Friday, 3 May 2024
ตัดอำนาจสว

'โภคิน' หนุนตัดอำนาจ ส.ว. เล็งเปิดโอกาสปชช.ร่วมแก้ รธน.

13 ม.ค. 65 - นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยถึงข้อเสนอคณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 272 และบทเฉพาะกาล ที่ให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ย้อนกลับไปยังรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขัดกับการต่อสู้ทางรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา 

นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และประธานรัฐสภา ต้องเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ถ้ามาจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ควรให้ ส.ส. เลือก ในกรณีที่ไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคต่างๆ ได้ ต้องให้มีการลงมติ 2 ใน 3 ของรัฐสภา โดยการเข้าชื่อต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 272 (2) สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็น ส.ส. หรือไม่เป็น ส.ส. ก็ได้ ซึ่งสามารถเสนอชื่อคนนอกได้ 

‘พรรคกล้า’ หนุนตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ชี้ รัฐตั้งได้ด้วยเสียง ส.ส. ข้างมาก โดยไม่ต้องพึ่ง ม.272 อยู่แล้ว

"พรรคกล้า" ร่วมหนุน คณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ย้ำเพื่อรักษาหลักปฏิบัตินิยม ยุติปมความขัดแย้ง ไม่ควรอาศัยเสียง ส.ว. แต่งตั้ง จัดตั้งรัฐบาล ชี้ต้องแก้ก่อนเลือกตั้ง

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร แกนนำคณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ ม.272 พร้อมคณะ อาทิ นางลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย, นางสาวณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหว เข้าเชิญชวนนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ร่วมลงชื่อสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี

โดยนายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้รวบรายชื่อผู้สนับสนุนได้เกือบ 80,000 รายชื่อแล้ว โดยจะส่งรายชื่อผู้สนับสนุน 70,000 รายชื่อแรก ให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจความถูกต้อง เพื่อบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมหน้า 22 พ.ค. 65 โดยจะเปิดให้ลงชื่อต่อไปจนกว่าสภาฯ จะมีการพิจารณาวาระนี้ พร้อมมอบป้าย QR Code เพื่อลงชื่อสนับสนุนและเสื้อยืดรณรงค์ ให้นายกรณ์ เพื่อให้พรรคได้เชิญชวนประชาชนร่วมสนับผ่านทางช่องทางการสื่อสารของพรรค

 

นายกรณ์ กล่าวว่า ยินดีร่วมสนับสนุน เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญในการแสดงหลักความถูกต้องของกฎหมายบ้านเมือง ทำให้คนไว้วางใจร่วมลงชื่อสนับสนุนจำนวนมาก ซึ่งตนเองเคยแสดงความคิดเห็นตั้งแต่ก่อนเริ่มลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และการรณรงค์เรื่องนี้สอดคล้องกับจุดยืนของพรรคมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค หากมองตามหลักปฏิบัตินิยม มาตรานี้ไม่มีประโยชน์ เพราะรัฐบาลต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร  แม้มีเสียง ส.ว. สนับสนุน แต่หากไม่มีเสียงข้างมากในสภาฯ รัฐบาลก็ทำงานไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล โดยเฉพาะการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี และยังเกิดข้อครหาความไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่จำเป็น ดังนั้นการจะลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ต้องยกเลิกมาตรา 272

‘โบว์ ณัฏฐา’ ชี้ แค่แก้กฎหมายเลือกตั้ง เปลี่ยนสูตรหารปาร์ตี้ลิสต์ยังไม่พอ หากอยากเห็นการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ต้องตัดอำนาจส.ว.โหวตนายก เพื่อเข้าสู่การบริหารที่ชอบธรรม

น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา Bow Nuttaa Mahattana) ระบุว่า

“ไม่ว่าจะ หาร 100 หรือ 500 ก็จะดีกว่าเดิม แต่ …”

เห็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับสูตรการเลือกตั้งมากมาย พร้อมเกมในสภาที่ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น ไม่ใช่ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล แต่กลับเป็นระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก นำมาสู่เหตุการณ์สภาล่ม และการตั้งคำถามของคนในสังคมว่า “ประชาชนได้อะไร?”

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ก็อยากขอร่วมตอบว่า อันที่จริงแล้ว ไม่ว่าที่สุดบทสรุปจะไปจบที่สูตรหาร 100 หรือ 500 ประชาชนก็จะได้กติกาการเลือกตั้งที่ “ดีกว่าเดิม” แน่นอน 

อย่าลืมว่า กติกาการเลือกตั้งเดิมจากรัฐธรรมนูญ 60 ที่ใช้กันมาในการเลือกตั้งปี 62 นั้น เป็นการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ประชาชนถูกมัดมือชกให้ต้องเลือกทั้งส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ในกากบาทเดียว พรรคไหนไม่มีกำลังจะส่งคนไปลงหลายๆเขต โอกาสจะได้เก็บคะแนนมารวมเพื่อคำนวณเป็นสัดส่วนส.ส.พึงมีก็น้อยลง เพราะในเขตที่ไม่มีการส่งผู้สมัคร ก็จะไม่มีช่องลงคะแนนของพรรคตนให้ประชาชนได้เลือกกากบาท จึงไม่ได้เป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเล็กทุนน้อยจริงๆดังที่อ้าง ทุกอย่างลักลั่นผิดฝาผิดตัวไปหมด ถึงเวลาคำนวณด้วยสูตรพิสดารออกมา ก็เกิดส.ส.ปัดเศษเต็มสภา นำสู่รัฐบาลผสมถึง 19 พรรค และพรรคการเมืองในสภารวมกว่า 25 พรรค ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่าประเทศประชาธิปไตยที่มั่นคงโดยปกติจะมีกัน นำสู่ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล กับสภาที่เต็มไปด้วยงูเห่ากับสวนกล้วยอย่างที่เห็น 

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงนำมาสู่บทเรียน และข้อสรุปของทุกพรรคการเมืองว่า “เราต้องแก้รัฐธรรมนูญ และปรับปรุงกติกาการเลือกตั้ง” จึงเป็นที่มาของทางเลือกสูตรหาร 100 หรือ 500 พร้อมบัตรเลือกตั้งสองใบอย่างที่เห็น

ดังนั้น ไม่ว่าจะอย่างไร ประชาชนน่าจะได้กติกาของการเข้าสู่อำนาจ หรือ “กฎหมายเลือกตั้ง” ที่ดีกว่าเดิมแน่นอน 

บัตรเลือกตั้งสองใบในทั้งสองสูตร จะให้พื้นที่กับพรรคเล็กพรรคน้อย ได้มีโอกาสเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แม้จะไม่มีกำลังส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต มากมาย ประชาชนมีทางเลือก กากบาท “คนที่ชอบ” และ “พรรคที่ใช่” แยกกันได้ตามต้องการ 

'สมชัย' เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง 'บิ๊กป้อม' ช่วยส่งสัญญาณให้รัฐสภาฯ รื้อทิ้งอำนาจส.ว.

เมื่อวันที่ 2 กันยายน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และเป็นอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะคณะผู้รณรงค์แก้ไข ม. 272 ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาราชการนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอเสียงสนับสนุนอย่างจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ ม. 272 โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

“วันที่ 6 และ 7 กันยายน พ.ศ.2565 นี้ ประธานรัฐสภาได้กำหนดให้เป็นวันประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยในเรื่องด่วน วาระที่ 6 เป็นข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของประชาชน 64,151 รายชื่อ เพื่อแก้ไขในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ประเด็นการตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรกของรัฐสภา

หลักการแก้ไขดังกล่าว เป็นการทำให้ประเทศคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากลและเคยเป็นหลักปฏิบัติในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทุกฉบับ ตลอดจนความจำเป็นที่ต้องมีรัฐบาลที่วุฒิสภาร่วมให้ความเห็นชอบเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศนั้นสิ้นสุดลงแล้ว โดยอิงจากรายงานผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ได้ระบุถึงความสำเร็จของการดำเนินงานในทุกเรื่อง และจะสิ้นสุดในปลายปี พ.ศ. 2565 นี้

'ดร.ปริญญา' โพสต์ขอคืนสิ่งที่คสช. ยึดไปในปี 2557 คืนอำนาจเลือกนายกฯ ผ่าน ส.ส. ให้ประชาชน

