Saturday, 18 May 2024
นโยบายแจกเงิน

‘อดีตผู้ว่าการ ธปท.’ ชี้ นโยบายแจกเงิน ก่อหนี้โดยไม่จำเป็น จวก!! ไร้ความรับผิดชอบ ทำ ปชช.ขาดวินัย-ทักษะทางการเงิน

(11 เม.ย. 66) นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เขียนข้อความเรื่องภาระการคลังของการแจกเงิน โดยระบุว่า…

ประชากรอายุ 16 ปีขึ้นไปมีประมาณ 85% ของประชากร 67,000,000 คนจึงเทียบเท่ากับประมาณ 55,000,000 คน แจกให้คนละ 10,000 บาท เทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายทั้งหมด 550,000 ล้านบาท

ถามว่าจะเอาค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาจากไหน?

ถ้าเงิน 550,000 ล้านบาทที่ใช้จ่ายออกไปมีการเก็บภาษีวีเอที 7% เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะได้ภาษี 38,500 ล้านบาท แต่จริง ๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะร้านขายของในละแวกบ้าน นอกอาจจะเป็นร้านเล็ก ๆ ยังไม่อยู่ในระบบภาษี แต่เอาเถอะยกผลประโยชน์ให้ว่าเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเขาอาจจะโต้แย้งได้ว่าเงิน 550,000 ล้านบาทสามารถหมุนได้หลายรอบ ก็จะเก็บภาษีได้หลายรอบ และบริษัทที่ผลิตสินค้าขายได้มากขึ้นก็น่าจะเก็บภาษีนิติบุคคลได้มากขึ้น

ดังนั้น ยังต้องหาเงินมาโปะส่วนที่ขาดอีก 511,500 ล้านบาท ปัดตัวเลขกลมๆเป็น  500,000 ล้านบาทเลยก็ได้ ถ้าไม่ขึ้นภาษีก็ต้องเบียดมาจากการใช้จ่ายรายการอื่น ๆ ซึ่งไม่น่าจะเบียดมาได้มากนัก เพราะตัวเลข 500,000 ล้านบาทนี้ เทียบเท่ากับ 17 ถึง 18% ของงบประมาณคาดการณ์ของปี 2023 จึงเป็นสัดส่วนไม่น้อย เมื่อหาเงินหรือลดค่าใช้จ่ายรายการอื่นไม่ได้ ก็ต้องกู้มาโปะส่วนที่ขาดดุลมากขึ้นนี้

อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีในปี 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 61.36% ถ้าต้องกู้มากขึ้นอีก 500,000 ล้านบาทสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 2.8% รวมเป็น 64.16%

เราเคยตั้งเป้าว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะไม่ให้เกิน 60% แต่ช่วงที่ผ่านมาเราต้องประคับประคองเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด จึงยอมให้สัดส่วนนี้สูงเกิน 60% และมีเป้าหมายจะดึงลงมาให้อยู่ในระดับ 60% โดยเร็ว

นโยบายแจกเงินนี้มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะโตประมาณ 3 ถึง 4% โดยมีตัวช่วยคือการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาในช่วงโควิดรัฐบาลได้ใช้เงินไปในการพยุงเศรษฐกิจมามากพอแล้ว ปีหน้าจึง​ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นต่อเนื่อง และการจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยการใช้จ่ายเป็นวิธีที่ไม่รับผิดชอบ (ยกเว้นในกรณีจำเป็น อย่างเช่นในช่วงโควิดที่หัวรถจักรทางเศรษฐกิจตัวอื่น ๆ ไม่ทำงาน) เพราะใช้แล้วก็หมดไป ไม่มีผลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว

'โบว์-ณัฏฐา' ชี้!! นโยบายแจกเงิน เหมาะใช้ยามวิกฤต ถ้ารอเวลาแจกได้ ไม่ใช่ 'วิกฤต' แต่เป็นการ 'หาเสียง'

(13 เม.ย.66) คุณโบว์-ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

นโยบายประเภทแจกเงินเยอะๆ หว่านทั่วประเทศแบบ Helicopter Money มันเอาไว้ใช้ในยามวิกฤตจริงๆ แบบที่ต้องทำต้องใช้เดี๋ยวนั้นเลย จึงได้เห็นว่าช่วงโควิดมีหลายประเทศทำแบบนี้ ซึ่งดี 

แต่ประเภทบอกล่วงหน้าแล้ว กว่าจะได้แจกจริงๆ อีกเกือบปี (รวมเวลาเลือกตั้งและฟอร์มรัฐบาลก่อนนับหนึ่งดำเนินการ) นี่ ไม่มีใครเขาทำกัน เพราะถ้ารอเวลาได้นานขนาดนั้น ก็แปลว่ามันไม่ใช่ “วิกฤต” แล้ว

ที่ประกาศมา จึงมีไว้เพื่อเหตุผลหลักคือ “หาเสียง” ใครอยากได้เงิน ก็เอาเสียงมา ก็เท่านั้น

เข้าใจให้ตรงกันอย่างนี้ ก็ไม่ต้องไปถกเถียงกันในรายละเอียดให้เสียเวลาค่ะ

หนักกว่าหว่านแจกเป็นหมื่น คือ การเติมเงินแจกให้ทุกครอบครัวมีรายได้ครบสองหมื่นนะ มันจะคุมงบประมาณไม่ได้เลย เพราะไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าใครบ้างจะเลือกนอนอยู่บ้านแล้วรอให้รัฐเลี้ยงด้วยเงินสองหมื่นไปเรื่อยๆ 

อันนี้ก็ไม่ต้องพยายามไปถกเถียงกันเช่นกัน เพราะเหตุผลหลักก็เหมือนข้อแรก

จบ.


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0icMCGmYefAzRPwk5LmnJxkEa7wLrfgPqpn5MzZNwLi67e2Auz8hXVmnUXvCZTLPXl&id=575635818&mibextid=Nif5oz

‘จิ๊บ ศศิกานต์’ อัด นโยบายแจกเงินดิจิทัลของ ‘เพื่อไทย’ ชี้!! รูปแบบ-ที่มาของงบไม่ชัดเจน สะท้อนความเลื่อนลอย

(15 เม.ย. 66) ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างกว้างขวางสำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้แก่ประชาชน อายุ 16 ปีขึ้นไปในระยะเวลา 6 เดือน ภายใต้จำนวนงบประมาณมหาศาลถึง 54 หมื่นล้านบาท ด้วยความวิตกกังวลของหลายฝ่าย ว่าการใช้เงินจำนวนมากและแจกจ่ายแบบเหวี่ยงแหเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อวินัยการเงิน การคลังและระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย ก็ยังคงยืนยันถึงความมั่นใจและประโยชน์ที่จะได้จากการทำโครงการนี้

ล่าสุด น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ หรือ ‘จิ๊บ’ ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตบางแค ภาษีเจริญ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เท่าที่ติดตามการชี้แจงจากแกนนำของพรรคเพื่อไทยหลายคน รวมถึงนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ก็เห็นว่านโยบายดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น เช่น รูปแบบของเงินที่จะออกให้ประชาชนคนละ 1 หมื่นบาทนั้น จะเป็นรูปแบบอะไร มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด อย่างตอนแรกบอกว่าจะแจกเป็นเหรียญดิจิทัล ต่อมาก็บอกจ่ายเป็นคูปองแทน ซึ่งเรื่องนี้ก็อยากจะเรียกร้องให้พูดให้ชัด ๆ เสียที อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนคนฟังสับสน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยากจะย้ำเตือนความจำให้นายเศรษฐารับทราบว่า ที่ผ่านมาทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง ได้ออกมาประกาศชัดเจนตั้งแต่ปีที่แล้ว ถึงประเด็นการใช้จ่าย ชำระสินค้าผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล ว่าไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการเกี่ยวกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้า

เพราะมีความกังวลจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เช่น อาจเกิดความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ฯลฯ จึงอยากจะถามถึงนายเศรษฐาว่าได้ทราบเรื่องเหล่านี้หรือไม่

น.ส.ศศิกานต์ ยังเผยอีกว่า เมื่อไม่นานมานี้ทางเพื่อไทย ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็น ‘เหรียญ (คูปอง)’

คำถามก็คือ ไม่ว่าจะแจกในรูปแบบอะไรก็ตาม ก็ต้องมีจำนวนเงินงบประมาณจริง ๆ พร้อมจะแจกจ่าย ซึ่งเป็นจำนวนเงินกว่า ห้าแสนสี่หมื่นล้านบาท ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ของนายเศรษฐา ได้อธิบายว่า ส่วนหนึ่งนำมาจากเงินภาษีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สองแสนหกหมื่นล้าน

อีกส่วนหนึ่งที่เหลือ นายเศรษฐา ใช้คำว่า “คาดว่า” จะนำมาจากภาษีของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ที่จะเกิดการหมุนเวียนหลายรอบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top