สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 22 – 26 พ.ค. 66 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 29 พ.ค. – 2 มิ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ วันที่ 26 พ.ค. 66 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 76.88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาวันที่ 26 พ.ค. 66 อยู่ที่ 76.95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

วันที่ 28 พ.ค. 66 นาย Joe Biden ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และนาย Kevin McCarthy ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้ และจะเสนอเข้าที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 31 พ.ค. 66 ส่งสัญญาณบวกต่อราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่ม OPEC+ แสดงความเห็นต่อนโยบายแนวทางการผลิตน้ำมันขัดแย้งกัน รมว.กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman กล่าวในงานสัมมนา Qatar Economic Forum เตือนนักลงทุนที่เปิดสถานะ Short Position (เก็งกำไรโดยคาดว่าราคาน้ำมันจะลดลง) ให้ระวังการขาดทุน ส่งสัญญาณว่าหากราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง กลุ่ม OPEC+ อาจพิจารณาลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 4 มิ.ย. 66 ทั้งนี้ในการประชุมวันที่ 3 เม.ย. 66 กลุ่ม OPEC+ มีมติลดการผลิตปริมาณรวม 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566

ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย นาย Alexander Novak เห็นว่ากลุ่ม OPEC+ ไม่น่าจะมีมาตรการใหม่ในการประชุมวันที่ 4 มิ.ย. นี้ เพราะหลายประเทศได้สมัครใจลดการผลิตน้ำมันไปแล้ว ในการประชุมครั้งก่อน และมองว่าราคา Brent จะสูงกว่าระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ภายในปี 2566 สอดคล้องกับประธานาธิบดีรัสเซีย นาย Vladimir Putin ซึ่งกล่าวก่อนหน้าว่าราคาน้ำมันกำลังเข้าใกล้ระดับที่เหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ (Economically Justified) ส่งสัญญาณรัสเซียไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายการผลิต

สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางตึงเครียด หลังอิหร่านทดสอบการยิงจรวดขีปนาวุธ (Khoramshahr 4) แบบพื้น-สู่-พื้น รุ่นใหม่ล่าสุดที่ผลิตในประเทศ โดยใช้ชื่อ Kheibar ซึ่งมีพิสัย 2,000 กม. และบรรทุกหัวรบได้ 1,500 กก. จึงสามารถโจมตีครอบคลุมฐานทัพของอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และเคลื่อนไหวในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หลังการเจรจาขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาบรรลุข้อตกลงเบื้องต้น และติดตามการประชุมกลุ่ม OPEC+ วันที่ 4 มิ.ย. 66 ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิตเพิ่มเติมหรือไม่

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

• บริษัท Equinor ของนอร์เวย์เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบแหล่ง Johan Sverdrup ในทะเลเหนือจาก 7.2 แสนบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. 66 สู่ระดับ 7.55 แสนบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์

• สำนักสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Federal Statistical Office) รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ -0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า หดตัวต่อเนื่อง หลังไตรมาส 4/65 อยู่ที่ -0.5% จากไตรมาสก่อนหน้า กล่าวคือเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

• Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 พ.ค. 66 ลดลง 5 แท่น WoW อยู่ที่ 570 แท่น

• สำนักสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (Office for National Statistics) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ ในเดือน เม.ย. 66 อยู่ที่ +8.7% จากปีก่อนหน้า ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 65