‘ปิยบุตร’ โหนแนวคิด ‘อานันท์’ ชี้ คดีม.112 มีเยอะ ต้องแก้ด้วยการนิรโทษกรรม

นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่า ...

ถึงเวลาหรือยัง "เจตจำนงการเมือง" นิรโทษคดี ม.112? - หวังฝ่าย "รอยัลลิสต์" ออกมาเตือนสติสังคมก่อนจะสาย!

ในรายการ "เอาปากกามาวง" ตอนล่าสุด ได้พูดถึงเรื่องสำคัญหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ "ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112" หรือ "ป.อาญา ม.112" หรือที่วันนี้เรามักจะเรียกกันสั้นๆ แต่เข้าใจตรงกันว่า "ม.112"

มี 3 กรณีของบุคคลที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหา และ 1 กรณีของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ที่ชัดเจนว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งได้ออกมาเตือนสติสังคมเรื่องการใช้กฎหมายมาตรานี้

แม้จะพูดไปในรายการแล้ว แต่เห็นว่ามีบางช่วงบางตอนซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่อยากจะชี้ให้เห็น จึงขอนำมาบอกกล่าวเป็นข้อเขียนตรงนี้อีกครั้งแบบสรุปรวบยอด ดังนี้

เริ่มที่ 3 กรณี ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112

***กรณีแอดมินเพจ 'กูKult' ต้องไม่ตีความรวม "วัตถุสิ่งของ"***

กรณีแรก คือกรณีของ นรินทร์ กุลพงศธร แอดมินเพจ 'กูKult' ซึ่งไปติดสติกเกอร์บนพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563

มีเรื่องที่อยากชวนคิดหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการพิจารณาในศาล ที่จากรายงานของไอลอร์พบว่า ในการสืบพยานมีการแนะนำ แนะแนวเรื่องของการยอมรับผิด ลดโทษต่างๆ กับทางผู้ต้องหา, เรื่องการไม่บันทึกการถามค้านของพยานถึง 5 ประเด็น โดยหนึ่งในนั้นก็คือคำถามเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการทำลายพระบรมสาทิสลักษณ์ว่าเป็นความผิดทางไหน ทำลายทรัพย์สินราชการ หรือเข้าข่ายผิด ป.อาญา ม.112

รวมถึงการตัดพยานผู้เชี่ยวชาญของจำเลยออก โดยศาลให้เหตุผลว่าสามารถพิจารณาได้เอง จนทำให้ในที่สุด คดีนี้ก็มีคำพิพากษาออกมาอย่างรวดเร็วมาก และน่าจะเป็นคดี ม.112 คดีแรกที่เกิดจากการชุมนุม ในช่วงปี 2563-2564 ที่ศาลพิพากษาแล้วว่ามีความผิด ซึ่งจำเลยเตรียมที่จะอุทธรณ์ต่อไป

สิ่งที่อยากชวนพิจารณาคือว่า ในคำอธิบายกฎหมายอาญา ของปรมาจารย์ของผู้พิพากษาทั้งหลายอย่าง ศ.หยุด แสงอุทัย และ ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ เขียนตำราระบุคำอธิบายในรายมาตรา 112 โดยอธิบายความหมายของคำว่าหมิ่นประมาทและดูหมิ่น โดยที่คำว่า "หมิ่นประมาท" ก็ให้ไปดูแบบ ม.326 คือให้เป็นแบบหมิ่นประมาทคนธรรมดา, หรือคำว่า "ดูหมิ่น" ก็ให้ตีความคำว่าดูหมิ่น เหมือน ม.134, ม.136, ม.393 เรื่องดูหมิ่นคนธรรมดา เช่นกัน

ตำรากฎหมายของปรมาจารย์ทั้งสองท่านระบุชัดว่า คำว่า "หมิ่นประมาท" กับ "ดูหมิ่น" ที่ปรากฏอยู่ใน ป.อาญา ม.112 ใช้นิยามเดียวกับคนธรรมดา คือต้องกระทำต่อตัวบุคคล จะขยายความกว่านี้ไม่ได้ ยิ่งกฎหมายอาญานั้น การตีความต้องเคร่งครัด

แต่จากกรณีของคุณนรินทร์ เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า "หมิ่นประมาท" กับ "ดูหมิ่น" นั้น มีแนวโน้มของศาลที่จะขยับไปถึงเรื่องวัตถุสิ่งของด้วย

***วอนศาลพิจารณาอนุญาต ให้ "รวิสรา" ได้ไปเรียนต่อ***

ต่อมา คือกรณีของรวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในจำเลยของคดี ม.112 จากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 ซึ่งเธอเป็นคนอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมัน โดยต่อมาเธอสอบได้ทุนจาก ศูนย์บริการการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) ของรัฐบาลเยอรมัน แต่ติดปัญหาคือ ติดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

