สหประชาชาติเห็นชอบ เปลี่ยนชื่อ 'ตุรกี' เป็น 'ตุรเคีย' หวังเพิ่มเกียรติภูมิในเวทีโลก มีผลบังคับใช้ทันที

'ตุรกี' เปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ เป็น 'ตุรเคีย' โดยผ่านความเห็นชอบจากสหประชาชาติแล้ว และมีผลในทันที หลังจากที่รณรงค์เปลี่ยนชื่อประเทศมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2021) ภายใต้การนำของ 'เรเซป ทายยิป เออร์โดกัน' (Recep Tayyip Erdogan) ประธานาธิบดีแห่งตุรกี

สเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกประจำตัวของ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) แถลงข่าวว่า สหประชาชาติอนุมัติการยื่นขอเปลี่ยนชื่อประเทศของตุรกี เป็น 'ตุรเคีย' (Türkiye) แล้ว หลังตุรกีรณรงค์เปลี่ยนชื่อประเทศมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปีที่แล้ว

โดย ดูจาร์ริก ระบุว่า การปรับเปลี่ยนชื่อประเทศครั้งนี้ มีผลบังคับใช้ทันทีที่สหประชาชาติได้รับจดหมายจากเมฟลุต คาวูโซลู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี ซึ่งส่งถึง กูแตร์เรส พร้อมคำร้องขอเปลี่ยนชื่อประเทศ

ด้านคาวูโซลูเผยว่า การเปลี่ยนตัวสะกดชื่อประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานที่มีจุดประสงค์เพิ่มเกียรติภูมิของตุรกีในเวทีโลก กระบวนการดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นภายใต้ความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดวาน

จดหมายของคาวูโซกลู ที่ส่งถึง กูแตร์เรส ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2021 เพื่อขอใช้ชื่อประเทศในภาษาต่างประเทศ คือ ตุรเคีย (Turkiye) แทนตุรกี (Turkey)

สำหรับการเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อต่างประเทศและประชาชนทั่วไปในประเทศ รวมถึงการค้าขายระหว่างประเทศด้วย อาทิ การติดฉลากบนสินค้า จากเดิม “Made in Tukey” กลายเป็น “Made in Türkiye” และ กิจกรรมและการสื่อสารที่เป็นทางการในระดับนานาชาติ จะเปลี่ยนมาใช้ “Türkiye” ทั้งหมด

ส่วนเหตุผลเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศนั้น อาจมาจากคำว่า Turkey แบบเดิม มีคำพ้องเสียงภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า 'ไก่งวง' ซึ่งเป็นนกที่บินไม่ได้จำพวกหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าเป็นเมนูอาหารในวันคริสต์มาสหรืออาหารมื้อค่ำในวันขอบคุณพระเจ้า และยังมีคำจำกัดความในพจนานุกรมบางแห่งด้วยว่า Turkey มีความหมายว่า 'บางสิ่งที่เลวร้าย'

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ยังมองว่า รัฐบาลตุรกีคำนึงถึงเรื่องภาพลักษณ์จากภายนอกที่มีต่อประเทศด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลตุรกีพยายามขยายขอบเขตภาพจำเกี่ยวกับประเทศ จากที่เดิมทีแล้ว บางครั้งผู้คนก็ผูกโยงกับภาพลักษณ์ทางการทหาร ให้เพิ่มไปสู่เรื่องความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างเช่น ซีรีส์ที่ฉายทางช่องทางต่างๆ

เมื่อช่วงหลังรัฐบาลตุรกีค่อนข้างให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเอง นักวิเคราะห์มองว่า ความเคลื่อนไหวเรื่องปรับชื่อประเทศนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันภาพลักษณ์ความเป็นตุรกีในแบบใหม่ไปสู่สายตานานาชาติ

อีกมุมมองหนึ่งของสื่อต่างประเทศบางแห่งก็วิจารณ์ความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนชื่อคำภาษาอังกฤษของประเทศว่า เป็นสิ่งที่เบนความสนใจของประชาชนจากประเด็นเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

ที่มา: https://www.facebook.com/351495409269379/posts/pfbid02nxZCKuJShpj5KhyVRyGQTPMZNJFerCDQtudM8QTA2c33dqCemYeCV1RCu6XEHgQJl/
https://www.silpa-mag.com/history/article_83228