‘จ่า Gander’ ยอดสุนัขทหารแห่งกองทัพแคนาดาในสงครามโลกครั้งที่ 2 สัญญลักษณ์ของความภักดีและกล้าหาญ ในยุทธการที่เมือง Lye Mun

‘จ่า Gander’ ยอดสุนัขทหารแห่งกองทัพแคนาดา

ในโลกแห่งความจริงแล้ว สุนัขเป็นสัตว์ที่สุดยอด ไม่ใช่เพียงแค่ความวิเศษของสุนัขที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรักและภักดี ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของสุนัขมาโดยตลอดอีกด้วย ความภักดีของพวกมันสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความกล้าหาญได้ และสิ่งนี้ทำให้พวกมันมีบทบาทอยู่ในสนามรบตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้มีสุนัขสงครามที่ต่อสู้เคียงข้างกับทหารของชาติต่าง ๆ จนกระทั่งปัจจุบัน และเรื่องที่น่าจดจำนี้เป็นเรื่องของสุนัขในกองทัพแคนาดาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

‘Gander’ เป็นสุนัขพันธุ์ Newfoundland ที่ได้ช่วยชีวิตทหารแคนาดาจำนวนหนึ่งระหว่างยุทธการ Lye Mun บนเกาะฮ่องกงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1940 ชื่อเดิมของมันคือ ‘Pal’ เป็นสุนัขของครอบครัว Hayden ที่อาศัยอยู่ในเมือง Gander บนเกาะ Newfoundland

‘จ่า Pal’ ชอบเล่นกับเด็ก ๆ ในละแวกบ้าน และมันมักถูกใช้เป็นสุนัขลากเลื่อน ดังที่เห็นจากภาพถ่าย สุนัขพันธุ์ Newfoundland เป็นสุนัขตัวใหญ่ที่น่าอัศจรรย์ (มีการบันทึกว่า ‘จ่า Gander’ มีน้ำหนักถึง 130 ปอนด์) 

แต่วันหนึ่งในขณะที่มันกำลังเล่นกับเด็ก ๆ เจ้า Pal ได้บังเอิญไปข่วนใบหน้าของ ‘Eileen’ เด็กหญิงวัย 6 ขวบเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เธอต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ครอบครัว Hayden จึงต้องตัดสินใจว่า จะสังหารเจ้า Pal หรือมอบให้คนอื่นที่สามารถนำไปเลี้ยงต่อ พวกเขาเลือกที่จะมอบมันให้กับหน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดา (Royal Rifles of Canada) ซึ่งประจำการที่ฐานทัพอากาศ Gander

หลังจากเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Gander’ โดยมีชื่อ-ตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า ‘Regimental Mascot Sgt. Gander’ สุนัขตัวนี้จึงกลายเป็น Mascot ประจำกองพันที่ 1 ของหน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดาไปโดยปริยาย

มันสนุกกับการใช้ชีวิตอยู่ในฐานทัพอากาศ และชอบใช้เวลาบนทางวิ่งของเครื่องบินมาก เพราะมันมักจะวิ่งไล่เครื่องบินขณะที่กำลังจะลงจอด 

จ่า Gander กับทหารกองพันที่ 1 หน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดา
ระหว่างเดินทางไปยังฮ่องกง

ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม ค.ศ. 1941 กองพันที่ 1 หน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดาถูกส่งไปประจำการยังฮ่องกง เพื่อเตรียมป้องกันการรุกรานของญี่ปุ่น แทนที่จะทิ้งจ่า Gander ไว้ข้างหลัง กองพันที่ 1 ของหน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดาก็พามันเข้าร่วมกับในภารกิจของพวกเขา โดย ‘พลทหาร Fred Kelly’ ทำหน้าที่ดูแลจ่า Gander ระหว่างที่มันอยู่ในฮ่องกง

พลทหาร Kelly ปล่อยให้จ่า Gander เล่นน้ำเย็นเป็นเวลานาน ๆ เพื่อช่วยให้มันสามารถรับมือกับอากาศที่ร้อนมาก ๆ ของฮ่องกงได้ ตามที่พลทหาร Kelly เล่าว่า จ่า Gander ก็เป็นคอเบียร์ด้วยเช่นกัน

