Operation fish ปฏิบัติการขนย้ายสมบัติครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ของสหราชอาณาจักร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2



แหวนทองที่พลเมืองอังกฤษส่งมอบให้รัฐบาลเพื่อนำไปแปรรูปเป็นทองคำแท่ง

‘Operation fish’ (ปฏิบัติการปลา) เดือนกันยายน ค.ศ.1939 รัฐบาลอังกฤษได้ออกคำสั่งให้พลเมืองทุกคนที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ต้องแสดงและมอบทรัพย์สิน โดยเฉพาะทองคำของตนให้กับกระทรวงการคลัง ด้วยเมฆพายุแห่งสงครามที่รวมตัวกันทำให้รัฐบาลอังกฤษเกิดความกลัวที่สหราชอาณาจักรมีโอกาสจะเพลี่ยงพล้ำ หากกองทัพเยอรมันยกพลบุกและยึดครองเกาะอังกฤษได้สำเร็จในที่สุด เพื่อให้อังกฤษมีเงินและทรัพยากรที่จะทำการสู้รบต่อไปได้ แม้ว่าเกาะอังกฤษจะถูกยึดครองก็ตาม ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงตัดสินใจขนย้ายสมบัติไปยังแคนาดา ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ


ปืนพก Colt ขนาด .380 ที่ถูกสั่งซื้อโดย British Purchasing Commission

ก่อน Operation fish ได้มีการส่งขบวนเรือพร้อมทองคำและเงินมูลค่าหลายล้านปอนด์ เพื่อซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกามาแล้ว โดย British Purchasing Commission (คณะกรรมาธิการจัดซื้อของอังกฤษ) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เดิมคือ คณะกรรมการจัดซื้อของแองโกล-ฝรั่งเศส (Anglo-French Purchasing Board) มีสำนักงานอยู่ในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งทำหน้าที่จัดการในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากผู้ผลิตในอเมริกาเหนือ และหลังจากการยอมจำนนของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1940 จึงกลายเป็น British Purchasing Commission คณะกรรมาธิการชุดนี้ยังรับผิดชอบต่อคำสั่งซื้อที่แต่เดิมเป็นของฝรั่งเศส เบลเยียม และต่อมาโดยนอร์เวย์ หลังจากการยอมจำนนต่อเยอรมันของประเทศเหล่านั้น


Sir Winston Churchill นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อ ‘Winston Churchill’ จัดตั้งรัฐบาลในปี ค.ศ.1940 สงครามกับเยอรมันกำลังดำเนินไปโดยฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายย่ำแย่ เพื่อให้มีหลักประกันว่า สหราชอาณาจักรจะสามารถสู้รบต่อไปได้ แม้เกาะอังกฤษจะถูกยึดครองก็ตาม Churchill จึงวางแผนจัดส่งทรัพย์สมบัติของอังกฤษจำนวนมหาศาลไปเก็บเพื่อความปลอดภัยในแคนาดา จากการที่รัฐบาล Churchill ได้ใช้อำนาจในช่วงสงคราม (กฎอัยการศึก) ยึดทรัพย์สินที่ชาวอังกฤษทุกคนได้ถูกบังคับให้ลงทะเบียนเมื่อกันยายน ค.ศ.1939 และทำการขนย้ายทรัพย์สินเหล่านั้นไปยังท่าเรือ Greenock ในสกอตแลนด์ภายใต้การคุ้มกันอย่างเป็นความลับสุดยอด


เรือ HMS Emerald

จากนั้น ทรัพย์สินทั้งหมดก็ถูกขนส่งโดย ‘เรือรบ HMS Emerald’ ซึ่งออกเดินทางเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.1939 พร้อมด้วยด้วยเรือพิฆาตคุ้มกันจำนวนหนึ่งได้แล่นไปยังแคนาดา การเดินทางของขบวนเรือครั้งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวด เพื่อเป็นการรักษาความลับและลวงพรางศัตรู ลูกเรือทุกนายต้องสวมเครื่องแบบ ‘สีขาวเขตร้อน’ เพื่อสร้างความสับสนให้กับเยอรมัน ในขบวนเรือคุ้มกันประกอบด้วยเรือประจัญบาน HMS Revenge และ HMS Resolution และ HMS Enterprise รวมถึงเรือลาดตระเวน HMS Caradoc ระหว่างทางขบวนเรือเผชิญกับพายุที่รุนแรงลูกหนึ่ง ที่ทำให้เกิดคลื่นลมแรงจนขบวนเรือต้องลดความเร็วลง จนเกือบจะกลายเป็นเป้าหมายง่ายๆ สำหรับเรือดำน้ำของเยอรมันที่พยายามเข้ามามาด้อมๆ มองๆ แต่ในที่สุดขบวนเรือก็มาถึงท่าเรือเมืองแฮลิแฟกซ์ของแคนาดา ทรัพย์สมบัติของอังกฤษก็ถูกขนย้ายด้วยรถไฟ และถูกส่งไปยังกรุงออตตาวาซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคนาดา ก่อนส่งต่อไปยังนครมอนทรีออล


อาคาร Sun Life ในนครมอนทรีออล

ทองคำแท่งน้ำหนักสองล้านปอนด์ (900 ตัน) มูลค่าราว 1.948 ล้านบาทในปัจจุบัน อันเป็นทรัพย์สินของอังกฤษ ถูกเก็บไว้ในห้องนิรภัยใต้ดินที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษใต้อาคาร Sun Life ในนครมอนทรีออล ภายใต้การคุ้มกันตลอดเวลาโดย ตำรวจของ Royal Canadian Mounted และมีการปล่อยข่าวลืออย่างต่อเนื่องว่า มีการเก็บเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักรไว้ที่นครมอนทรีออล โดยไม่มีการพูดถึงทองคำจำนวนมหาศาล เพื่อเป็นการอำพรางกิจกรรมที่เกิดขึ้นในอาคาร Sun Life โดยที่พนักงาน 5,000 คน ที่ทำงานในอาคาร Sun Life ไม่เคยสงสัยเลยว่า มีทองคำจำนวนมหาศาลถูกเก็บไว้ในห้องใต้ดินของอาคาร


แม้จะมีผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ แต่หน่วยข่าวกรองของเยอรมันก็ไม่เคยทราบหรือระแคะระคายข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการนี้เลย นักบัญชีและการเงินหลายร้อยคนทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อจัดรายการเนื้อหาของทรัพย์สินที่ถูกขนย้ายมา เมื่อเสร็จปฏิบัติการแล้วก็พบว่า ‘ทองคำ’ มูลค่าราว 1.948 ล้านบาท ที่ถูกส่งจากสหราชอาณาจักรไปยังแคนาดานั้น ไม่สูญหายเลยแม้แต่แท่งเดียว



มีแผ่นหินจารึกบนกำแพงด้านนอกของ Martins Bank บนถนน Water Street ในนครลิเวอร์พูลเป็นที่ระลึกถึงทองคำ ซึ่งถูกเก็บไว้ที่นั่นระหว่างเดินทางไปแคนาดา ระบุข้อความว่า…

“ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1940 เมื่อประเทศนี้ถูกคุกคาม ทองคำสำรองบางส่วนของประเทศถูกนำมาจากกรุงลอนดอน และถูกเก็บเพื่อความปลอดภัยในห้องใต้ดินของ Martins Bank”

ตัวเลขทองคำสำรองของอังกฤษในปัจจุบันอยู่ที่ 310 ตัน (ในขณะที่ตัวเลขทองคำสำรองของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 244 ตัน) ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ได้รับความนิยมสูง เพราะเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ไม่สามารถพิมพ์ออกมาใหม่ได้เหมือนเงิน และมูลค่าของทองคำไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการรักษามูลค่ามีมาแต่อดีต ดังนั้น เมื่อมีเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาหรือเข้าสู่วิกฤติ ราคาทองคำจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ดังนั้นทองคำเป็นหลักประกันที่จับต้องได้ที่ดีสุดสุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

 


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล