‘สทร.’ กางแผนลงทุนระบบราง 10 ปี ทุ่ม 1.8 ล้านล้านบาท ระดมสร้าง 4,746 กม. ดันไทยมีเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ

(26 ก.ย. 66) เปิดแผนลงทุนระบบรางของไทย ช่วง 10 ปี สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) แจ้งข้อมูลมีเงินลงทุนอย่างน้อย 1.8 ล้านล้าน ดันประเทศไทยมีเส้นทางรถไฟทั่วประเทศอีก 4,746 กม. เช็ครายละเอียดแผนทั้งหมดที่นี่

‘การพัฒนาระบบราง’ ของประเทศไทย กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากรัฐบาลให้ความสำคัญในการลงทุนด้านการพัฒนาระบบราง โดยผลักดันโครงการต่าง ๆ ครอบคลุมทั้ง รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่ และระบบรถไฟความเร็วสูง

พร้อมตั้งเป้าหมายในระยะเวลาอีก 10 ปี โดยเริ่มต้นนับตั้งแต่ปี 2566 กระทรวงคมนาคม ได้จัดทำยุทธศาสตร์การใช้ระบบรางผลักดันการพัฒนาประเทศ โดยประเมินว่า จะมีการลงทุนในระบบรางเป็นจำนวนเงินอย่างน้อย 1.8 ล้านล้านบาท

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กระทรวงคมนาคม มีแนวทางที่จะใช้ระบบรางเป็นเครื่องมือในการร่วมพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กับกระแสโลกที่แข่งขันกันพัฒนาระบบราง เพราะเมื่อเทียบกับการคมนาคมในแบบต่าง ๆ แล้ว ระบบรางขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า ขนสินค้าได้มากกว่า ต้นทุนน้อยกว่าและผลิตคาร์บอนต่ำกว่า และช่วยตอบความต้องการของประเทศและประชาชนได้เป็นอย่างดี

สำหรับการพัฒนาระบบรางในอนาคต แยกเป็นระบบต่าง ๆ นั่นคือ

‘ระบบรางในเมือง’ ซึ่งปัจจุบันให้บริการรวมระยะทาง 241 กิโลเมตร แต่เมื่อถึงปี 2572 จะมีการบริการ 554 กิโลเมตร เป็นรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินรวม 17 สาย เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี

‘ระบบรถไฟทางคู่’ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งทางรางไปทั่วประเทศ โดยในปัจจุบันดำเนินการอยู่รวมระยะทาง 993 กิโลเมตร แต่เมื่อถึงปี 2571 จะมีเพิ่มขึ้นอีก 1,483 กิโลเมตร

‘ระบบรถไฟความเร็วสูง’ ปัจจุบันดำเนินการในระยะทาง 250 กิโลเมตร จากแผนพัฒนาเต็มที่มีระยะทางรวม 2,249 กิโลเมตร และยังมีรถไฟเชื่อมสามสนามบินอีก 220 กิโลเมตรด้วย

แผน 10 ปี ลงทุน 1.8 ล้านล้านบาท มีอะไรบ้าง?
สำหรับแผนการลงทุนในระบบรางอย่างน้อย 1.8 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปี รวมทั้งสิ้น 649 สถานี รวม 39 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 4,746 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย

‘รถไฟในเมือง’ ตามแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา จำนวน 168 สถานี รวม 12 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 212 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 606,991 ล้านบาท

‘รถไฟชานเมือง’ ตามแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา จำนวน 39 สถานี รวม 5 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 92.24 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 124,433 ล้านบาท

รถไฟทางไกล/รถไฟขนส่งสินค้า
ตามแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา จำนวน 416 สถานี รวม 19 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 3,614 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 549,959 ล้านบาท

‘รถไฟความเร็วสูง’ ตามแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา จำนวน 26 สถานี รวม 3 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 828 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 549,231 ล้านบาท

‘เพิ่มงานวิจัยพัฒนาระบบราง’ นายโชติชัย เจริญงาม ประธานสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ระบุว่า ที่ผ่านมา สทร. ได้ร่วมทำงานกับกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทำให้เกิดการช่วยคิดเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ที่สามารถต่อยอดจากการลงทุนด้านรางอีกเป็นจำนวนมาก

พร้อมกันนี้ สทร. ยังทำงานโดยการสร้างระบบความร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศ สถาบันการศึกษาในประเทศ และเอกชนในประเทศ โดยในระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมาได้รับความสนใจเข้ามาร่วมทั้งจากเยอรมัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เช่น

กรณี Alstom ที่แสดงความสนใจด้านการร่วมพัฒนาชิ้นส่วน มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีรับเป็นแม่งานด้านการกำหนดมาตรฐาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะช่วยดูเรื่องผลกระทบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นแห่งแรกที่เริ่มทำการศึกษาเศรษฐกิจจากระบบราง (Rail economy) สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน

นายโชติชัย ระบุด้วยว่า สทร. ยังร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  หรือ กสทช. ดำเนินงานเรื่องคลื่นความถี่สำหรับระบบรางที่จะช่วยให้การบริการทั้งคมนาคมและสื่อสารมีมาตรฐานเทียบเท่ากับในยุโรป โดยบริษัทเอกชนไทยเริ่มสนใจพัฒนาให้รถไฟเข้าสู่ระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูงของไทย

เช่นเดียวกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ช่วยชักชวนผู้เชี่ยวชาญชาวไทยเข้ามาช่วยคิด ช่วยทดสอบ ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราซื้อระบบจากยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและจีน ก่อนจะผลิตชิ้นส่วน หรืออะไหล่ ต้องมีมาตรฐานอ้างอิงขึ้นมาก่อน ซึ่งบริษัทต่างประเทศหลายแห่งก็ให้การสนับสนุนด้วย