การยอมจำนนต่อกองทัพญี่ปุ่นของกองกำลังป้องกันอาณานิคมอังกฤษ
เมื่อ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1941

สงครามป้องกันอาณานิคมฮ่องกง’ ระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับกองกำลังป้องกันอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วยทหารอังกฤษ อินเดีย และแคนาดา รวมถึงกองกำลังสำรอง และกองกำลังป้องกันอาสาสมัครฮ่องกง (HKVDC) เริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม จนถึง 25 ธันวาคม ค.ศ. 1941 เป็นหนึ่งในการรบครั้งแรก ๆ ของสงครามแปซิฟิกในสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเช้าวันเดียวกับการโจมตีอ่าวเพิร์ลของกองทัพญี่ปุ่น ภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์กองทหารอังกฤษก็สูญเสียพื้นที่ 2 ใน 3 ของดินแดนฮ่องกง (เกาลูน และ New Territories) ที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ไม่ถึงสองสัปดาห์ต่อมา เมื่อไม่สามารถป้องกันที่มั่นสุดท้ายของพวกเขาบนเกาะฮ่องกง กองกำลังป้องกันอาณานิคมอังกฤษจึงต้องยอมจำนน

ในการรบระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับกองกำลังป้องกันอาณานิคมอังกฤษ จ่า Gander มีส่วนในการต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อคลื่นของทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามา จ่า Gander ก็รีบวิ่งเข้าไปหาโดยเห่าและพุ่งเข้ากัดขาของทหารญี่ปุ่น ครั้งที่สองเกิดขึ้นในเวลากลางคืน มีทหารแคนาดาที่ได้รับบาดเจ็บกลุ่มหนึ่งนอนอยู่บนถนน และในขณะที่ทหารญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งก็กำลังเข้ามาหาพวกเขา จ่า Gander ก็วิ่งเข้าไปหาพวกทหารญี่ปุ่นจนทำให้ทหารญี่ปุนกลุ่มนั้นต้องเปลี่ยนเส้นทาง เข้าสกัดโดยการคำราม วิ่งเข้าใส่ทหารศัตรู และกัดส้นเท้าของทหารญี่ปุ่น

‘พลทหาร Reginald Law’ เล่าว่า การต่อสู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตอนกลางคืน และขนสีดำของจ่า Gander ทำให้ทหารญี่ปุ่นมองเห็นมันได้ยาก ผลก็คือ แทนที่จะยิงมัน ทหารญี่ปุ่นกลับต้องวิ่งหนีมันออกจากที่นั่น เพื่อให้รอดพ้นจากความโกรธเกรี้ยวของจ่า Gander ต่อมาทหารญี่ปุ่นสอบปากคำเชลยศึกชาวแคนาดาเกี่ยวกับ ‘สัตว์ร้ายสีดำ’ ด้วยเกรงว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำการฝึกสัตว์ดุร้ายเพื่อใช้ในทำสงคราม

หลังเที่ยงคืนของวันที่ 19 ธันวาคม ยุทธการที่เมือง Lye Mun (เมืองเล็ก ๆ ในเขตฮ่องกงใกล้ ๆ กับนคร Shenzhen) ก็ปะทุขึ้น จ่า Gander เข้าร่วมสู้รบกับทหารญี่ปุ่นเหมือนเช่นเคย จนกระทั่งระเบิดมือลูกหนึ่งถูกขว้างเข้าใกล้กลุ่มทหารแคนาดาที่ได้รับบาดเจ็บ เมื่อมันรู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น Gander ก็คาบระเบิดมือลูกนั้นขึ้นมาด้วยปากของมัน และวิ่งออกไป ระเบิดมือระเบิดขึ้น แล้ว จ่า Gander ก็เสียชีวิต แต่การกระทำเช่นนั้นของมันได้ช่วยชีวิตทหารแคนาดาไว้ได้ถึง 7 นาย เป็นการแสดงความกล้าหาญของจ่า Gander เป็นครั้งสุดท้าย