แม้เคยมีคำร้องขออนุญาตศาลมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ศาลไม่อนุญาต และล่าสุด ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ยกคำร้องอีกเช่นเคย โดยอธิบายว่า ศาลเห็นว่าจำเลยยังไม่ผ่านการคัดเลือกว่าจะได้รับทุนหรือไม่ ทั้งเงื่อนไขที่จำเลยเสนอมาว่าหากได้รับอนุญาต จำเลยยินดีจะไปรายงานตัวและแสดงที่อยู่ต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในประเทศเยอรมัน ทุกๆ 30 วัน โดยขอให้อาจารย์ที่ปรึกษาและบิดาเป็นผู้กำกับให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข แต่บุคคลทั้ง 2 อยู่ในประเทศไทย แต่จำเลยอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการยากที่จะกำกับให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จึงไม่เป็นการหนักแน่นเพียงพอ ที่จะแสดงให้เห็นว่า จำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยเคร่งครัด

ทั้งที่ เอกสาร หลักฐานที่ใช้ยื่นคำร้องต่อศาลชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นจดหมายเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เอกสารรับทุน DAAD แต่ก็ถูกพิจารณาด้วยว่า เพราะว่าการไปอยู่ต่างประเทศดูแลได้ยากที่จะกำกับให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกันตัว

นี่คืออนาคตของเยาวชนคนหนึ่ง อนาคตของคนที่จะได้ไปศึกษาหาความรู้ นำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์กลับมาพัฒนาประเทศไทย

อยากให้ศาลพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพราะจากประสบการณ์ คนที่ไปเรียนต่างประเทศ ส่วนใหญ่แล้วเวลาปิดภาคการศึกษาก็อยากกลับมาเยี่ยมครอบครัว มาเยี่ยมบ้าน คงไม่มีใครอยู่ดีๆ แล้วอยากหนีคดี

***ใช้ ม.112 เพื่อหยุด ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ไปไกล***

อีกกรณีของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่โดน ม.112 คือ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” นักกิจกรรมที่พยายามเข้าใกล้ขบวนเสร็จเมื่อ 6 มีนาคม แต่ปรากฏว่าถูกตำรวจอุ้มออกไป และต่อมามีการไลฟ์สด พูดบรรยายอะไรต่างๆ จนสุดท้ายโดนเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหา ความผิด ม.112

เรื่องนี้มีปัญหาในการคิดและการตีความของเจ้าหน้าที่อย่างมาก เพราะเวลาเราบอกว่าใครพูดอะไรหมิ่น ดูหมิ่นใครนั้น ต้องดูเจตนาของคนพูด แต่ตอนนี้ปรากฏว่าเราไปดูเจตนาเจ้าหน้าที่เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือศาล โดยคนที่พูดคุณอาจรู้สึกว่าพูดแบบนี้ไม่ได้หมิ่น หรือแม้แต่บางครั้ง ผู้ที่ถูกเอ่ยถึง อาจไม่ได้รู้สึกว่าถูกดูหมิ่นด้วยซ้ำ แต่เจ้าหน้าที่กลับคิดเอาเอง อธิบายความเอาเอง จินตนาการเอาเองว่าเป็นดูหมิ่น หมิ่นประมาทไปเสียหมด

และนี่เป็นปัญหาในภาพใหญ่ของการใช้บังคับใช้ ม.112 ในรอบปี 2563 - 2565 กับเยาวชนคนหนุ่มสาว กว่า 100 คดี!

เพราะความเห็นเยาวชนคนหนุ่มสาวเห็นเป็นแบบหนึ่ง ขณะที่คนที่มีทัศนคติแบบอนุรักษ์นิยม บรรดาเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจรัฐในกระบวนการยุติธรรมก็มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งคนพวกหลังที่เป็นผู้ใหญ่และอาวุโสกว่า เมื่อทนไม่ไหวต่อการกระทำของเยาวชนคนหนุ่มสาว ก็เลือกที่จะใช้ ม.112 จัดการให้หยุด

