‘สหรัฐฯ’ เผยความกังวลต่อสถานการณ์ระบบ กม.ไทย หลัง ‘พิธา-ก้าวไกล’ ส่อโดนเชือดจนอาจชวดเก้าอี้นายกฯ

(18 ก.ค. 66) สหรัฐฯ มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในระบบกฎหมายของไทย จากความเห็นของนายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (17 ก.ค.) หลังมีคำร้อง 2 คดีแยกกัน เล่นงานเอาผิดกับหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่คว้าเก้าอี้ได้มากที่สุดในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐสภาของไทยกำลังเตรียมการสำหรับลงมติรอบ 2 ในวันพุธ (19 ก.ค.) ว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หัวก้าวหน้า จะได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่

ในการโหวตรอบแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ความพยายามของนายพิธา ซึ่งต้องการดึงทหารออกจากการเมืองและขุดรากถอนโคนธุรกิจผูกขาด เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ถูกตีตกโดยวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ ตามหลังรัฐประหารปี 2014

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แทบไม่ส่งเสียงใดๆ เลย เกี่ยวกับสถานการณ์หลังการเลือกตั้งในไทย พันธมิตรทหารเก่าแก่ในภูมิภาคหนึ่งๆ ซึ่งวอชิงตันมีความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของจีน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อถูกถามระหว่างแถลงสรุปประจำวันเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย นายมิลเลอร์ ตอบว่า วอชิงตันไม่มีผลลัพธ์ที่ชอบในศึกเลือกตั้งของไทย แต่สนับสนุนกระบวนการหนึ่งที่สะท้อนเจตนารมณ์ของคนไทย

“เราจับตาสถานการณ์หลังการเลือกตั้งใกล้ชิดอย่างมาก ในนั้นรวมถึงพัฒนาการเมื่อเร็วๆ นี้ในระบบกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล” มิลเลอร์ กล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญของไทยรับคำร้องวินิจฉัยนายพิธา และพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับแผนแก้กฎหมายที่ห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันเบื้องสูง นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งยังยื่นคำร้องต่อศาลเดียวกัน ให้พิจารณาคุณสมบัติของนายพิธา เกี่ยวกับการถือครองหุ้นในบริษัทสื่อมวลชนแห่งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง ทั้ง 2 คดี ก่อความกังวลว่าศาลอาจชี้ว่านายพิธา ขาดคุณสมบัติสำหรับดำรงตำแหน่งหรือยุบพรรคก้าวไกล แบบเดียวกับครั้งที่พรรคอนาคตใหม่โดนในปี 2020

เมื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้เหล่านี้ นายมิลเลอร์ กล่าวว่า “ผมไม่ขอคาดเดาว่าเราจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่เน้นย้ำว่าสถานการณ์เมื่อเร็วๆ นี้มีความน่ากังวล”