Sunday, 28 April 2024
ICEBrent

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 15-16 พ.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 22-26 พ.ค. 66

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง 0.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 75.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากนักลงทุนกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจถดถอยและถูกลดความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) หากการเจรจาขยายเพดานหนี้ (Debt Ceiling ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 31.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) ระหว่างพรรค Democrat และพรรค Republican ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ หลังวันที่ 1 มิ.ย. 66

อย่างไรก็ดี การเจรจาระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden (พรรค Democrat) และประธานสภาผู้แทนราษฎร นาย Kevin McCarthy (พรรค Republican) มีความคืบหน้า และทั้ง 2 ฝ่ายใกล้จะบรรลุข้อตกลงในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ โดยมีนัดหารือกันอีกในวันที่ 22 พ.ค. 66

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

• กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ประกาศเข้าซื้อน้ำมันดิบเพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณ 3 ล้านบาร์เรล ส่งมอบภายในเดือน ส.ค. 66 หลังระบายน้ำมันจาก SPR ปริมาณ 180 ล้านบาร์เรล ในปี 2565 เพื่อบรรเทาสภาวะน้ำมันตึงตัว หลังผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

• รายงานฉบับเดือน พ.ค. 66 ของ  International  Energy Administration  (IEA) คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 70,000 บาร์เรลต่อวัน)

• สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน เม.ย. 66 เพิ่มขึ้น 18.9% จากปีก่อน อยู่ที่ 14.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อเตรียมรองรับอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

• ผู้บริหารของบริษัทและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ 150 ราย อาทิ Goldman Sachs และ JP Morgan ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden และประธานรัฐสภา เตือนว่าหากการเจรจาเพดานหนี้ไม่ได้ข้อสรุปทันเวลา สหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้สถานะของสหรัฐฯ ในระบบการเงินโลกอ่อนแอลง กระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ เป็นการส่งคำเตือนที่หนักแน่นที่สุดจากภาคธุรกิจในรอบหลายปีที่ผ่านมา บ่งชี้ความสำคัญของการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ 

• Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.0 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 467.6 ล้านบาร์เรล

ให้จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 13-14 มิ.ย. 66 ซึ่งล่าสุด ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นาย Jerome Powell กล่าวว่า FOMC อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 0.25% จากระดับปัจจุบันที่ 5.0-5.25% หากอัตราเงินเฟ้อยังสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% สัปดาห์นี้คาดการณ์ราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 22 – 26 พ.ค. 66 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 29 พ.ค. – 2 มิ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ วันที่ 26 พ.ค. 66 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 76.88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาวันที่ 26 พ.ค. 66 อยู่ที่ 76.95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

วันที่ 28 พ.ค. 66 นาย Joe Biden ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และนาย Kevin McCarthy ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้ และจะเสนอเข้าที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 31 พ.ค. 66 ส่งสัญญาณบวกต่อราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่ม OPEC+ แสดงความเห็นต่อนโยบายแนวทางการผลิตน้ำมันขัดแย้งกัน รมว.กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman กล่าวในงานสัมมนา Qatar Economic Forum เตือนนักลงทุนที่เปิดสถานะ Short Position (เก็งกำไรโดยคาดว่าราคาน้ำมันจะลดลง) ให้ระวังการขาดทุน ส่งสัญญาณว่าหากราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง กลุ่ม OPEC+ อาจพิจารณาลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 4 มิ.ย. 66 ทั้งนี้ในการประชุมวันที่ 3 เม.ย. 66 กลุ่ม OPEC+ มีมติลดการผลิตปริมาณรวม 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566

ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย นาย Alexander Novak เห็นว่ากลุ่ม OPEC+ ไม่น่าจะมีมาตรการใหม่ในการประชุมวันที่ 4 มิ.ย. นี้ เพราะหลายประเทศได้สมัครใจลดการผลิตน้ำมันไปแล้ว ในการประชุมครั้งก่อน และมองว่าราคา Brent จะสูงกว่าระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ภายในปี 2566 สอดคล้องกับประธานาธิบดีรัสเซีย นาย Vladimir Putin ซึ่งกล่าวก่อนหน้าว่าราคาน้ำมันกำลังเข้าใกล้ระดับที่เหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ (Economically Justified) ส่งสัญญาณรัสเซียไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายการผลิต

สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางตึงเครียด หลังอิหร่านทดสอบการยิงจรวดขีปนาวุธ (Khoramshahr 4) แบบพื้น-สู่-พื้น รุ่นใหม่ล่าสุดที่ผลิตในประเทศ โดยใช้ชื่อ Kheibar ซึ่งมีพิสัย 2,000 กม. และบรรทุกหัวรบได้ 1,500 กก. จึงสามารถโจมตีครอบคลุมฐานทัพของอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และเคลื่อนไหวในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หลังการเจรจาขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาบรรลุข้อตกลงเบื้องต้น และติดตามการประชุมกลุ่ม OPEC+ วันที่ 4 มิ.ย. 66 ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิตเพิ่มเติมหรือไม่

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

• บริษัท Equinor ของนอร์เวย์เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบแหล่ง Johan Sverdrup ในทะเลเหนือจาก 7.2 แสนบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. 66 สู่ระดับ 7.55 แสนบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์

• สำนักสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Federal Statistical Office) รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ -0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า หดตัวต่อเนื่อง หลังไตรมาส 4/65 อยู่ที่ -0.5% จากไตรมาสก่อนหน้า กล่าวคือเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

• Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 พ.ค. 66 ลดลง 5 แท่น WoW อยู่ที่ 570 แท่น

• สำนักสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (Office for National Statistics) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ ในเดือน เม.ย. 66 อยู่ที่ +8.7% จากปีก่อนหน้า ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 65

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 12-16 มิ.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 19-23 มิ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดผันผวน เฉลี่ยโดยรวมลดลงกว่า 1-2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนเทขายจากความวิตกต่ออุปสงค์พลังงานโลกที่อาจชะลอการฟื้นตัว หากธนาคารกลางรายใหญ่ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับตัวสูงขึ้นหลังจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลางสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบลดลง หลังจากสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงปลายสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดสูงสุดในรอบ 7 วัน หลังโรงกลั่นน้ำมันในจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก นำน้ำมันดิบเข้ากลั่นเพิ่มขึ้น

รมว.กระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Nikolai Shulginov กล่าวในงานสัมมนา St. Petersburg International Economic Forum ว่ารัสเซียจะผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ในปี 2566 ลดลงจากปีก่อน 400,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้รัสเซียประกาศลดการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วง มี.ค. 66 - ธ.ค. 67 เพื่อตอบโต้ชาติตะวันตก ซึ่งออกมาตรการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล และราคา Brent จะกลับมาแตะระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราคา Brent ต่ำกว่าระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 66 เป็นต้นมา)

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จับตาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ - จีน ซึ่งมีแนวโน้มผ่อนคลายลง หลัง รมว. กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ นาย Anthony Blinken เยือนจีน ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 18 มิ.ย. 66 และพบปะหารือกับ รมว. กระทรวงการต่างประเทศของจีน นาย Qing Gang ทั้งนี้นาย Blinken เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงสุดของสหรัฐฯ คนแรก ที่เยือนจีนอย่างเป็นทางการในรอบ 5 ปี

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
• 14 มิ.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00-5.25% ตามตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ตามประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ส่งสัญญาณอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้งสู่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้

• 15 มิ.ย. 66 ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Deposit Facility Rate), ดอกเบี้ยสำหรับสร้างสภาพคล่องให้ระบบธนาคารฯ (Main Refinancing Operations Rate) และดอกเบี้ยที่ให้ธนาคารฯ กู้ยืม (Marginal Lending Facility Rate) อยู่ที่ 3.50%, 4.0% และ 4.25% ตามลำดับ สูงสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 66 เป็นต้นไป

• EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 9 มิ.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 7.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 467.1 ล้านบาร์เรล

• Kpler รายงานอิหร่านผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 15.4% อยู่ที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ปี 2561และส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 43% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ปี 2561

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
• สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.4% อยู่ที่ 14.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน

• 13 มิ.ย. 66 ธนาคารแห่งชาติของจีน (People’s Bank of China: PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นระยะเวลา 7 วัน แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (7-Day Reverse Repurchase Agreement) ลง 0.1% มาอยู่ที่ 1.9% ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาสภาวะเงินฝืด

• Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ปรับเพิ่มประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 2566 อยู่ที่ +2.7% จากปีก่อน (เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน ในเดือน มี.ค. 66 ที่ +2.6%) โดยปรับเพิ่ม GDP จีน อยู่ที่ +5.6% (เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน ที่ +4.3%)

• IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 240,000 บาร์เรลต่อวัน)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top