‘จิ๊บ ศศิกานต์’ อัด นโยบายแจกเงินดิจิทัลของ ‘เพื่อไทย’ ชี้!! รูปแบบ-ที่มาของงบไม่ชัดเจน สะท้อนความเลื่อนลอย

(15 เม.ย. 66) ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างกว้างขวางสำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้แก่ประชาชน อายุ 16 ปีขึ้นไปในระยะเวลา 6 เดือน ภายใต้จำนวนงบประมาณมหาศาลถึง 54 หมื่นล้านบาท ด้วยความวิตกกังวลของหลายฝ่าย ว่าการใช้เงินจำนวนมากและแจกจ่ายแบบเหวี่ยงแหเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อวินัยการเงิน การคลังและระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย ก็ยังคงยืนยันถึงความมั่นใจและประโยชน์ที่จะได้จากการทำโครงการนี้

ล่าสุด น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ หรือ ‘จิ๊บ’ ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตบางแค ภาษีเจริญ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เท่าที่ติดตามการชี้แจงจากแกนนำของพรรคเพื่อไทยหลายคน รวมถึงนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ก็เห็นว่านโยบายดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น เช่น รูปแบบของเงินที่จะออกให้ประชาชนคนละ 1 หมื่นบาทนั้น จะเป็นรูปแบบอะไร มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด อย่างตอนแรกบอกว่าจะแจกเป็นเหรียญดิจิทัล ต่อมาก็บอกจ่ายเป็นคูปองแทน ซึ่งเรื่องนี้ก็อยากจะเรียกร้องให้พูดให้ชัด ๆ เสียที อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนคนฟังสับสน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยากจะย้ำเตือนความจำให้นายเศรษฐารับทราบว่า ที่ผ่านมาทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง ได้ออกมาประกาศชัดเจนตั้งแต่ปีที่แล้ว ถึงประเด็นการใช้จ่าย ชำระสินค้าผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล ว่าไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการเกี่ยวกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้า

เพราะมีความกังวลจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เช่น อาจเกิดความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ฯลฯ จึงอยากจะถามถึงนายเศรษฐาว่าได้ทราบเรื่องเหล่านี้หรือไม่

น.ส.ศศิกานต์ ยังเผยอีกว่า เมื่อไม่นานมานี้ทางเพื่อไทย ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็น ‘เหรียญ (คูปอง)’

คำถามก็คือ ไม่ว่าจะแจกในรูปแบบอะไรก็ตาม ก็ต้องมีจำนวนเงินงบประมาณจริง ๆ พร้อมจะแจกจ่าย ซึ่งเป็นจำนวนเงินกว่า ห้าแสนสี่หมื่นล้านบาท ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ของนายเศรษฐา ได้อธิบายว่า ส่วนหนึ่งนำมาจากเงินภาษีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สองแสนหกหมื่นล้าน

อีกส่วนหนึ่งที่เหลือ นายเศรษฐา ใช้คำว่า “คาดว่า” จะนำมาจากภาษีของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ที่จะเกิดการหมุนเวียนหลายรอบ

การอธิบายดังกล่าวของนายเศรษฐา สะท้อนให้เห็นถึง ‘ความเลื่อนลอย’ ในประเด็น แหล่งที่มาของเงิน ที่จะนำมาทำโครงการนี้อย่างชัดเจน โดยฝากความหวังไว้กับการเก็บภาษีในอนาคต ที่ยังมาไม่ถึง เพียงแต่คิดเอาเองว่า จะได้เท่านั้นเท่านี้ แล้วถ้าหากไม่สามารถเก็บได้ตามเป้า จะทำอย่างไร

และอย่าลืมว่า เงินที่ได้จากภาษีของรัฐบาลลุงตู่ 2 แสนกว่าล้านนั้น รัฐบาลยังมีรายจ่ายสำหรับการดูแลประชาชนด้านอื่น ๆ อีก ซึ่งถ้าหากนำเงินทั้งหมดมาใช้ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย การดูแลประชาชนด้านอื่นก็จะต้องถูกตัดงบงบประมาณลงไปด้วย

แค่ 2- 3 ประเด็นเหล่านี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่า นโยบายแจกเงิน คนอายุ 16 ปีขึ้นไปคนละ 10,000 บาท รวมทั้งหมด 54 ล้านคนและใช้เงิน 540,000 ล้านบาทนั้น จะสามารถปฏิบัติจริงได้แค่ไหน

และถ้าหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลและฝืนที่จะผลักดันโครงการแบบนี้จริง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาพรวม ของงบประมาณประเทศและระบบเศรษฐกิจของไทย จะเกิดขึ้นมากมายมหาศาลเพียงใด

จึงไม่แปลกใจที่ แม้แต่คนที่เป็นกลางทางการเมือง นักวิชาการ อดีตผู้ว่าแบงค์ชาติหรือใครต่อใครล้วนแล้วแต่แสดงความกังวลและออกมา คัดค้านแนวคิดการแจกเงินดังกล่าวอย่างกว้างขวาง มากขึ้นทุกที เพราะคนที่ออกมาคัดค้านด้วยความห่วงใยไม่ต้องการที่จะเห็น การนำเศรษฐกิจ การคลังของประเทศไปเสี่ยงกับชัยชนะของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง