NATO เตรียมสยายปีก รุกคืบ 'เอเชีย-แปซิฟิก' ดึง 4 ชาติเอเชีย ร่วมเกมกดดันอิทธิพลจีน

ถัดจากการงานประชุมสุดยอดผู้นำ G-7 ที่เยอรมัน ก็จะถึงคราวงานประชุมประจำปีของเหล่าสมาชิก NATO ต่อในทันที ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในวันที่ (29-30 มิถุนายน 2022) ที่กรุงแมดริด ประเทศสเปน

ประเด็นที่สำคัญในปีนี้ หนีไม่พ้นปัญหาการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ที่ผู้นำกลุ่มอย่างสหรัฐอเมริกา ต้องการเห็นการแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบรรดาชาติสมาชิก NATO ที่จะสนับสนุนฝ่ายยูเครนอย่างเต็มกำลังที่จะต่อสู้กับรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกประเด็นที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ 'ภัยคุกคามจากการขยายอิทธิพลของจีนทางด้านฝั่งเอเชีย-แปซิฟิก' ที่กลุ่ม NATO แม้จะได้ชื่อว่าเป็นองค์การของฝั่งแอตแลนติกเหนือ ก็ไม่สามารถปล่อยไว้ได้

นั่นจึงทำให้ปีนี้ มีการเชิญชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ทางฝั่งแปซิฟิก ทั้ง ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ มาเข้าการประชุม NATO ด้วยเป็นครั้งแรก ซึ่งคาดเดาว่าจะมีหัวข้อการผลักดันให้เกิดเป็นพันธมิตรด้านการทหารร่วมกันทางฝั่งเอเชีย-แปซิฟิกเติมเข้ามา

เพราะเชื่อว่าได้ว่านาทีนี้ สหรัฐอเมริกา คงต้องการขยายฐานกองกำลัง NATO ลงมาทางย่านเอเชีย-แปซิฟิกมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบัน NATO จะได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มพันธมิตรด้านการทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีชาติสมาชิกถึง 30 ชาติ แต่เมื่อภูมิภาคด้านฝั่งเอเชีย-แปซิฟิก นั้น อยู่เกินอำนาจขอบเขตการดูแลของกองกำลัง NATO และกำลังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจีน นี่จึงเป็นเรื่องที่ปล่อยเฉยได้ยาก

ดังนั้นการขยายขอบเขต NATO ด้วยการดึงพันธมิตรของสหรัฐฯ ทางฝั่งเอเชีย-แปซิฟิก เข้ามาร่วมวงด้วย จึงเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษในการประชุมประจำปีครั้งนี้แน่นอน

ฟากรัฐบาลจีน ก็ไม่อาจอยู่เฉย และออกมาคัดค้านการร่วมวงประชุม NATO ของ 4 ชาติในเขตเอเชีย-แปซิฟิกครั้งนี้ พร้อมทั้งตอบโต้ให้ NATO หยุดสร้างมโมคติเกี่ยวกับประเทศจีนที่ผิดๆ เพื่อยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้า และสงครามเย็นในภูมิภาคนี้เสียที และอย่ากระหายสงครามจนล้ำเส้นอธิปไตยของชาติอื่น เพราะเมื่อเกิดสงครามจริงๆ คนที่เดือดร้อนคือประชาชนนับล้าน อย่างที่เห็นตัวอย่างมาแล้วมากมาย

ทั้งนี้หากลองมองย้อนแผนการขยายอำนาจของฟากตะวันตก โดยมีสหรัฐฯ เป็นลูกพี่ใหญ่แล้ว จะพบว่าก่อนหน้าที่สหรัฐฯ จะหันมายกระดับการขยายฐาน NATO สู่เอเชีย-แปซิฟิก ก็ได้ผลักดันให้มีการรวมกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงของภูมิภาคแถบนี้มาก่อนแล้ว อาทิ การตั้งกลุ่มพันธมิตร QUAD - สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, อินเดีย, ออสเตรเลีย หรือล่าสุด พันธมิตร AUKUS - สหรัฐฯ, อังกฤษ และออสเตรเลีย 

ส่วน 4 ชาติพันธมิตร ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ แม้ไม่มีการจัดตั้งองค์กรร่วมกันอย่างเป็นทางการ แต่ก็ถือเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และได้รับการขนานนามว่ากลุ่ม Asia-Pacific Four (AP4) 

ดังนั้นการขยายขอบเขตของ NATO สู่เอเชีย-แปซิฟิก คงไม่ต้องมีเรื่องสงครามมาเอี่ยว ก็คงอยู่ในแผนของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ตามยุทธศาสตร์การจัดระเบียบโลก และการสกัดภัยคุกคามของจีน

นั่นเพราะยังความสำคัญของภูมิภาคเอเชีย ที่มีต่อสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตก ล้นไปด้วยศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจแห่งยุคใหม่ ที่ไม่อาจให้ตกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนได้ง่ายๆ

เพียงแต่ใต้บทบาทอันธพาลโลกที่เด่นชัดของสหรัฐฯ ในวันนี้ จะยังสามารถสยายปีก แผ่อิทธิพลของตนผ่านองค์กรอย่าง NATO ด้วยการยกระดับให้กลายเป็น Asian-NATO ที่มีกองกำลังทหารครอบคลุม 2 ฟากมหาสมุทรได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป 

เพราะหากผลประโยชน์ครั้งนี้ยิ่งใหญ่พอ โอกาสก่อชนวนเหตุที่นำไปสู่สงครามใหญ่อีกครั้ง ก็เป็นไปได้ทั้งหมด...


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Global Times / United States Institute of Peace / Anadolu Agency