‘พงษ์ภาณุ’ ชี้ปัญหา ความไม่สมมาตรของข้อมูลข่าวสาร ช่องโหว่ของกฎหมาย ความหย่อนยานของการบังคับใช้ ยกกรณี ‘Stark’

(2 ก.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้พูดคุย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 โดยได้ให้มุมมองถึง 
ตลาดทุนของประเทศไทยไว้ว่า ...

ตลาดทุนกับปัญหา Asymmetric Information 
ตลาดทุนมีหน้าที่สำคัญในการระดมเงินจากผู้ออมเงิน และนำเงินนั้นมาจัดสรรสู่การลงทุนซึ่งนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ตลาดทุนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็จะยิ่งพัฒนาและเติบโตได้มากขึ้นเท่านั้น

การระดมเงินมาลงทุนอาจทำโดยทางอ้อม Indirect Finance ผ่านสถาบันการเงิน หรือทางตรง Direct Finance โดยตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น เราได้ทุ่มเททรัพยากรเพื่อพัฒนาตลาดทุนให้เป็นเสาหลักคำ้จุนการพัฒนาประเทศ ทั้งการจัดโครงสร้างพื้นฐานของตลาด การจัดตั้งสถาบันการลงทุน การยกระดับ Corporate Governance ของผู้เล่น/สถาบันต่างๆในตลาดให้อยู่ในระดับสากล
แต่ไม่ว่าจะพัฒนาตลาดทุนอย่างไร ปัญหาก็เกิดขึ้นซ้ำซาก ทั้งนี้เพราะตลาดทุนทุกแห่งโดยธรรมชาติมีปัญหาหาเรื่องความไม่สมดุล/ความไม่สมมาตรของข้อมูลข่าวสาร (Asymmetric Information) กล่าวคือ ผู้นำเงินไปใช้มีข้อมูลข่าวสารมากกว่าผู้ให้เงิน และใช้ช่องโหว่ของกฏหมายหรือความหย่อนยานของการบังคับใช้กฏหมายมาฉ้อโกงประชาชนผู้ออมเงิน

กรณี Stark Corporation ไม่ใช่เรื่องใหม่และเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งทั้งในและต่างประเทศ ทางการน่าจะใช้เป็นบทเรียนสำคัญอีกบทหนึ่ง ในการทบทวนว่าโครงสร้าง Corporate Governance ของตลาดทุนไทยมีความเพียงพอหรือยัง โดยเฉพาะองค์กร/สถาบันต่างๆได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นคณะกกรรมการบริษัท (Board of Directors )กรรมการอิสระ คณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ผู้สอบบัญชีภายในและภายนอก (Internal and External Auditor) เปึนต้น ฝ่ายผู้ลงทุนและสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องก็จะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน และสุดท้ายทางการต้องบังคับใช้กฏหมายโดยการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างเต็มที่และรวดเร็ว