้นปี พ.ศ. 2567 มีผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับปีก่อน จาก 1.3 ล้านคนในช่วง 9 สัปดาห์แรกของปี พ.ศ. 2566 จำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านคนในต้นปี พ.ศ. 2567 AFP รายงานว่า ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 72 ล้านคน กรณีรวมถึงผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็งปอด หลอดลมอักเสบ หอบหืด และโรคหัวใจ


ประเทศไทยต้อง ‘จัดลำดับความสำคัญ... ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน’ สศช. ระบุ PM 2.5 หมายถึงระดับของอนุภาคอันตรายขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 ไมโครเมตรหรือเล็กกว่า ที่สามารถเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางปอดได้ การสัมผัสกับมลพิษขนาดเล็กเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนและคันในดวงตาและผิวหนัง รวมถึงอาการไอและแน่นหน้าอก อาการเหล่านี้อาจรุนแรงขึ้นในผู้ที่มีภาวะหัวใจหรือปอดอยู่แล้ว


จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยบางจังหวัดได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกจากเว็บไซต์ติดตามคุณภาพอากาศ เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง ได้รับการจัดอันดับ ‘ไม่ดีต่อสุขภาพ’ จาก Platform ติดตาม IQAir มลพิษทางอากาศของประเทศไทยเป็นปัญหาในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งโดยปกติจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาไร่อ้อยและนาข้าวตามฤดูกาลของเกษตรกร


เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ให้คำมั่นที่จะปรับปรุงคุณภาพอากาศ ฝ่ายนิติบัญญัติยังเห็นชอบร่างกฎหมายที่มุ่งแก้ไขปัญหานี้ด้วย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไทยได้ประกาศแผนการจัดเตรียมเครื่องบิน 30 ลำทั่วประเทศเพื่อทำฝนเทียมบรรเทามลพิษ ในเดือนกุมภาพันธ์ หน่วยงานภาครัฐในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทำงานจากบ้านเป็นเวลาสองวัน เนื่องจากระดับมลพิษในเมืองหลวงและจังหวัดใกล้เคียงถึงระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้อยู่อาศัยและกลุ่มสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังได้ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการต่อต้านมลพิษ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 1,700 คน ได้ฟ้องร้องอดีตนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานของรัฐ 2 แห่ง ที่ไม่ใช้อำนาจลดมลพิษในภาคเหนือ ซึ่งพวกเขากล่าวว่าทำให้ชีวิตแต่ละคนสั้นลงประมาณ 5 ปี ในเดือนมกราคมปีนี้ ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้รัฐบาลจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศภายใน 90 วัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top