NASA และ Roscosmos องค์กรสำรวจอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย บรรลุข้อตกลงระยะยาวฉบับใหม่ ที่จะยังคงใช้สถานีอวกาศนานาชาติร่วมกัน แถมกำลังจะมีโครงการแลกเปลี่ยนนักบิน และแชร์ไฟลต์สู่อวกาศร่วมกันในเดือนก.ย. นี้

เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 65 ที่ผ่านมา NASA และ Roscosmos องค์กรสำรวจอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย เพิ่งบรรลุข้อตกลงระยะยาวฉบับใหม่ ที่จะยังคงใช้สถานีอวกาศนานาชาติร่วมกัน แถมกำลังจะมีโครงการแลกเปลี่ยนนักบิน และแชร์ไฟลต์สู่อวกาศร่วมกันในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

Roscosmos หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านโครงการอวกาศของรัสเซียกล่าวว่า ข้อตกลงนี้ เป็นการเห็นชอบร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อพัฒนากรอบความร่วมมือของโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสำรวจอวกาศเพื่อสันติ 

จากข้อตกลงนี้ จะทำให้ทั้งสหรัฐฯ และ รัสเซีย ยังคงใช้สถานีอวกาศนานาชาติร่วมกันได้ และนักบินอวกาศสหรัฐฯ ยังสามารถเข้าถึงยานแคปซูล Suyuz ของรัสเซียได้ด้วย 

ส่วนโครงการแลกเปลี่ยนนักบินอวกาศจะเริ่มต้นในเดือนกันยายน โดยเที่ยวบินแรก สหรัฐอเมริกาจะส่ง แฟรงค์ รูบิโอ นักบินอวกาศจาก NASA ไปกับยานอวกาศของมอสโคว์ ที่ส่งจากฐานปล่อยยาน ไบโคนูร์คอสโมโดรม ในประเทศคาซัคสถาน ร่วมกับนักบินอวกาศของรัสเซียอีก 2 คน 

ในทางกลับกัน รัสเซียก็จะส่ง แอนนา คิคินา นักบินอวกาศหญิงของรัสเซีย ไปกับยาน Space X Dragon พร้อมลูกเรือชาวอเมริกัน 2 คน และจากญี่ปุ่นอีก 1 คน โดยปล่อยยานจากศูนย์อวกาศเคเนดี ในรัฐฟลอริด้า และนี่จะเป็นครั้งแรกที่นักบินอวกาศรัสเซียจะได้เดินทางสู่อวกาศไปกับยานของ Space X อีกด้วย

ในขณะที่สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ตัดขาดความสัมพันธ์แทบทุกอย่างบนโลก เนื่องจากความขัดแย้งในกรณีข้อพิพาทรัสเซีย-ยูเครน แต่ความร่วมมือกันในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ อาจกลายเป็นโปรเจกต์เดียวที่ยังเหลืออยู่ 

โดยโครงการสถานีอวกาศนานาชาตินี้ เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานสำรวจอวกาศระดับแถวหน้าถึง 5 ชาติ ได้แก่ NASA ของสหรัฐฯ Roscosmos (รัสเซีย) JAXA (ญี่ปุ่น) CSA (แคนาดา) และ ESA (สหภาพยุโรป) ซึ่งสถานีอวกาศแห่งนี้ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนวงโคจรของรัสเซีย และ ส่วนวงโคจรของสหรัฐฯ ที่ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด 

ดังนั้นการตัดรัสเซียออกจากโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ ทำได้ยาก แม้บนโลกจะมีความขัดแย้งกัน แต่สำหรับนอกโลกแล้ว ความร่วมมือในการมุ่งสู่อวกาศยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากจะลดค่าใช้จ่าย ที่จะต้องแยกกันไปพัฒนาสถานีอวกาศใหม่ของตัวเองแล้ว ยังสนับสนุนความฝันของมนุษยชาติในการสำรวจจักรวาลอันไกลโพ้น 

แม้การแยกกันเดินทางจะไม่ใช่เรื่องลำบาก แต่หากร่วมมือกันแล้วก้าวไปได้ไกลกว่า ก็ควรทำน่ะนะ!!

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Al jazeera / Wikipedia