รู้เท่าทัน ‘คุณและโทษ’ หลังปลดล็อกกัญชา ความท้าทายใหม่ของสังคมไทย

หลังจากที่เป็นมหากาพย์มาค่อนข้างจะยาวนาน จากนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง สู่การนำมาใช้ปฏิบัติจริง จนกระทั่งกลายเป็นความขัดแย้งของหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย 

สุดท้ายแล้ว เมื่อวันที่ (9 มิถุนายน 2565) ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่ต้องมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุยาเสพติดประเภทที่ 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ส่วนประกอบของกัญชาทุกอย่าง ยกเว้นสารสกัดจากกัญชาที่มีค่า THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์เกิน 0.2 % มีสถานภาพที่ไม่ใช่สารเสพติดต่อไปอีกแล้ว



สำหรับกัญชานั้นเป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้าชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. เป็น mono specific มีชื่อสามัญหลากหลาย เช่น hemp, marijuana, pot, gandia เป็นต้น กัญชามักจะเป็นที่นิยมเรียกกันในกลุ่มผู้เสพว่าเนื้อ 

ก่อนที่จะถูกปลดล็อก กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ลักษณะใบกัญชา จะเรียวยาวแตกเป็นแฉกคล้ายใบละหุ่งหรือมันสำปะหลัง ส่วนที่นำมาใช้เสพก็คือ ใบและยอดช่อดอกตัวเมีย โดยการนำมาตากหรืออบแห้งแล้วบดหรือหั่นเป็นผงหยาบๆ นำมามวนบุหรี่สูบ หรืออาจสูบด้วยกล้อง หรือมีวัสดุสำหรับสูบ ทำจากไม้ไผ่เรียกว่าบ้องกัญชา บางครั้งอาจใช้วิธีเคี้ยวทาน หรือใช้เป็นส่วนประกอบกับอาหารรับประทานก็ได้ 

เมื่อเสพกัญชาเข้าไปในระยะแรกของการเสพ สาร THC ที่เป็นสารออกฤทธิ์ของกัญชาจะกระตุ้นประสาททำให้ผู้เสพมีอาการร่างเริง ช่างพูด หัวเราะง่าย หัวใจเต้นเร็ว ตื่นเต้นง่าย ต่อมาจะมีอาการคล้ายคนเมาเหล้าอย่างอ่อน เนื่องจากกัญชาออกฤทธิ์กดประสาท ผู้เสพจะมีอาการง่วงนอน ซึม หายใจถี่ เห็นภาพลวงตา ภาพหลอนต่าง ๆ เกิดอาการหู่แว่ว ตกใจง่าย วิตกกังวล หวาดระแวง บางรายคลื่นไส้อาเจียน ความจำเสื่อม ความคิดสับสน เพ้อคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มีอาการทางจิต 

การปลดล็อกกัญชาให้ออกจากการเป็นสารเสพติด โดยใช้เหตุผลหลักเพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของการเป็นยารักษาโรค และใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งจะส่งผลให้กัญชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกได้ 
 


แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการปลดล็อกกัญชาให้พ้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แล้วนั้น มีประเด็นที่ท้าทายสังคมไทยมากที่สุด คือการสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างประโยชน์และโทษของกัญชา 

ทั้งนี้การปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดนั้น จะต้องมีกระบวนการหรือมาตรการให้เกิดการนำเฉพาะส่วนที่เป็นข้อดีของกัญชาออกมาใช้ เพราะถึงแม้กัญชาจะมีประโยชน์มากมาย แต่ถ้าใช้ไม่ถูกวิธี หรือใช้เกินขนาดก็จะส่งผลให้เกิดโทษตามมาเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของสารออกฤทธิ์ THC ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าการใช้กัญชานั้นจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ  

โดยลักษณะการออกฤทธิ์ของสาร THC จะมีลักษณะเด่น ๆ คือ ถ้าได้รับในปริมาณที่เหมาะสม คือไม่สูงจนเกินไปจะมีผลในการลดอาการปวด ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการคลื่นไส้ ทำให้เกิดการผ่อนคลาย ช่วยให้นอนหลับได้ดี 

ทั้งนี้ทางการแพทย์ได้มีการนำมาใช้เป็นยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น บรรเทาอาการข้างเคียงของการได้รับเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง บรรเทาอาการภูมิแพ้ บรรเทาอาการที่เกิดจากเชื้อเอชไอวี บรรเทาอาการที่ทำให้เจ็บปวดเรื้อรัง บรรเทาอาการการติดเชื้อ หรืออักเสบของอวัยวะต่างในร่างกาย เป็นต้น 

แต่อย่างไรก็ตามถ้ามีการใช้สาร THC เกินปริมาณที่เหมาะสมก็จะมีโทษตามมา ได้แก่ ส่งผลให้เกิดการรับรู้ที่ผิดเพี้ยน เช่น การมองเห็น การได้ยิน หรือการสัมผัส ส่งผลต่อปัญหาเกี่ยวกับความจำ และการเรียนรู้ การสูญเสียทำงานร่วมกันของร่างกาย ปัญหาเกี่ยวกับการคิด และการแก้ปัญหา อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น เป็นต้น

 ซึ่งในขณะนี้ก็มีหน่วยงานหลาย ๆ แห่ง เช่นสถานศึกษาบางแห่ง ก็ออกมาประกาศว่าเป็นเขตที่ห้ามให้มีการใช้กัญชาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเป็นส่วนผสมอาหาร หรือรูปแบบอื่น ๆ ก็ตาม 

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีแค่เส้นบาง ๆ ที่กั้นอยู่ระหว่างความเป็นยาที่ให้ประโยชน์ กับความเป็นสารเสพติดที่ให้โทษของกัญชา ที่สังคมไทยจะต้องมีการวางแผนรับมือให้ดีเมื่อมีการปลดล็อกกัญชา โดยเฉพาะการใช้เพื่อสันทนาการ ซึ่งในอดีตการใช้ต้องมีการหลบซ่อน เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ปัจจุบันไม่ต้องมีการหลบซ่อนแล้ว ถึงแม้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการสร้างความรำคาญที่สามารถนำมาบังคับใช้ก็ตาม ซึ่งต่อไปในอนาคตเราอาจจะเห็นป้ายห้ามเพิ่มขึ้นมาตามสถานที่ต่าง ๆ ก็ได้ ที่นอกจากคำว่าห้ามสูบบุหรี่ อาจจะมีเพิ่มขึ้นมาคือห้ามสูบกัญชา หรืออาจจะมีคำว่าสถานที่สำหรับสูบกัญชา เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย ก็เป็นไปได้ครับ

 


👍 ติดตามผลงาน ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ผศ.ดร.สุทัศน์%20จันบัวลา