'ดร.ปริญญา' โวยคสช.ยึดอำนาจไปตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว รธน.ประกาศใช้ 5 ปีแล้ว ถึงเวลาคืนอำนาจเลือกนายกฯ ผ่าน ส.ส. ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ปลุกสว. 84 คน ถ้ายอมตัดอำนาจตนเองจะถูกบันทึกและจดจำยิ่งกว่าทุกครั้ง

7 ก.ย. 65 - ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

ขอแค่สิ่งที่ คสช.ยึดไปในปี 2557 #คืนให้ประชาชน
#คืนอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีผ่าน ส.ส.ให้ประชาชน
ตัดอำนาจ ส.ว.#เลือกนายกรัฐมนตรี

คณะรัฐประหารทุกคณะล้วนแต่อยากให้ ส.ว.ที่ตัวเองเลือก #มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งสิ้น เพื่อเป็นหลักประกันในการ #สืบทอดอำนาจต่อไปหลังเลือกตั้ง แต่ไม่เคยมีใครทำสำเร็จจนกระทั่ง คสช.ที่ยึดอำนาจไปตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว

ที่คราวนี้ทำสำเร็จก็เพราะฝีมือ #อาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ ที่สรุปบทเรียนจากร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ที่อาจารย์มีชัย ก็เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ในร่างแรกเลย ผลคือถูกนักศึกษาประชาชนประท้วงจนต้องยอมแก้ในวาระสองตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป

ในคราวนี้อาจารย์มีชัย จึงเอาอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีแยกออกมา แล้วเรียกว่าเป็น #คำถามเพิ่มเติม หรือคำถามพ่วง แล้วก็ไม่ยอมถามตรงๆ ว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่ ส.ว.ที่ คสช.เลือกจะมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ไปใช้ถ้อยคำว่า “ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” คนจำนวนมากอยากให้มีเลือกตั้งเสียที อ่านคำถามเพิ่มเติมแล้วนึกไม่มีอะไร เมื่อโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็โหวตรับคำถามพ่วงด้วย

อย่าลืมว่าตอนนั้นคนที่ค้านจะรณรงค์ค้าน หรือบอกประชาชนเรื่องนี้ก็ทำไม่ค่อยได้เพราะจะถูกจับ อีกทั้ง #พลเอกประยุทธ์ ก็แถลงสองวันก่อนถึงวันลงประชามติว่า #จะไม่สืบทอดอำนาจ แล้วผลประชามติในเรื่องนี้ ซึ่งทำกันแบบมัดมือชก ก็ไม่ได้ชนะขาดลอยแต่ประการใด เพราะมีคนเห็นชอบ 58% เท่านั้น

รัฐสภาโหวตคว่ำ 4 ร่างรัฐธรรมนูญรวด ล้มข้อเสนอตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ

วันที่ 7 ก.ย. 65 การประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จำนวน 4 ฉบับ คือ ของพรรคเพื่อไทย 3 ฉบับ และของประชาชน 64,151 รายชื่อ อีก 1 ฉบับ ปรากฏไม่มีร่างใดได้คะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 364 คน จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมด 727 คน

โดยร่างที่ 1 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 43 เกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะเป็นผู้เสนอ ผลโหวต เห็นชอบ ส.ส. 342 คะแนน ส.ว. 40 คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 99 คะแนน ส.ว. 153 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 2 คะแนน ส.ว. 26 คะแนน

ร่างที่ 2 ร่างแก้ไขมาตรา 25 มาตรา 29 มาตรา 34 เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพประชาชน ที่ นพ.ชลน่าน และคณะเป็นผู้เสนอ ผลโหวต เห็นชอบ ส.ส. 338 คะแนน ส.ว. 8 คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 103 คะแนน ส.ว. 196 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 2 คะแนน ส.ว. 15 คะแนน

ร่างที่ 3 ร่างแก้ไขมาตรา 159 และ 170 เกี่ยวกับคุณสมบัติและที่มาของนายกฯ ที่ นพ.ชลน่าน และคณะเป็นผู้เสนอ เห็นชอบ ส.ส. 337 คะแนน ส.ว. 9 คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 100 คะแนน ส.ว. 192 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 6 คะแนน ส.ว. 18 คะแนน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top