หลังจากความพยายามของพิพิธภัณฑ์สงครามแคนาดา สมาคมทหารผ่านศึกฮ่องกง และสมาคมอนุสรณ์ทหารผ่านศึกฮ่องกง อีก 60 ปี หลังจากการเสียชีวิตของจ่า Gander มันก็ได้รับ ‘Dickin Medal for Gallantry’ จาก The People's Dispensary For Sick Animals (PDSA) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านสัตวแพทย์ในสหราชอาณาจักร (โดยหลักแล้วรางวัลนี้คือ ‘Victoria Cross’ สำหรับสัตว์) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2000 ซึ่งถือเป็นรางวัลแรก โดยไม่มีการมอบรางวัลมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 แต่ PDSA รู้สึกว่า ‘จ่า Gander’ สมควรที่จะได้รับที่สุด

พิธีนี้มีสมาชิกที่รอดชีวิตจากกองทหารของกองพันที่ 1 หน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดาเข้าร่วม 20 นาย โดยพลทหาร Fred Kelly ผู้ดูแล ซึ่งมีสุนัข Newfoundland อยู่ข้าง ๆ รับเหรียญในนามของจ่า Gander เหรียญนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สงครามแคนาดาในออตตาวา นอกจากนี้ เมื่อมีการสร้างกำแพงอนุสรณ์ทหารผ่านศึกฮ่องกงในปี ค.ศ. 1977 ชื่อของจ่า Gander ก็ปรากฏอยู่เคียงข้างรายชื่อของทหารชาวแคนาดาที่เสียชีวิตระหว่างการสู้รบครั้งนั้นด้วย

อนุสาวรีย์ของจ่า Gander และทหารผู้ดูแล ณ เมือง Gander มณฑล Newfoundland

ในปี ค.ศ. 1975 ด้วยการยืนกรานของผู้รอดชีวิตจากการสู้รบ ชื่อของมันก็ปรากฏอยู่บนกำแพงอนุสรณ์สถานทหารผ่านศึกฮ่องกงในเมือง Ottawa มณฑล Ontario แคนาดา และวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 อนุสาวรีย์ของจ่า Gander และทหารผู้ดูแลได้ทำพิธีเปิด ณ อุทยานอนุสรณ์มรดก Gander ในเมือง Gander มณฑล Newfoundland

รูปปั้นจ่า Gander ณ อนุสาวรีย์วีรบุรุษที่ถูกลืม
ภายในอุทยานอนุสรณ์ทหารผ่านศึก Cobequid

อนุสาวรีย์ ‘การเปลี่ยนแปลง’

อนุสาวรีย์ ‘The Broken’

สวนแห่งความโศกเศร้า

สวนแห่งความทรงจำ

สวนแห่งความหวัง


ต้นเมเปิลแดง

‘อุทยานอนุสรณ์ทหารผ่านศึก Cobequid’ อนุสรณ์อุทยานแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงทหารที่เคยรับใช้ และที่ยังคงรับใช้ในการรักษาสันติภาพของกองทัพแคนาดา ประกอบสวน 3 แห่ง ได้แก่

1.) สวนแห่งความโศกเศร้า ซึ่งรำลึกถึงทหารแคนาดาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
2.) สวนแห่งความทรงจำ เตือนผู้มาเยือนถึงความน่าสะพรึงกลัวของสงคราม ความจำเป็นในการจดจำ
3.) สวนแห่งความหวัง ซึ่งเป็นสวนนานาชาติที่มีชีวิตชีวาและความหวังในสันติภาพ

และอนุสาวรีย์หินแกรนิตสีดำแปดแห่งที่มีรายชื่อของทหารแคนาดาหลายร้อยนายตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ต้นเมเปิลสีแดงรำลึกถึงทหารแคนาดาที่สูญเสียไปในอัฟกานิสถาน

อนุสาวรีย์ ‘การเปลี่ยนแปลง’ เป็นโครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความน่าสะพรึงกลัวของสงครามและความหวังในสันติภาพ

อนุสาวรีย์ ‘วีรบุรุษที่ถูกลืม’ ซึ่งอุทิศให้กับสัตว์สงคราม มีชื่อสัตว์ต่าง ๆ หลายร้อยชื่อและผู้ดูแล

อนุสาวรีย์ ‘The Broken’ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับทหารผ่านศึกที่ต้องทนทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และทหารผ่านศึกที่ฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา อุทยานอนุสรณ์แห่งนี้ได้รับการโหวตให้เป็นอุทยานอนุสรณ์ที่ดีที่สุดในแคนาดาในปี ค.ศ. 2013 โดย ‘Communities in Bloom’


เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล