'รองโฆษกสร้างอนาคตไทย' สับเละ สปสช.ยกเลิกสัญญา 9 รพ.เอกชน ทำผู้ป่วยกว่า 2 แสนคนเดือดร้อน เรียกร้องเร่งแก้ไข 3 เรื่อง ด่วน!

นายธันวา ไกรฤกษ์ ว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขตสวนหลวง และรองโฆษกพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวถึงความเดือดร้อนของประชาชนกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ยกเลิกสัญญา 9 โรงพยาบาลเอกชน ว่า กรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ยกเลิกสัญญา 9 โรงพยาบาลเอกชน ได้แก่ 1. รพ.มเหสักข์ 2. รพ.บางนา 1 3. รพ.ประชาพัฒน์ 4. รพ.นวมินทร์ 5. รพ.เพชรเวช 6. รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2 7. รพ.แพทย์ปัญญา 8. รพ.บางมด และ 9. รพ.กล้วยน้ำไท ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 ที่ผ่านมานั้น ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก 

แม้ทางสปสช.ได้มีการกำหนดทางออกและมาตรการรองรับเบื้องต้น โดยให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการใหม่ และใช้สิทธิรักษาตามหน่วยบริการที่เลือกไว้ หรือรักษาที่หน่วยปฐมภูมิ คลินิก และศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน แต่ในทางปฏิบัติกลับมีความยุ่งยากและซับซ้อน เกิดความสับสนและไม่ตอบโจทย์ประชาชนผู้ใช้บริการ ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยกว่า 200,000 ราย จาก 9 โรงพยาบาลเอกชน ได้รับผลกระทบเข้าไม่ถึงการรักษาและยาอย่างเหมาะสม

“เสียงสะท้อนจากประชาชนเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการใหม่นั้นยุ่งยาก ผู้สูงอายุมากมายที่ไม่สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางที่สปสช.กำหนด และหลายรายยังไม่ได้ทำการเลือกหน่วยลงทะเบียน แต่มีจดหมายมาที่บ้าน ไม่ก็ปรากฏในเว็บไซต์ว่าสิทธิของตนถูกย้ายไปอยู่โรงพยาบาลอื่น เช่น เดิมสิทธิอยู่รพ.แพทย์ปัญญา แต่ถูกย้ายไปรพ.เลิดสิน ซึ่งไกลจากบ้านมาก ไม่สามารถเดินทางได้ด้วยข้อจำกัดทางด้านสุขภาพและทุนทรัพย์ หลายรายจึงเลือกที่จะไม่ไปโรงพยาบาล และหากเกิดการรับยาตามจุดต่าง ๆ ที่สปสช.กำหนดโดยไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อผู้ป่วยได้” นายธันวา กล่าว

นายธันวา กล่าวต่อว่า สปสช.ควรเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนใน 3 ประเด็นหลักสำคัญ เพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน คือ 
1. เจรจาหาโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับถิ่นพำนักของประชาชนในแต่ละพื้นที่ 
2. จัดทำมาตรการเชิงรุกในการลงทะเบียนย้ายสิทธิ โดยส่งบุคลากรของทางสปสช.เข้ามาให้บริการด้านเอกสารในแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึง เช่น ส่งหน่วยบริการย้ายสิทธิไปตามชุมชนต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี 
3. ประชาสัมพันธ์ และประสานกับสำนักงานเขตในแต่ละพื้นที่อย่างบูรณาการกว่านี้ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าใจในขั้นตอนการดำเนินการย้ายสิทธิและเข้ารับบริการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น