ปัญหาคือ วิธีคิดเยาวชนคนหนุ่มสาวเขาคิดแบบนี้ไปแล้ว ถ้าอยากให้เข้าใจ อยากให้คิดแบบที่ผู้ใหญ่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมคิด เชื่ออย่างที่ผู้ใหญ่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเชื่อ การใช้กฎหมายแบบนี้เรื่อยๆ ไม่เป็นประโยชน์แน่ๆ หรือฝ่ายผู้มีอำนาจมองว่าต้องวัดกำลังกัน เพราะอย่างไรเยาวชนคนหนุ่มสาวก็สู้ไม่ได้หรอกเพราะไม่มีอำนาจ ไม่มีเครื่องมือรัฐ อย่างนั้นเหรอ? ทำไมไม่หาวิธีการพูดจากัน ซึ่งการพูดจากกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องหยุดใช้ ม.112 เสียก่อนด้วย

คดีเกี่ยวกับ ม.112 เยอะขนาดนี้ ในท้ายที่สุดแล้วเราอาจต้องแก้ปัญหากันด้วย "เจตจำนงในทางการเมือง" ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะคุยกันเรื่อง การออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีเหล่านี้ให้กับเยาวชนคนหนุ่มสาว

ไม่มีประโยชน์ที่จะดำเนินคดีแบบนี้ต่อไป เพราะมีแต่จะสร้างความแตกแยก ร้าวฉาน สร้างความไม่เข้าอกเข้าใจกันระหว่างรุ่นต่อไปเรื่อยๆ ไม่เป็นผลดีต่อใคร รวมถึงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

*** "อานันท์" กับ ม.112 ถึงเวลาฝ่ายอนุรักษ์นิยมออกมาเตือนสติสังคม***

อีกกรณีที่เกี่ยวกับ ม.112 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือความเห็นของ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ "บทเรียน 30 ปี เหตุการณ์พฤษภา 2535" และมีตอนหนึ่งพูดเกี่ยวกับการที่รัฐบังคับใช้ ม.112 กับคนรุ่นใหม่ และเห็นว่ามีปัญหาต้องแก้ไข

แน่นอนว่าความเห็นของอดีตนายกรัฐมนตรีมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และคนที่ไม่เห็นด้วยก็อาจจะมีทั้งฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยฝ่ายที่มีความคิดก้าวหน้าอาจจะบอกว่า ความเห็นแบบนี้เบาเกินไป เพราะ ม.112 ไม่ได้มีปัญหาแค่ตัวบท จะแก้ไขเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ อาจต้องยกเลิกไปเลย หรืออาจเห็นว่าพูดน้อยเกินไป เพราะไม่ได้พูดประเด็นปัญหาใจกลางอย่างเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่เห็นด้วย อาจจะเห็นว่า อดีตนายกรัฐมนตรีพูดแบบนี้ได้อย่างไร เป็นผู้ใหญ่เสียเปล่า ให้ท้ายเด็กมาแก้ ม.112

แต่ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม นี่เป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะคุณอานันท์เป็นผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเมือง เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และเป็น "รอยัลลิสต์" อย่างชัดเจน ดังนั้น ถ้าวันใดก็ตามเริ่มมีความเห็นของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ออกมาพูดลักษณะนี้ ก็นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี โดยด้านหนึ่งก็เป็นการเตือนสติฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกัน เตือนสติผู้มีอำนาจด้วยกันว่า ทำแบบนี้ไม่ถูก ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือ เพื่อหาวิธีว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ระหว่างความคิดของสองรุ่นที่ไม่เหมือนกัน

สำหรับเนื้อหาในการให้สัมภาษณ์ของคุณอานันท์ แน่นอนว่ามีหลายส่วนที่ไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไหร่มีคนฝ่ายรอยัลลิสต์ ผู้อาวุโส ออกมาพูดถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ ม.112 เกี่ยวกับความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่กับผู้มีอำนาจปัจจุบัน อย่างน้อยก็เป็นการเริ่ม "เปิดประตู" สู่การแก้ปัญหา ซึ่งโดยรายละเอียดแล้วสามารถถกเถียงกันได้ ต่อไป

อยากให้ฝ่ายรอยัลลิสต์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีอยู่มากมายที่เห็นประเด็นปัญหาการใช้ "ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112" ออกมาพูดกันให้มากขึ้น

เพราะเชื่อว่าถ้ามีเสียงเหล่านี้ออกมา สังคมจะได้พิจารณาร่วมกันว่า แม้แต่คนที่เป็นรอยัลลิสต์ แม้แต่คนที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ยังเห็นปัญหาของการใช้ ม.112 ช่วยออกมาเตือนสติกันและกัน ช่วยออกมาเตือนสติสังคมกันให้มากขึ้นว่า....

การใช้มาตรา 112 แบบที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ไม่ได้เกิดประโยชน์กับใครเลย!

#เอาปากกามาวง #ยกเลิก112


ที่มา : https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/575934390559290