WHAT...IF อะไรจะเกิดขึ้น...ถ้าสัญญาปางหลวงสำเร็จ

วันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นวันที่รำลึกถึงเหตุการณ์ที่นายพล ออง ซาน และผู้นำในการเรียกร้องเอกราชคนอื่นๆ คือรัฐมนตรี 6 คน และเจ้าหน้าที่รัฐบาล 2 คน ถูกลอบสังหารระหว่างการประชุมสภาก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ 6 เดือน ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ก่อนวันที่นายพล เนวิน จะยึดอำนาจในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505 

วันนี้เอย่ามาลองคิดดูว่า หากวันนั้นไม่เกิดรัฐประหารของนายพลเนวิน และในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ไม่มีการสังหารหมู่และการเซ็นสัญญาปางหลวงหรือปางโหลงสำเร็จในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 และมีการดำเนินไปตามสนธิสัญญากำหนดไว้อะไรจะเกิดขึ้น

ก่อนอื่นเราควรจะมาทราบที่มาที่ไปของที่มาของสนธิสัญญาปางหลวงก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนจะมีวันนี้ ในเว็บไซต์ รักเมืองไตย ได้บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของสนธิสัญญาปางหลวงไว้ โดยเหตุการณ์ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 กษัตริย์ธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าถูกกองทัพอังกฤษบุกเข้าจับกุมตัวและในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2429 กองทัพอังกฤษจึงประกาศว่า ได้ทำการยึดดินแดนของแผ่นดินพม่าไว้หมดแล้ว 

ซึ่งในเวลานั้น รัฐฉานของชาวไทยใหญ่ยังไม่ได้ถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน จวบจนกระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ. 2430 อังกฤษจึงเดินทางมายึดรัฐฉาน และประกาศให้รัฐฉานเป็นส่วนหนึ่งในรัฐอารักขาของอังกฤษ ในช่วงที่รัฐฉานอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ได้มีการแบ่งแยกการปกครอง และงบประมาณของรัฐฉานกับพม่าออกจากกันอย่างชัดเจน 

โดยในสมัยนั้น พม่าจะเป็นฝ่ายที่คอยต่อต้านอังกฤษมาโดยตลอด ขณะที่เจ้าฟ้าและประชาชนไทยใหญ่ ได้ให้ ความร่วมมือกับอังกฤษ รวมทั้งให้การช่วยเหลืออังกฤษในการสู้รบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ  2 เป็นอย่างดี

หลังจากที่แผ่นดินพม่าและไทยใหญ่ ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ นานกว่าครึ่งศตวรรษ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2482 นายพลอองซานจึงจัดตั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ใต้ดินขึ้น เพื่อให้พม่าหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษโดยที่นายพลอองซาน ทำหน้าที่เลขาธิการของกลุ่ม นายพลอองซาน พยายามหาทางติดต่อกลุ่มกับคอมมิวนิสต์กลุ่มต่าง ๆ 

โดยหลังจากเดินทางกลับจากอินเดียมายังกรุงย่างกุ้ง เขาได้แอบเดินทางไปประเทศจีน แต่เนื่องจากลงเรือผิดลำจึงไปถึงเกาะ  อะมอย ( Amoy ) ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในการครอบครองของญี่ปุ่น ทางญี่ปุ่นจึงเรียกตัว นายพลอองซานไปยังเมืองโตเกียว หลังจากนายพลอองซานกลับจากญี่ปุ่น จึงได้รวบรวมสมัครพรรค พวกจำนวน 30 คนเดินทาง ไปฝึกการรบที่ญี่ปุ่น
ต่อมา วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2484 อองซานจึงจัดตั้งกองทัพอิสระภาพแห่งพม่า ( B.I.A : Burma Independence Army ) ขึ้นที่กรุงเทพฯ และในปี พ.ศ 2485 นายพลอองซานเริ่มนำกำลังเข้าร่วมกับทหารญี่ปุ่น โจมตีเหล่าประเทศอาณานิคมของอังกฤษ โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้เดินทางเข้ามาในแผ่นดินพม่าและรัฐฉาน และในเวลาเดียวกันนี้ ทางเจ้าฟ้ารัฐฉาน ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ข้าราชการของอังกฤษ ไปยังอินเดียและพม่า 
.
ต่อมา ญี่ปุ่นได้ทำการ ทารุณกรรมประชาชนในรัฐฉาน เช่นเดียวกับที่กระทำต่อประชาชนของประเทศต่างๆ ในเอเชีย จวบจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ญี่ปุ่นจึงถอยทัพกลับไป และในช่วงสงครามโลกครั้งที่  2  เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลอเมริกาและอังกฤษ ได้จัดทำหนังสือข้อตกลง ที่ชื่อว่า "เตหะราน" (Teheran-Agreement) ขึ้น โดยมีใจความระบุไว้ว่า "หากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จะคืนเอกราชให้แก่ดินแดนอาณานิคมของ ทั้ง 2 ประเทศทั้งหมด" เมื่อสงครามสิ้นสุดลงนายพลอองซานจึง พยายามติดต่อเข้าพบผู้นำรัฐบาลอังกฤษ ณ กรุงลอนดอน เพื่อเจรจาขอเอกราชคืน


 

ในช่วงเวลาที่อังกฤษปกครองพม่าและรัฐฉานอยู่นั้น ได้มีนักศึกษาในรัฐฉาน (ที่ไม่ใช่ชาวไทยใหญ่) เดินทางไปศึกษาที่กรุงย่างกุ้ง และซึมซับรับเอาแนวความคิดฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงเริ่มมีความเกลียดชังและต้องการล้มล้างระบอบเจ้าฟ้าในรัฐฉาน โดยนักศึกษากลุ่มนี้ ได้เข้าเป็นแนวร่วมกับกลุ่ม "ต่อต้านผู้ล่าอาณานิคมเพื่อเอกราช" ของนายพลอองซาน และตกลงรับเอาภาระหน้าที่บ่อนทำลายการปกครองระบอบเจ้าฟ้าของรัฐฉาน และหันมาเข้าร่วมกับพม่า ในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษให้แก่กลุ่มของนายพลอองซาน โดยอาศัยรัฐฉานเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ 

แต่เนื่องจากเจ้าฟ้ารัฐฉานเป็นมิตรกับอังกฤษมาโดยตลอด โดยในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อังกฤษได้ให้สัญญากับเจ้าฟ้าว่า "ขอให้รัฐฉาน อยู่ในอารักขาของอังกฤษต่อไปก่อนและอังกฤษจะทำการพัฒนาด้านการศึกษา, การเมือง, การปกครอง , การติดต่อต่างประเทศ - ในประเทศ, การเศรษฐกิจ และการคมนาคมในรัฐฉานให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วอังกฤษจะคืนเอกราชให้ภายหลัง"

สำหรับนายพลอองซานในช่วงแรก เป็นผู้มีบทบาทชักจูงทหารญี่ปุ่น ให้เข้ามาในพม่าและรัฐฉาน แต่ในตอนสุดท้าย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2488 กลับนำกำลังทหารเข้าสู้รบกับทหารญี่ปุ่น ทางพม่าจึงได้ถือเอาวันนี้ เป็นวันกองทัพของพม่าสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ทางด้านเจ้าฟ้าไทยใหญ่ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และในดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 สองเดือนถัดมา เจ้าหญิงเมืองป๋อน ได้ทรงสิ้นพระชนม์ บรรดาเจ้าฟ้าจากเมืองต่างๆ จึงเดินทางมาร่วมงานพระศพ ทำให้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกันว่า "น่าจะจัดให้มีการประชุมของเจ้าฟ้าทั้งหมด เพื่อปรึกษาหารือ เกี่ยวกับอนาคตของรัฐฉาน" และต่อมาวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2489 จึงได้มีการประชุมของเหล่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่ขึ้นที่ เมืองกึ๋ง 

โดยที่ประชุม มีมติจัดตั้ง "คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉาน" ขึ้น เพื่อให้มีสถาบันที่จะปกครองรัฐฉาน  ในแนวทางระบอบประชาธิปไตย และเพื่อทำให้รัฐฉาน ซึ่งมีดินแดนอยู่ระหว่างจีนแดงและพม่า สามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป 

นอกจากนี้ทางเจ้าฟ้าไทยใหญ่ยังมีแนวความคิดที่จะร่วมสร้างบ้านสร้างเมืองกับรัฐคะฉิ่นและรัฐชินซึ่งเป็นรัฐใกล้เคียง ดังนั้นจึงตกลงเห็นควรเชิญรัฐคะฉิ่นและรัฐชิน มาเข้าร่วมเป็นสหพันธรัฐ โดยในเวลาต่อมาเมื่อวันที่  20 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2489 ทางเจ้าฟ้าไทยใหญ่, รัฐคะฉิ่น และรัฐชิน ได้จัดประชุมร่วมกันขึ้นที่เมืองปางหลวง หรือ ปางโหลง โดยเห็นพ้องต้องกันที่จะทำการจัดตั้ง "สหพันธรัฐเทือกเขา และสภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา(Supreme Council of the United Hill People : S.C.O.U.H.)" ขึ้น และกำหนดให้ส่งตัวแทนเข้ามาเป็นสมาชิกสภา รัฐละ 6 คน รวม 18 คน โดยเริ่มจัดตั้งภายในปี พ.ศ. 2490 และให้มีการประชุมร่วมกันอีกครั้งที่เมืองปางหลวง การประชุมในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการอยู่ร่วมกัน แบบสหพันธรัฐในดินแดนแห่งนี้

แต่เนื่องจากนักศึกษาที่เป็นแนวร่วมของพม่า ได้ทำการแจ้งข่าวการประชุมร่วม 3 รัฐ ครั้งนี้ ให้ทางพม่าทราบ   ทางการพม่าซึ่งนำโดย นายอูนุและนายอูจ่อ จึงเดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วย แม้ว่าการประชุมครั้งนี้ตัวแทนจากพม่าจะเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ในที่ประชุม ก็ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ เนื่องจากเจ้าฟ้าไทยใหญ่ ได้พูดในที่ประชุมอย่างชัดเจนว่า  "ต้องการจัดตั้งสหพันธรัฐที่ไม่มีพม่ารวมอยู่ด้วย"  ดังนั้น ตัวแทนชาวพม่าที่เข้าร่วมประชุม จึงเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ ไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรือลงมติใดๆ ทั้งสิ้น

ต่อมา วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่ได้ร่วมกันจัดตั้ง  "คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉาน" (EX-ective Committee of the Council of Shan State Saophas) ขึ้น ตามมติที่ตกลงกันไว้ในการประชุมที่เมืองกึ๋ง ขณะที่ทางฝ่ายพม่า ต้องการให้ไทยใหญ่ร่วมเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ ไม่เห็นด้วย พม่าจึงทำการยุยงให้นักศึกษาในรัฐฉานบางกลุ่ม ซึ่งเป็นแนวร่วมของพวกเขา ทำการจัดตั้งกลุ่ม "เพื่อเอกราชแห่งรัฐฉาน" ขึ้นเมื่อวันที่  20 กันยายน พ.ศ. 2489 โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีแนวความคิดที่จะเรียกร้องเอกราชร่วมกับพม่า และล้มล้างการปกครองระบอบเจ้าฟ้าในรัฐฉาน "คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ" ได้พยายามเรียกร้องว่า "หากมีการให้เอกราชแก่รัฐฉาน ก็ไม่เห็นด้วยที่จะเข้าร่วมกับพม่า" โดยได้ทำหนังสือแสดงจุดยืนดังกล่าวต่อข้าหลวงอังกฤษมาโดยตลอด 

ซึ่งในขณะเดียวกันนายพลอองซานก็ได้เดินทางไปลอนดอน เพื่อเจรจาขอเอกราชคืนจากอังกฤษ และกลับมาชักชวนให้รัฐคะยาเข้าร่วมกับพม่าด้วย ในระหว่างการเดินทางไปรัฐคะยา นายพลอองซานได้แวะกล่าวปราศรัยต่อประชาชนชาวไทยใหญ่ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ในสนามฟุตบอลแห่งหนึ่ง ในเมืองตองจี ผู้ที่เข้าฟังการปราศรัย ส่วนใหญ่เป็นคนยากจนและคนหนุ่มสาว โดยนายพลอองซานพยายามเรียกร้องให้ชาวไทยใหญ่ให้ความร่วมมือกับชาวพม่า 

และในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2489 นายพลอองซานได้ติดต่อขอเข้าพบกลุ่มเจ้าฟ้า ที่ปกครองทางภาคใต้ของรัฐฉาน โดยพยายามพูดจาหว่านล้อมให้เจ้าฟ้าเหล่านั้น เห็นด้วยกับการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษร่วมกับพม่า แต่การเจรจาไม่เป็นผล วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2489 นายพลอองซานจึงเดินทางกลับไปยังกรุงย่างกุ้ง เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปพบปะพูดคุย กับนายแอตลี (Attlee) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษที่ลอนดอนเกี่ยวกับเรื่องเอกราชของพม่า   

ต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2489 คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ ได้จัดประชุมขึ้นที่แสนหวี และจัดส่งโทรเลขจากเมืองล่าเสี้ยวถึง นายแอตลี มีใจความว่า "นายพลอองซานไม่ใช่ตัวแทนของชาวไทยใหญ่ เรื่องของทางไทยใหญ่นั้น ทางคณะกรรมการเจ้าฟ้าฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจเอง" โดยนายแอตลี ได้รับโทรเลขฉบับดังกล่าวในวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2490 

จากนั้นในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2490 อองซานเดินทางถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้เข้าพบกับนายแอตลี ตั้งแต่วันที่ 16 - 26 มกราคม พ.ศ. 2490 เพื่อเจรจาให้อังกฤษมอบเอกราชคืนให้แก่พม่าและรัฐฉานร่วมกัน แต่นายแอตลีได้ตอบปฏิเสธ เนื่องจากได้รับโทรเลขแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทยใหญ่ จากคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับเอกราชร่วมกับพม่า

เมื่อนายอูนุทราบว่า ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ ได้ส่งโทรเลขถึงนายแอตลี มีใจความไม่เห็นด้วยกับพม่า ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2490 นายอูนุจึงสั่งให้คนของเขา ไปทำการยุยงให้นักศึกษากลุ่ม "เพื่อเอกราชแห่งรัฐฉาน" ส่งโทรเลขสนับสนุนให้อองซาน เป็นตัวแทนของชาวไทยใหญ่ถึงนายแอตลีบ้าง โดยนายแอตลีได้รับโทรเลขฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2490 ต่อมาในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2490 จึงได้มีการทำหนังสือข้อตกลง อองซาน-แอตลี (Aungsan Attlee Agreement) ขึ้น ซึ่งในหนังสือข้อตกลงฉบับนี้ ในวรรคที่ 8 ได้กล่าวเกี่ยวกับรัฐฉานไว้ว่า "ให้นายพลอองซานทำการเจรจากับผู้นำของชาวไทยใหญ่ ที่กำลังจะจัดประชุมกันขึ้นที่ปางหลวง ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้" และนายแอตลีได้ส่งโทรเลขถึงคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ, ตัวแทนรัฐคะฉิ่น, ตัวแทนรัฐชิน ให้ได้รับทราบ เพื่อที่จะได้คิดแนวทางที่จะพูดคุยกับนายพลอองซานในการประชุมสหพันธรัฐเทือกเขา ที่กำลังจะจัดขึ้นที่เมืองปางหลวง

การประชุมที่เมืองปางหลวง เป็นมติที่ตกลงจากการประชุมครั้งก่อน เมื่อปี 2489 โดยที่ประชุมได้ตกลงให้จัดการประชุมสหพันธรัฐเทือกเขาอีกครั้งในปีต่อมา คือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ จึงได้จัดประชุมสหพันธรัฐเทือกเขาขึ้นที่ เมืองปางหลวงอีกครั้งหนึ่ง โดยงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ เป็นผู้ออกเองทั้งหมด  

หลังการประชุมครั้งนี้ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 หรือสี่วันต่อมาทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ และประชาชนชาวไทยใหญ่ได้มีมติจัดตั้ง "สภาแห่งรัฐฉาน" (Shan State Council) ประกอบด้วยตัวแทนเจ้าฟ้า 7 คน และตัวแทนจากประชาชนจำนวน 7 คน และให้ "สภาแห่งรัฐฉาน" เป็นตัวแทนของประชาชนชาวไทยใหญ่ทั้งปวง พร้อมทั้งมีมติประกาศใช้ "ธง" ซึ่งประกอบด้วย สีเหลือง, เขียว, แดง และมีวงกลมสีขาวอยู่ตรงกลาง  เป็นธงชาติของรัฐฉานตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา 

ซึ่งสีเหลืองหมายถึงการเป็นชนชาติผิวเหลืองและพุทธศาสนา สีเขียวหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติซึ่งประเมินค่าไม่ได้ของแผ่นดินรัฐฉาน และยังหมายถึงความเป็นชนชาติที่รักความสงบร่มเย็นไม่รุกรานใคร สีแดงหมายถึงความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวของชนชาติรัฐฉาน และวงกลมสีขาว หมายถึงความมีสัจจะ ซื่อสัตย์ และมีจิตใจที่บริสุทธิ์ดั่งเช่นดวงพระจันทร์ของชนชาติรัฐฉาน 

และในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เวลา 18.00 น. นายพลอองซานได้เดินทางมาถึงเมืองปางหลวงโดยไม่มีการเตรียมตัวเพื่อที่จะมาเข้าร่วมประชุมเลย โดยนายพลอองซานมาในครั้งนี้ เหมือนเป็นการเสี่ยงดวงว่าทางไทยใหญ่จะให้ความร่วมมือในการเรียกร้องเอกราชหรือไม่เท่านั้น ดังนั้น ที่มีการพูดว่า “นายพลอองซานเป็นผู้จัดการประชุมสัญญาปางหลวงนั้น จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด 

ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เวลา 10.00 น. ตัวแทนไทยใหญ่, ชิน และคะฉิ่น ได้จัดตั้ง "สภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา" (S.C.O.U.H.P)  ขึ้นตามมติการประชุมร่วมกันเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2489 โดยมีสมาชิกสภาซึ่งเป็นตัวแทนที่มาจากรัฐฉาน (ไทยใหญ่), รัฐชิน และรัฐคะฉิ่น รัฐละ 6 คนรวมเป็น 18 คน และให้เป็นสภาปกครองสูงสุดของ สหพันธ์รัฐเทือกเขา ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เวลา 11.30 น. นายพลอองซาน ได้กล่าวในที่ประชุม เรียกร้องให้ไทยใหญ่ร่วมกับพม่า ในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่ตัวแทนของชาวไทยใหญ่ได้คัดค้านอย่างหนักแน่นเช่นเดิม และในขณะที่กำลังดำเนินการประชุมอยู่นั้น ได้เกิดการกระทบกระทั่งชกต่อยกันขึ้นระหว่างทหารชุดรักษาความปลอดภัยของนายพลอองซาน กับทหารชุดรักษาความปลอดภัยของเจ้าฟ้าส่วยแต๊ก แห่งเมืองหยองห้วย ซึ่งเป็นผู้นำของเหล่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่ทั้งหลาย ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่ ได้กล่าวในที่ประชุม ครั้งนี้ว่า "ถ้าไม่มีสิทธิแยกตัวเป็นอิสระ หลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก็จะไม่ร่วมมือกับพม่าอย่างเด็ดขาด" ส่วนตัวแทนของรัฐคะฉิ่น ก็ได้เรียกร้องให้มีการกำหนดดินแดนของรัฐคะฉิ่นให้ชัดเจน ซึ่งในอดีตดินแดนของรัฐคะฉิ่น เป็นดินแดนของรัฐฉาน  แต่ต่อมาอังกฤษได้แยกเมืองกอง, เมืองยาง ออกไปเป็นรัฐคะฉิ่น เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง เป็นการชั่วคราวเท่านั้น  ซึ่งทางนายพลอองซานได้แสดงอาการโกรธ และจะไม่อยู่ร่วมประชุมต่อ แต่ทางฝ่ายนักศึกษาของกลุ่ม “เพื่อเอกราชรัฐฉาน” ซึ่งเป็นแนวร่วมกับทางนายพลอองซานได้ขอร้องให้อยู่ร่วมประชุมต่อ 

ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ที่ประชุมได้มีมติตกลงที่จะร่วมกันเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่จะร่วมกันเพื่อเรียกร้องเอกราชเท่านั้น  หลังจากได้รับเอกราชแล้ว ทุกรัฐมีอิสระในการตัดสินใจทุกอย่าง ดังนั้นเป้าหมายที่ต้องร่วมกันครั้งนี้ จึงเพื่อให้เกิดพลังในการเจรจาต่อรองขอเอกราชจากอังกฤษเท่านั้น จากนั้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่ และตัวแทนจากรัฐต่างๆ จึงได้ร่วมลงนามในหนังสือสัญญาปางหลวง (Panglong Agreement) ซึ่งนายพลอองซานเป็นผู้ร่างขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 มีเนื้อหาสาระทั้งหมด 9 ข้อ แต่ไม่มีข้อใดที่ระบุถึงสิทธิในการแยกตัวเป็นอิสระ บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่จึงได้ท้วงถาม ซึ่งอองซานได้ตอบว่า "เรื่องสิทธิในการแยกตัวเป็นอิสระนั้น น่าจะนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของสหภาพจะมีผลดีมากกว่าเขียนไว้ในหนังสือสัญญาปางหลวง" ด้วย 

เหตุนี้สิทธิการแยกตัวของรัฐต่างๆ ที่ร่วมลงนามจึงไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญาปางโหลง แต่มีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศพม่า โดยสาระสำคัญของสนธิสัญญาปางหลวงในเว็บไซต์ รักเมืองไตย มีดังต่อไปนี้


1.) ให้ตัวแทนของสภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา (Supreme Council of the United Hill People) เข้าร่วมในคณะรัฐบาลจำนวน 1 คน โดยให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ปรึกษา
2.) รัฐมนตรีผู้นั้นจะไม่สังกัดกระทรวงใดสำหรับการทหารและการต่างประเทศของสหพันธรัฐ เทือกเขา (United  Hill People) จะต้องมีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนซึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล
3.) ตัวแทนของสหพันธรัฐเทือกเขา (United Hill People) สามารถเลือกรัฐมนตรีช่วยได้อีก 2 ตำแหน่งซึ่งในจำนวน 2 ตำแหน่งนี้ จะต้องมิใช่ชนชาติเดียวกันและต้องมิใช่ชนชาติเดียวกับกับรัฐมนตรีด้วย
4.) รัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 คนมีสิทธิเข้าร่วมการประชุมก็ต่อเมื่อมีการประชุมเกี่ยวกับสหพันธรัฐเทือกเขา (ไทยใหญ่, ชิน และคะฉิ่น) เท่านั้น นอกเหนือจากนี้รัฐมนตรีเท่านั้นที่จะมีสิทธิเข้าร่วมในการประชุมสภาฯ
5.) สหพันธรัฐเทือเขา (United Hill People) มีสิทธิปกครองตนเองโดยอิสระเหมือนดังเช่นที่เคยปฏิบัติ
6.) ในหลักการให้การรับรองว่าให้รัฐคะฉิ่นเป็นรัฐๆ หนึ่งแต่ในการณ์นี้จะต้องนำเข้าสู่วาระการประชุมร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง
7.) ตามหลักการระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดไว้สหพันธรัฐเทือกเขา (United Hill People) ต้องได้รับสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับพม่าทุกประการ
8.) รัฐฉานมีสิทธิในการใช้จ่ายเงินทองเหมือนเดิม (เหมือนสมัยอยู่ในอารักขาของอังกฤษ)
9.) ต้องนำเงินส่วนกลางจากทางรัฐบาลไปช่วยเหลือแก่รัฐชินและคะฉิ่นส่วนหนี้สิน ระหว่างพม่าและไทยใหญ่นั้นให้รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยของสหพันธรัฐเทือกเขา (United Hill People) ทำการตรวจสอบและเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

แต่ในบันทึกอื่นๆ มีระบุดังนี้
1.) ตัวแทนของชาวเขา จะได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาข้าหลวงเกี่ยวกับพื้นที่ของรัฐชายแดน
2.) สมาชิกสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขา ต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการบริหารเฉพาะด้าน ที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศและกิจการต่างประเทศ
3.) ที่ปรึกษาข้าหลวงและผู้ช่วยที่ปรึกษา มีหน้าที่รับผิดชอบดินแดนของตนเอง
4.) กำหนดรายละเอียดในการตั้งรัฐคะฉิ่น
5.) ประชากรในรัฐชายแดนมีสิทธิเท่ากับประชากรในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ
6.) การดำเนินงานตามสนธิสัญญาต้องไม่ละเมิดสิทธิทางการคลังของรัฐฉาน รัฐชิน และรัฐคะฉิ่น

หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาปางหลวง จึงมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น และสภาร่างรัฐธรรมนูญเริ่มประชุมที่ย่างกุ้งระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน - 24 กันยายน พ.ศ. 2490 ตัวแทนจากรัฐต่างๆ แสดงความต้องการให้จัดตั้งสหพันธรัฐอย่างแท้จริง แต่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีมือปืนบุกเข้ามายิงอองซานและที่ปรึกษาคนอื่นเสียชีวิต เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนทิศทางไป จากนั้นเมื่อนายพลอองซานเสียชีวิต อูนุขึ้นมาเป็นผู้นำแทน จึงมีการร่างสิทธิในการถอนตัวไว้ในรัฐธรรมนูญตามสนธิสัญญาเพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มรัฐชายแดน โดยระบุเงื่อนไขดังนี้

1.) ต้องผ่านไป 10 ปีจึงถอนตัวได้
2.) ต้องได้เสียง 2 ใน 3 ของสภาแห่งรัฐ
3.) ผู้นำของรัฐต้องแจ้งให้ผู้นำของสหภาพทราบเพื่อดำเนินการลงประชามติ

โดยในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญมีเพียงรัฐฉานกับรัฐกะยาเท่านั้นที่มีสิทธิถอนตัว รัฐคะฉิ่นกับรัฐกะเหรี่ยงปฏิเสธการเข้าร่วมแต่แรก ส่วนรัฐชินถูกกำหนดให้เป็นเขตปกครองพิเศษจึงไม่มีสถานะเป็นรัฐตามรัฐธรรมนูญนี้

คำถามคือหากบันทึกประวัติศาสตร์ข้างต้นเป็นความจริง  สิ่งใดอาจจะเกิดขึ้นได้บ้าง
1.) ระบอบเจ้าฟ้าก็จะถูกทำลายแต่หาได้เกิดจากน้ำมือของนายพลเนวิน แต่เป็นแผนการอันแยบยลของนายพลอองซานและอูนุ ที่ใช้คนไทใหญ่รุ่นใหม่มาทำลายระบอบเจ้าฟ้าแทน 
2.) หากนายพลอองซานไม่เสียชีวิตก็จะไม่มีการระบุการถอนตัวออกจากระบอบสาธารณรัฐได้ ดังนั้นทุกรัฐที่เซ็นต์สนธิสัญญาก็จะอยู่ใต้การปกครองของพม่าอยู่ดี
3.) หากเป็นไปตามสนธิสัญญาจะมีเพียงรับฉานและรัฐกะยาเท่านั้นที่มีสิทธิ์ถอนตัวปกครองตนเองได้ตีรัฐอื่นๆที่ฝันอยากได้ปกครองตนเองตามสนธิสัญญาปางหลวงตามที่ปัจจุบันที่ฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมาเอามาเป็นวลีปลุกใจนั้นคือคำโกหกกองโตนั่นเอง
4.) ต่อให้มีการกำหนดว่าใช้เวลา 10 ปีจึงถอนตัวได้แต่ต้องได้ 2 ใน 3 เสียงในสภาแห่งรัฐไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะต้องได้เสียงเกินครึ่งของสภาและเป็นไปไม่ได้แน่นอนที่พม่าจะยอมให้มีผู้แทนชาวพม่าน้อยกว่าตัวแทนของสภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา

สุดท้ายการที่เกิดสนธิสัญญาปางหลวงที่แท้จริงนั้นมีความเป็นไปได้ที่นายพลอองซานจะรวบรวมดินแดนต่างๆให้มาอยู่ในอาณัติพม่าเฉกเช่นเดียวกับประเทศของผู้ที่นายพลอองซานนำมาเป็นต้นแบบอย่างสตาลินที่ปกครองสหภาพโซเวียตนั่นเอง โดยนำเรื่องการขอคืนเอกราชจากอังกฤษที่เป็นสิ่งที่ผู้ที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมาเป็นเครื่องต่อรอง


ที่มา : AYA IRRAWADEE