“รองโฆษกรัฐบาล” ชี้ ดัชนีความเชื่อมั่นจชต.ขยับดี เร่ง การค้าชายแดนเปิดด่านเพิ่ม คู่เดินหน้าแผนบูรณาการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ภาคใต้ ว่า ความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ประมาณ 34,000 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 51.87 ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 50.90 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมที่มีมากขึ้น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกฯยินดีกับผลการสำรวจดังกล่าว เนื่องจากผลการดำเนินนโยบายรัฐ ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)และ สำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เพื่อดำเนินงานตามแผนบูรณาการที่หนุนเสริมใน 2 มิติ คือ 1.การพัฒนาตามศักยภาพพื้นที่ ในระดับฐานราก 290 ตำบล 

มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความยากจนตามฐานข้อมูล คือ ด้านสุขภาพ ,ความเป็นอยู่ ,การศึกษา,รายได้ และด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน 2.การพัฒนาเสริมสร้างความมั่นคง มุ่งเน้น 3 ด้าน คือ ด้านการสร้างความเข้มแข็งสังคมพหุวัฒนธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามหลักความเชื่อ ศาสนา การประกอบศาสนกิจ การจัดงานประเพณีวัฒนธรรมต่าง และสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียม ด้านการเยียวยา มุ่งเน้นเยียวยาทั้งร่างกาย จิตใจ และความสูญเสียทางทรัพย์สินต่อผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และด้านการเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ในการสร้างความร่วมมืออันดีจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นอกจากนั้น ได้วางแนวทางฟื้นฟูครอบคลุมด้านเกษตรกรรม การค้า ชายแดน รวมถึงอุตสาหกรรมในบางพื้นที่และการท่องเที่ยว และได้กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก ผลไม้จังหวัดชายแดนใต้ เพราะสินค้าผลไม้ถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ และจะเร่งแก้ปัญหาการค้าชายแดนที่ด่านโกลก ประสานเปิดด่านเพิ่ม เช่น ด่านบูเก๊ะตา ด่านตากใบ และขณะนี้ได้ทำหนังสือไปถึงมาเลเซีย และทูตพาณิชย์ดำเนินการอยู่ เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีข่าวดีต่อการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย รวมทั้งความสำเร็จในการเปิดประเทศจะช่วยเพิ่มการค้าและกิจกรรมที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่จะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง