‘โบว์ ณัฏฐา’ ชี้ แค่แก้กฎหมายเลือกตั้ง เปลี่ยนสูตรหารปาร์ตี้ลิสต์ยังไม่พอ หากอยากเห็นการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ต้องตัดอำนาจส.ว.โหวตนายก เพื่อเข้าสู่การบริหารที่ชอบธรรม

น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา Bow Nuttaa Mahattana) ระบุว่า

“ไม่ว่าจะ หาร 100 หรือ 500 ก็จะดีกว่าเดิม แต่ …”

เห็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับสูตรการเลือกตั้งมากมาย พร้อมเกมในสภาที่ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น ไม่ใช่ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล แต่กลับเป็นระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก นำมาสู่เหตุการณ์สภาล่ม และการตั้งคำถามของคนในสังคมว่า “ประชาชนได้อะไร?”

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ก็อยากขอร่วมตอบว่า อันที่จริงแล้ว ไม่ว่าที่สุดบทสรุปจะไปจบที่สูตรหาร 100 หรือ 500 ประชาชนก็จะได้กติกาการเลือกตั้งที่ “ดีกว่าเดิม” แน่นอน 

อย่าลืมว่า กติกาการเลือกตั้งเดิมจากรัฐธรรมนูญ 60 ที่ใช้กันมาในการเลือกตั้งปี 62 นั้น เป็นการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ประชาชนถูกมัดมือชกให้ต้องเลือกทั้งส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ในกากบาทเดียว พรรคไหนไม่มีกำลังจะส่งคนไปลงหลายๆเขต โอกาสจะได้เก็บคะแนนมารวมเพื่อคำนวณเป็นสัดส่วนส.ส.พึงมีก็น้อยลง เพราะในเขตที่ไม่มีการส่งผู้สมัคร ก็จะไม่มีช่องลงคะแนนของพรรคตนให้ประชาชนได้เลือกกากบาท จึงไม่ได้เป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเล็กทุนน้อยจริงๆดังที่อ้าง ทุกอย่างลักลั่นผิดฝาผิดตัวไปหมด ถึงเวลาคำนวณด้วยสูตรพิสดารออกมา ก็เกิดส.ส.ปัดเศษเต็มสภา นำสู่รัฐบาลผสมถึง 19 พรรค และพรรคการเมืองในสภารวมกว่า 25 พรรค ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่าประเทศประชาธิปไตยที่มั่นคงโดยปกติจะมีกัน นำสู่ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล กับสภาที่เต็มไปด้วยงูเห่ากับสวนกล้วยอย่างที่เห็น 

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงนำมาสู่บทเรียน และข้อสรุปของทุกพรรคการเมืองว่า “เราต้องแก้รัฐธรรมนูญ และปรับปรุงกติกาการเลือกตั้ง” จึงเป็นที่มาของทางเลือกสูตรหาร 100 หรือ 500 พร้อมบัตรเลือกตั้งสองใบอย่างที่เห็น

ดังนั้น ไม่ว่าจะอย่างไร ประชาชนน่าจะได้กติกาของการเข้าสู่อำนาจ หรือ “กฎหมายเลือกตั้ง” ที่ดีกว่าเดิมแน่นอน 

บัตรเลือกตั้งสองใบในทั้งสองสูตร จะให้พื้นที่กับพรรคเล็กพรรคน้อย ได้มีโอกาสเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แม้จะไม่มีกำลังส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต มากมาย ประชาชนมีทางเลือก กากบาท “คนที่ชอบ” และ “พรรคที่ใช่” แยกกันได้ตามต้องการ 

หากได้สูตรหาร 100 ก็เป็นไปได้ที่จะได้ภาพของฝ่ายการเมืองที่เป็นปึกแผ่นขึ้น ในสภามีจำนวนพรรคน้อยลง เพราะแต่ละที่นั่งของส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จะมาจากเสียงโหวตจำนวนมากกว่า แกร่งจริงจึงได้เข้าสภา ได้รัฐบาลที่มีจำนวนพรรคร่วมน้อยลง เกิดเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้นสำหรับฝ่ายบริหาร

หากได้สูตรหาร 500 ก็มีโอกาสที่จะเห็นความหลากหลายของพรรคการเมืองมากขึ้นในสภา เพราะจำนวนเสียงโหวตที่ต้องการเพื่อหนึ่งที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ได้มากเท่าสูตรหาร 100 จึงเปิดโอกาสให้พรรคที่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เพียงพอในสูตรนี้มีโอกาสเข้ามามีที่นั่งได้มากขึ้นแม้จะไม่ชนะส.ส.เขต คนที่ต้องการเห็นความหลากหลายหรือเปิดโอกาสให้มีตัวแทนของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมากขึ้น ก็น่าจะชอบ 

ทั้งสองสูตรมีข้อดี และไม่แปลกที่แต่ละพรรคการเมืองจะพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้สูตรที่ทำให้พรรคตนมีโอกาสมากขึ้น เพราะเป้าหมายของทุกพรรคการเมือง ก็คือการมีที่นั่งมากที่สุดและมีโอกาสที่จะได้เป็นฝ่ายบริหารเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้ โดยหลักการ นี่คือความต้องการที่เป็นปกติของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 

แต่ แต่ แต่ … 
ความหวังและการพัฒนาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมดนี้จะหมดความหมายลง ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 “ยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตนายก” ไม่สำเร็จลุล่วงก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่า ส.ว. 250 คน จากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. จะยังคงมีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกับส.ส. 500 คนจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้อีกสมัยในปีหน้า 

เพราะการมีอำนาจนี้อยู่ ซึ่งคือการมี 250 เสียงตุนไว้ล่วงหน้าในมือผู้เล่นทางการเมืองหนึ่ง จะมีผลต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองต่างๆในการฟอร์มรัฐบาล “หลังการเลือกตั้ง” และสนามของการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองก็จะยังคง “ผิดปกติ” ต่อไป 

หากอยากให้การเข้าสู่อำนาจบริหารเป็นไปอย่าง “ปกติ” เราต้องทำสนามให้เป็นปกติ การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งส.ส.อย่างเดียว คงไม่พอ 

เมื่อถึงวาระที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 “ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตนายก” เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ขอให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ได้ร่วมใจกันสร้างคุณูปการแก่บ้านเมือง ปรับปรุงกติกาให้ “เป็นปกติ” และ “เป็นธรรม” 

เมื่อนั้น ก้าวต่อไปที่ดีกว่า จึงจะเกิดขึ้นได้จริงค่ะ

ที่มา : https://www.facebook.com/235082024069769/posts/pfbid028xx7WhGgGRErDGJwrAwTpbRSAFztFMovrA6PhvyTKBrkAku8C6bHC8tLqzwDPjjkl/?d=n