'อ.พงษ์ภาณุ' ห่วง!! สังคมไทยสูงวัยไม่พอ แต่คนรุ่นใหม่ เมินมีลูก เพราะห่วงภาระบาน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น สังคมไทยใต้ปีกสังคมสูงวัย และ สถานการณ์ในยุโรปที่ต้องจับตา เมื่อวันที่ 22 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

10 ปีที่แล้วโลกเริ่มมีประชากรสูงวัยจากประเทศที่ร่ำรวย เช่น ประเทศญี่ปุ่น สังคมผู้สูงอายุจึงเริ่มเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ คนเสียชีวิตช้าลง คนเกิดน้อยลง ซึ่งปัญหาเด็กเกิดน้อยลงเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน โดยอัตราที่เหมาะสมคือแต่ละครอบครัวต้องมีบุตร 2.1 คน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่ปัจจุบันนี้อัตราการเกิดต่ำกว่า 2.1 คน 

สำหรับประเทศไทยอัตราการเกิดเหลือเพียง 1.3 คน ต่อครอบครัว แสดงว่า Generation ถัดไปประชากรจะเริ่มลดลง 

นิด้าโพลสำรวจพบกลุ่มตัวอย่างคนไทย ปรากฏว่าสาเหตุที่ไม่อยากมีลูก…

- ร้อยละ 38.32 ระบุว่า ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก และเป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน 
- ร้อยละ 37.72 ระบุว่า ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก 
- ร้อยละ 33.23 ระบุว่า ต้องการชีวิตอิสระ 
- ร้อยละ 17.66 ระบุว่า กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี 
- ร้อยละ 13.77 ระบุว่า อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า 
- ร้อยละ 5.39 ระบุว่า สุขภาพตนเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี 
- ร้อยละ 2.10 ระบุว่า กลัวพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จะไม่ดี ทำให้ลูกที่เกิดมาไม่ดีไปด้วย
- และร้อยละ 0.90 ระบุว่า กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อ แม่ 

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงมาตรการที่รัฐควรสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีลูก…

- ร้อยละ 65.19 ระบุว่า สนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก
- ร้อยละ 63.66 ระบุว่า รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี 
- ร้อยละ 30.00 ระบุว่า ลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก 
- ร้อยละ 29.47 ระบุว่า เพิ่มวันลาให้แม่และพ่อในการเลี้ยงดูลูก 
- ร้อยละ 21.91 ระบุว่า มีเงินรางวัลจูงใจที่สูงสำหรับเด็กแรกเกิด 
- ร้อยละ 19.92 ระบุว่า อุดหนุนทางการเงินแม่ พ่อเลี้ยงเดี่ยว 
- ร้อยละ 17.18 ระบุว่า พัฒนาและอุดหนุนการเงินศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก 
- ร้อยละ 9.85 ระบุว่า มีบริการฟรี ศูนย์ผู้มีบุตรยาก 
- ร้อยละ 7.48 ระบุว่า เพิ่มภาษีเงินได้สำหรับคนไม่มีลูก 
- ร้อยละ 5.50 ระบุว่า รัฐเปิดช่องทางในการอุ้มบุญมากขึ้น
- ร้อยละ 4.89 ระบุว่า รัฐมีหน่วยงานจัดหาคู่ให้กับคนไทย 
- ร้อยละ 2.75 ระบุว่า รัฐไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใด ๆ 
- และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อาจารย์พงษ์ภาณุ กล่าวถึงตัวอย่างมาตรการที่รัฐควรสนับสนุน เช่น ประเทศสิงคโปร์ มีลูกจ่ายทันที 10,000 เหรียญ และจากผลการสำรวจของนิด้าโพลข้างต้นนี้ สรุปได้ว่าคนไทยอยากให้รัฐจัดสวัสดิการให้ แต่ถ้าเป็นการให้ทุนการศึกษาบุตรหลาน น่าจะเหมาะสมกว่าการสนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก ส่วนปัญหาผู้สูงอายุที่ส่งผลกระทบ ได้แก่...

1.แรงงาน ดูผลของเศรษฐกิจซึ่งขึ้นอยู่กำลังแรงงาน ทุน และเทคโนโลยี เห็นว่าจะเกิดภาระค่าใช้จ่ายของผู้สูงวัยขึ้น ถ้าไม่ได้เก็บออมไว้ก่อนอาจประสบปัญหาได้ 

2.ทุน ถึงแม้ผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้เกิดการออมจากกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นก็เป็นไปได้ แต่บางส่วนที่ไม่มีรายได้ ไม่มีบำนาญก็ไม่สามารถลงทุนได้ 

3.เรื่องเทคโนโลยี ผู้สูงวัยมีประสบการณ์มากกว่า แต่เด็กรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าต้องผสมผสานให้ดี โดยรัฐควรมองว่าทำอย่างไรให้มีแรงงานเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนเกิดมากขึ้นได้หรือไม่ หรือขยายอายุเกษียณราชการให้ช้าลง ซึ่งควรพิจารณาโดยเร็ว 

อีกประเด็นคือ ควรเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาในไทยโดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ควรเปิดเสรีแรงงานระดับมืออาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ถ้ารัฐไม่เร่งแก้ไขจะประสบปัญหากับการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในภาคบริการในอนาคต

นอกจากเรื่องสังคมผู้สูงวัยแล้ว อาจารย์พงษ์ภาณุ ได้เล่าถึง สถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปในปัจจุบัน โดยกล่าวถึงที่มาของการรวมกันของสหภาพยุโรปหรือ EU ซึ่งยุโรปในอดีตเกิดสงครามเยอะมาก การรวมตัวกันของ EU ก็เพื่อป้องกันการเกิดสงคราม และทำให้ยุโรปมีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่มีขนาดเล็ก เกี่ยวกับการค้าขายและการลงทุน 

อย่างไรก็ตาม ยุโรปก็ยังมีข้อเสีย โดยมีวิกฤตเกิดขึ้นมาเป็นครั้งคราว เช่น วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ประสบปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจของจีนและสหรัฐอเมริกาขึ้นมาโดดเด่นกว่ายุโรปแล้ว เพราะธุรกิจยุโรปยังอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า ซึ่งจีนและสหรัฐอเมริกา มีธุรกิจไอที ที่ก้าวนำยุโรปไปแล้ว 

ขณะเดียวกันประเทศที่เป็นแกนกลางของยุโรป เช่นเยอรมนี ตอนนี้เศรษฐกิจก็กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์หดตัวลงอย่างรวดเร็ว และมีคู่แข่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV จากจีน ซึ่งแตกต่างกับประเทศฝรั่งเศส ที่ลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาล เศรษฐกิจเข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้า Luxury แถมยังได้ลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่เพื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในฝรั่งเศส รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำรายได้หลัก ซึ่งฝรั่งเศสมีนโยบายหลายอย่างที่สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง 

ขณะที่นโยบายด้านอาหารและเครื่องดื่มของฝรั่งเศสก็ส่งเสริมให้เกิดการเติบโต ซึ่งแตกต่างกับไทยที่มีนโยบายเก็บภาษีเครื่องดื่มแพงมาก เพราะฉะนั้นประเทศไทยควรมองจุดนี้ แล้วหันมาส่งเสริมนโยบายด้านอาหารและเครื่องดื่มให้มากขึ้นด้วย 

ส่วนบทบาทของไทยกับยุโรป มองว่าควรเจรจาเปิดการค้าเสรี ไทย-ยุโรป อย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก